เปิดรายการใช้จ่าย ‘งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ’ 9.88 หมื่นล้าน อัดงบ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ 3.3 หมื่นล้าน พ่วงลด ‘ค่าครองชีพ’ 8.9 พันล้าน จัดสรรงบเยียวยา ‘ภัยพิบัติ’ 2.8 หมื่นล้าน
...........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงบประมาณเผยแพร่รายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ และผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ณ สิ้นไตรมาสที่ 4) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566-30 ก.ย.2567 ซึ่งรายงานฯดังกล่าว สำนักงบประมาณได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในรายงานฯฉบับนี้ ได้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 99,500 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.2567 มีการจัดสรรงบดังกล่าวให้หน่วยรับงบประมาณทั้งสิ้น 98,895.05 ล้านบาท โดยรายการการดําเนินงานสำคัญ 4 รายการหลัก ดังนี้
@เท 634 ล้าน จัดซื้อระบบ‘อุโมงค์เอกซเรย์รถแบบเคลื่อนที่’
1.ค่าใช้จ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งสนับสนุนภารกิจส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จำนวน 2,671.49 ล้านบาท ประกอบด้วย 6 รายการ ได้แก่
(1) ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานอื่นๆ) จำนวน 442.73 ล้านบาท
(2) โครงการจัดซื้อระบบอุโมงค์เอกซเรย์รถแบบเคลื่อนที่ พร้อมยานพาหนะบรรทุกสำหรับเคลื่อนย้าย (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) จำนวน 634 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการลําเลียงยาเสพติดและรองรับในการปฏิบัติงานการตรวจสอบยานพาหนะต้องสงสัย ลักลอบลําเลียงสิ่งผิดกฎหมาย เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจค้นด้วยระบบช่วยวิเคราะห์ข้อมูลภาพอัตโนมัติ และประหยัดเวลาในการค้นหา
(3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) จำนวน 38.66 ล้านบาท โดยมีศูนย์สายด่วน 1411 แบบ One Stop Service ให้บริการแก่ประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
(4) โครงการยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ และป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล (สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง) จำนวน 70 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบที่สามารถรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อภารกิจสำคัญของกระทรวงการคลัง และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการบริหารจัดการของรัฐ (โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง)
(5) โครงการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลและการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยไซเบอร์ขั้นสูง (กรมศุลกากร)จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อช่วยปกป้องการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลอันเป็นความลับ เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบสารสนเทศและระบบงานต่างๆ (โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง))
(6) ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การต้อนรับผู้นําของรัฐบาลต่างประเทศที่มาเยือนไทย และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวเพื่อเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีของนายกรัฐมนตรีและคณะ ประจำปี พ.ศ. 2567 (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) จำนวน 186.54 ล้านบาท
@ค่าใช้จ่าย‘บริหารจัดการน้ำ-แก้หมอกควัน’ 1.94 หมื่นล้าน
2.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง จัดสรรงบประมาณจำนวน 28,273.64 ล้านบาท ได้แก่
-ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติต่างๆ จำนวน 8,853.48 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 รายการ ได้แก่
(1) ค่าใช้จ่ายโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยปี พ.ศ. 2567 (กรมชลประทาน) จำนวน 827.77 ล้านบาท
(2) ค่าใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ (กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท) จำนวน 2,880.69 ล้านบาท
(3) ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรมบัญชีกลาง) จำนวน 2,099.5 ล้านบาท
(4) เงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) จำนวน 3,045.52 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่นๆ จำนวน 19,420.16 ล้านบาท ประกอบด้วย 8 รายการ ได้แก่
(1) ค่าใช้จ่ายโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและหน่วยงานต่างๆ) จำนวน 7,089.54 ล้านบาท
(2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน และการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆ) จำนวน 8,391.82 ล้านบาท
(3) ค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ (กรมชลประทาน) จำนวน 2,220.29 ล้านบาท
(4) ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (กองบัญชาการกองทัพไทย) จำนวน 1,034.35 ล้านบาท
(5) ค่าใช้จ่ายเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) จำนวน 67.26 ล้านบาท
(6) ค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ (กรมชลประทาน) จำนวน 99 ล้านบาท
(7) ค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (กรมชลประทาน) จำนวน 82 ล้านบาท
