‘ธปท.’ จับมือ ‘5 พันธมิตร’ ยกระดับปราบปราม ‘บัญชีม้านิติบุคคล’ หลัง ‘มิจฉาชีพ’ หันไปว่าจ้าง ‘นายหน้า’ จดทะเบียนจัดตั้ง ‘นิติบุคคล’ ก่อน 'เปิดบัญชีม้า' รับโอนเงิน ‘เหยื่อ’ ด้าน ตำรวจ ‘ปอศ.’ เผยค่าจ้างจดทะเบียนตั้ง ‘บริษัทม้า' 1-1.5 แสนบาท
...........................................
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงแนวทางความร่วมมือในการจัดการบัญชีม้านิติบุคคล
นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆได้ร่วมกันการปราบปรามบัญชีม้า แต่ปัจจุบันพบว่ารูปแบบการเปิดบัญชีม้า เปลี่ยนจากการเปิดบัญชีม้าบุคคลเป็นการเปิดบัญชีม้านิติบุคคลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำบัญชีนิติบุคคลไปใช้หลอกลวงประชาชน ธปท. จึงกำหนดให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มข้นในการจัดการกับบัญชีนิติบุคคล
โดยกรณีนิติบุคคลที่มีรายชื่อเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานของสำนักงาน ปปง. นั้น สถาบันการเงินจะดำเนินการเข้มข้นเทียบเท่ากรณีบุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายกระทำผิด ส่วนกรณีที่นิติบุคคลมีผู้เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลสำนักงาน ปปง. นั้น หากสถาบันการเงินประเมินแล้วว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นบัญชีม้า สถาบันการเงินจะระงับการใช้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ให้เปิดบัญชีใหม่
“ตอนนี้จำนวนบัญชีม้าดำที่เป็นนิติบุคคล หรือบัญชีม้านิติบุคคลมีประมาณหนึ่ง แต่สิ่งที่ทั้ง 6 องค์กร และพันธมิตรอื่นๆ ต้องการสื่อสารกับสาธารณชนในวันนี้ คือ มันแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เราจึงต้องทำล่วงหน้า เพราะจากการที่เราไปกวาดล้างในเชิงบุคคล ทำให้บัญชีลักษณะเดิมๆใช้ยากขึ้น และน่าจะมีการกระจายตัวไปยังบัญชีที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลมากขึ้น การทำเรื่องนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อม และทำ เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นแพร่หลายในอนาคต”นางรุ่ง กล่าว
ด้าน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ มีผลบังคับใช้แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปราบปรามกลุ่มบัญชีม้า มีการออกมาตรการระงับการทำธุรกรรมต้องสงสัย ทำให้ผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้าทำได้ไม่ง่ายนัก และผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้ามีโทษทางอาญา
อย่างไรก็ดี ในระยะหลังพบว่า มิจฉาชีพมีแนวโน้มที่จะนำบัญชีนิติบุคคลมาก่อเหตุหลอกลวงผู้เสียหายมากขึ้น บช.สอท. จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธปท. สำนักงาน ปปง. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แลกเปลี่ยนข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยง และกำหนดมาตรการแก้ปัญหาบัญชีม้านิติบุคคล รวมทั้งประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อขยายผลการสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้
“เรามีมาตรการที่เรียกว่าการขึ้นทะเบียนบุคคลที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า หรือ HR-03 พอเรามีมาตรการนี้ ทำให้มิจฉาชีพหาบัญชีม้าได้ยาก และธนาคารเองก็เข้มงวดอีก ถ้าจะโอนเงิน 5 หมื่นบาท ต้องทำ KYC (ยืนยันตัวตน) ต้องสแกนใบหน้า พวกมิจฉาชีพ จึงใช้ช่องทางเปิดบัญชีม้าผ่านบริษัทนิติบุคคล เพื่อหลบเลี่ยงการถูกขึ้นทะเบียน HR-03
ดังนั้น ภาครัฐ โดยมีสำนักงาน ป.ป.ง. เป็นหน่วยงานหลัก จะทำการขึ้นทะเบียน HR-03 กับบริษัทนิติบุคคลม้า ทั้งนี้ การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ AOC บช.สอท. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมถึงหน่วยงานต่างๆด้วย” พล.ต.ท.ไตรรงค์กล่าว
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุด้วยว่า จากการเก็บสถิติอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ พบว่านับตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนคดีกว่า 8 แสนคดี ความเสียหายอยู่ที่ 7-8 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ย 1 หมื่นล้านบาท/ปี
ขณะที่ พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า จากการถอดแผนประทุษกรรมขบวนการรับจ้างเปิดบัญชีม้านิติบุคคล หรือ ‘บริษัทม้า’ พบว่า ผู้ว่าจ้างหรือนายทุนที่ต้องการจัดหาบัญชีม้านิติบุคคล จะติดต่อกับนายหน้า ซึ่งเดิมเป็นบุคคลธรรมดา แต่ปัจจุบันได้อัพเกรดเป็นสำนักงานทนายความหรือบริษัทรับจัดทำบัญชี
จากนั้นสำนักงานทนายความหรือบริษัทรับจัดทำบัญชีเหล่านี้ จะไปว่าจ้างหาตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท และกรรมการ เพื่อยื่นขอจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แล้วนำข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทฯไปขอเปิดบัญชีกับธนาคาร และนำบัญชีม้านิติบุคคลมาใช้ โดยกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่การจดทะเบียนตั้งบริษัท การหาบุคคลมาเป็นผู้ก่อการ กรรมการ และเปิดบัญชี รวมถึงการโอนเงินไปยังคริปโทฯ จะมีค่าจ้างอยู่ที่ 1-1.5 แสนบาท