(8) ค่าใช้จ่ายดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) จำนวน 311.01 ล้านบาท
@อุดหนุนเลี้ยงเด็ก 1.2 พันล.-ค่ารักษาพยาบาล‘ขรก.’ 3 พันล้าน
3.ค่าใช้จ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจําเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว จำนวน 11,439.47 ล้านบาท ประกอบด้วย 9 รายการ ได้แก่
(1) เงินอุดหนุนให้แก่ผู้มีสิทธิให้ได้รับเงินอย่างต่อเนื่อง (กรมกิจการเด็กและเยาวชน) จำนวน 1,214.22 ล้านบาท โดนเป็นเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้ได้รับสิทธิต่อเนื่อง ในเดือน ก.ย.2567 จำนวน 2.27 ล้านราย
(2) เงินอุดหนุนค่าจัดการเรียนการสอน โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) จำนวน 733.08 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการค่าจัดการเรียนการสอนในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2567
(3) เงินอุดหนุนสนับสนุนการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี (กรมกิจการผู้สูงอายุ) จำนวน 416.49 ล้านบาท เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระทางการเงินในการจัดงานศพ
(4) ค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง เพื่อปฏิบัติงานตั้งแต่เปิดภาค การศึกษาในเดือน พ.ค.-ก.ย. 2567 ระยะเวลา 5 เดือน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จำนวน 586.02 ล้านบาท โดยจ้างผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 13,326 อัตรา เพื่อทำหน้าที่ดูแลระบบสาธารณูปโภค ทรัพย์สินของทางราชการ และดูแลสภาพแวดล้อม เพื่ออํานวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร
(5) ค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากช้างป่าในพื้นที่ชุมชนรอบพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากช้างป่าในระยะเร่งด่วน (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 90.84 ล้านบาท โดยการจ้างเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่า และสนับสนุนอุปกรณ์ประจำชุดเฝ้าระวังฯ อีกทั้งจัดฝึกอบรม และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์
(6) ค่าใช้จ่ายประชารัฐสวัสดิการแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ พ.ศ.2565 (สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง) จำนวน 3,500 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค ค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ และการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
(7) ค่าเงินเดือนและสวัสดิการของบุคลากรที่บรรจุใหม่ในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีโรงพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพตำบล ปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2567 (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) จำนวน 252.03ล้านบาท
(8) ชําระหนี้ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้สอยและวัสดุค้างชําระ และค่าใช้จ่ายสำหรับการควบคุม ดูแลผู้ต้องขัง (กรมราชทัณฑ์) จำนวน 1,331.61 ล้านบาท
(9) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ (กรมบัญชีกลาง) จำนวน 3,048.5 ล้านบาท บรรเทาภาระเงินคงคลังที่มีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้
@อุ้มค่าไฟฟ้า 2.9 พันล.-เทงบ’30 บาท รักษาได้ทุกที่’ 6 พันล้าน
4.ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจําเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ และต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว จำนวน 56,510.44 ล้านบาท ได้แก่
4.1 ค่าใช้จ่ายทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 43,065.66 ล้านบาท ประกอบด้วย
-ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน จำนวน 8,987.49 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 รายการ ได้แก่
(1) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน สำหรับค่าไฟฟ้า ประจำเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 จำนวน 1,527.82 ล้านบาท
(2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 จำนวน 1,380.22 ล้านบาท
(3) โครงการบริหารจัดการการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” ประจำปีงบประมาณ 2567 (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จำนวน 6,004.7 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนด้านการเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 544.96 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 รายการ ได้แก่
(1) ค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปีสกินในโคกระบือ (กรมปศุสัตว์) จำนวน 429.76 ล้านบาท
(2) ค่าใช้จ่ายดำเนินการโครงการสํารวจและจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่สำหรับการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน (ชัยนาทโมเดล) (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)) จำนวน 10.38 ล้านบาท
(3) ค่าใช้จ่ายในงานพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในโครงการหนองวัวซอโมเดล (กองทัพบก) จำนวน 98.82 ล้านบาท
(4) ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า สำหรับเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตามแผนการดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคฯ (กรมปศุสัตว์) จำนวน 5.99 ล้านบาท
@อุดหนุนรถอีวี 7.1 พันล้าน-ทำ‘Payment Platform’ 95 ล.
-ค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านต่างๆ จำนวน 33,533.19 ล้านบาท ประกอบด้วย 17 รายการ ได้แก่
(1) ค่าใช้จ่ายโครงการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) จำนวน 65.94 ล้านบาท
(2) ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยชําระเงินคืนให้กับบริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยในรูปแบบมาตรการคืนเงิน (Cash Rebate) (กรมการท่องเที่ยว) จำนวน 344.65 ล้านบาท
(3) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง) จำนวน 2,059.54 ล้านบาท
(4) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านคนพิการ (สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง) จำนวน 21,492.86 ล้านบาท
(5) ค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (กรมสรรพสามิต) จำนวน 7,125.63 ล้านบาท
(6) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการพัฒนาและให้บริการระบบการสื่อสารแบบรวมศูนย์ (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)) จำนวน 79.2 ล้านบาท
(7) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการแพลตฟอร์มการชําระเงิน (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน))จำนวน 95 ล้านบาท โดยพัฒนาแพลตฟอร์มการชําระเงิน (Payment Platform) ที่รองรับผู้ใช้งาน จำนวน 50 ล้านราย และสามารถเชื่อมโยงบริการมายังแพลตฟอร์มชําระเงินกลางของประเทศได้
(8) ค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วน (Quick Win) (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) จำนวน 432.98 ล้านบาท
(9) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหา การขาดแคลนแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) จำนวน 247 ล้านบาท
@ทุ่มงบโครงการ ‘Soft Power’ 8 รายการ 1,020 ล้าน
(10) ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการ Upskills บุคลากรเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์เทศกาลที่เชิดชู Soft Power ไทย ในสาขาเฟสติวัล (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)) จำนวน 13.28 ล้านบาท
(11) ค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการ Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) จำนวน 137.63 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างชาติ และนำส่งประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่า(Meaningful Travel) ผ่านวัฒนธรรมความเป็นไทยหรือ Soft Power Festival ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
(12) ค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567 (การกีฬาแห่งประเทศไทย) จำนวน 265.08 ล้านบาท การดําเนินงานภายใต้โครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567 จำนวน 37 รายการ
(13) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการภายใต้อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) จำนวน 85.34 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทักษะซอฟต์พาวเวอร์และการผลิตคอร์สเรียนออนไลน์ หลักสูตรกลาง และกิจกรรมอบรมเกี่ยวกับการสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ในการเดินทางเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ
(14) ค่าใช้จ่ายสำหรับดําเนินงานในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยสาขาอาหาร จำนวน 81.95 ล้านบาท
(15) ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการสนับสนุนการสร้างสรรค์เทศกาลที่เชิดชู Soft Power ไทย (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)) จำนวน 4.45 ล้านบาท
(16) ค่าใช้จ่ายสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) จำนวน 63.63 ล้านบาท โดยจัดกิจกรรมสื่อสารเสน่ห์ไทย เชิงประสบการณ์แบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นให้เกิดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย ในงานเทศกาลไทย (Thai Festival ) และ Business Networking ในต่างประเทศ
(17) ค่าใช้จ่ายในการจัดการประชุม นิทรรศการนานาชาติต่างๆ จำนวน 369.65 ล้านบาท โดยดำเนินโครงการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติของหน่วยงานต่างๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการจัดแสดงและจําหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP โครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดงาน SPLASH และการประชุมนานาชาติซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power Forum) เป็นต้น
@เยียวยาแรงงานกลับจาก‘อิสราเอล’-ชดเชยค่า K ‘ถ.พระราม 2’
4.2 ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 13,444.78 ล้านบาท ประกอบด้วย 14 รายการ ได้แก่
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมไว้จัดสรรตามที่รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย) จำนวน 877.03 ล้านบาท
(2) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามข้อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ตามมติครม. สัญจร (จังหวัดและกลุ่มจังหวัด) จำนวน 1,175.2 ล้านบาท
(3) โครงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ตกเป็นผู้เสียหายและจําเลยในคดีอาญา ให้เข้าถึงความยุติธรรม (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) จำนวน 95 ล้านบาท ,ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 180.64 ล้านบาท
(4) ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล (สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) จำนวน 707.99 ล้านบาท
(5) เงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐ อิสราเอล (สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) จำนวน 99.32 ล้านบาท
(7) ค่าใช้จ่ายโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล (สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน) จำนวน 469.9 ล้านบาท
(8) ค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลทหาร เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายรัฐบาล (กองทัพอากาศ) จำนวน 250 ล้านบาท
(9) โครงการยกระดับและพัฒนาระบบบริการสุขภาพหน่วยงาน ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) จำนวน 624.8 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างรากฐานระบบสาธารณสุขรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว
(10) ค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)จำนวน 3,849.29 ล้านบาท
(11) เงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ในรายการที่ค้างชําระในโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ของกรมทางหลวง (กรมทางหลวง) จำนวน 600.35 ล้านบาท
(12) เงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) (กรมชลประทาน) จำนวน 334 ล้านบาท
(13) การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้รับจ้างที่ดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 โดยการจ่ายเป็นเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) (กรมทางหลวง) จำนวน 799.9 ล้านบาท
(14) ค่าใช้จ่ายสำหรับการจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยตามมาตรา 9 และเงินชดเชยความเสียหายตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) จำนวน 1,453.11 ล้านบาท