“เมื่อเราถอดแผนประทุษกรรมทั้งหมด พบว่า บัญชีนิติบุคคลที่มีแนวโน้มเป็นบัญชีม้าจะมีลักษณะ 4-5 อย่าง เช่น กรรมการส่วนใหญ่เป็นบุคคลซ้ำกัน เมื่อลงลึกไปที่ความสามารถของบุคคล ส่วนใหญ่พบว่ากรรมการ และผู้ก่อการจัดตั้งบริษัท ไม่มีความสามารถในการประกอบกิจการ บางรายมีข้อมูลอาชญากรรม บางรายมีสถานะเป็นเพียงลูกจ้างบริษัท ,การจัดตั้งนิติบุคคลไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่นายทะเบียนกำหนดไว้ เช่น ไม่มีการประชุมเพื่อก่อการจัดตั้งบริษัท
ที่ตั้งบุคคลที่เป็นบัญชีม้าจะมีลักษณะซ้ำๆกัน อย่างในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เราพบว่ามีบริษัทที่รับทำบัญชีจัดนิติบุคคลกว่า 100 บริษัท โดยใช้บุคคลชุดเดียวกัน และสถานที่ตั้งบริษัทชุดเดียวกัน ,ผู้รับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างทำบัญชี จะเป็นผู้รับจ้างหน้าเดิม ,บริษัทที่จัดตั้งมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท และพบว่านิติบุคคลที่เป็นบัญชีม้า มีระยะเวลาการจัดตั้งนิติบุคคลมาแล้วไม่เกิน 1 ปี” พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ กล่าว
พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ กล่าวว่า ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ปอศ. เข้าตรวจค้นบริษัทรับทำบัญชีม้านิติบุคคลรวม 23 จุด ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และมีบริษัทที่เกี่ยวข้อง 190 บริษัท บางส่วนได้ดำเนินคดีไปแล้ว บางส่วนอยู่ระหว่างนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อแยกแยะว่าเป็นนิติบุคคลบัญชีม้าหรือไม่ โดยผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้าธรรดา มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท ส่วนผู้รวบรวมหรือผู้จัดหาบัญชีม้า มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ระบุว่า สำนักงาน ปปง. มีบทบาทหลักในการประกาศรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานซึ่งรวมถึงความผิดกรณีบัญชีม้า ทั้งกรณีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และให้หน่วยงานต่างๆ นำข้อมูลไปใช้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดแนวทางจัดการกับนิติบุคคลเสี่ยงให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการบัญชีม้าได้อย่างเหมาะสม
นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ศูนย์ AOC มีหน้าที่หลักในการให้บริการสายด่วนหมายเลข 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง แบบ One Stop Service ให้กับผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ โดยล่าสุดพบว่าบัญชีม้าบุคคลธรรมดามีจำนวนลดลง แต่มีการนำบัญชีนิติบุคคลมาใช้หลอกลวงประชาชนมากขึ้น จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยใช้ศูนย์ AOC เป็นศูนย์รวม
นอกจากนี้ ในระยะต่อไปจะนำเทคโนโลยีมาใช้ประมวลผลอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อปรับปรุงการทำงานตามนโยบายให้สอดคล้องและรวดเร็ว สร้างความปลอดภัยยิ่งขึ้นให้กับประชาชน
นายเอกพงษ์ ระบุว่า จากผลการดำเนินการในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า มีบัญชีนิติบุคคลที่เป็นบัญชีม้า (ไม่รวม e-commerce) จำนวน 1,105 บัญชี มูลค่าความเสียหาย 1,362 ล้านบาท ส่วนบัญชีม้าระดับบุคคลมีจำนวน 7 แสนบัญชี และมีรายชื่อบุคคลที่เปิดบัญชีม้า 7 หมื่นราย โดยตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.2566-7 มี.ค.2568 มีการระงับบัญชีต้องสงสัย (ระงับ 7 วัน) จำนวน 558,306 รายการ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯได้เชื่อมข้อมูลกับศูนย์ AOC และกำหนดมาตรการเข้มในการจัดการบัญชีม้านิติบุคคล ดังนี้
(1) ออกคำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ที่ 3/2567 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดของบุคคล โดยเมื่อมีบุคคลตามรายชื่อในบัญชี HR-03 ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานของ ปปง. มาขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและแจ้งชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการบริษัท จะให้บุคคลดังกล่าวมาแสดงตัวยืนยันตัวตนต่อหน้านายทะเบียนก่อนรับจดทะเบียน และส่งชื่อนิติบุคคลดังกล่าวให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) เพื่อการติดตามขยายผลต่อไป
(2) ทุกครั้งที่ AOC แจ้งการอัปเดตบัญชีรายชื่อ HR-03 กรมจะตรวจสอบ และหากพบนิติบุคคลที่มีกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ในบัญชี HR-03 จะแจ้งกลับ AOC เพื่อขยายผลต่อไป
อ่านประกอบ :
ธปท.ยกระดับจัดการ‘บัญชีม้า’ ปิดกั้นโอนเงินเข้ากลุ่ม‘ดำ-เทาเข้ม’เริ่ม 31 ม.ค.นี้
'แบงก์พาณิชย์'แลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามธนาคาร ระงับบัญชีม้าระดับ'บุคคล' 9 เดือน 1.5 หมื่นราย
‘ธปท.’ยกเครื่องอายัด‘บัญชีม้า’เป็นระดับ‘บุคคล’-เพิ่มทางเลือก‘ล็อควงเงิน’ห้ามทำธุรกรรมฯ
‘ธปท.’ออกมาตรการจัดการภัยการเงิน-โอนเงินผ่าน‘โมบายแบงก์กิ้ง’เกิน 5 หมื่น ต้องสแกนใบหน้า