ครม.รับทราบคำสั่ง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ยกคำร้อง ‘สปน.’ อุทธรณ์คดีเรียกค่าเสียหาย ITV ยึดคำชี้ขาดอนุญาโตฯ ‘สปน.-บมจ.ไอทีวี’ ไม่ต้องชำระหนี้ต่อกัน
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติรับทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.54/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.5/2567 ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ผู้ร้อง และบมจ.ไอทีวี ผู้คัดค้าน ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ลงวันที่ 3 ก.ค.2538
สำหรับคดีดังกล่าว บมจ.ไอทีวี กล่าวอ้างว่า รัฐได้ให้สัมปทานกับบุคคลอื่น เป็นเหตุให้ได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของ บมจ.ไอทีวี อย่างรุนแรง จึงขอให้ สปน. หามาตรการชดเชยความเสียหายตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ อย่างไรก็ดี สปน.ปฏิเสธที่จะชดเชยความเสียหาย บมจ.ไอทีวี จึงยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเมื่อปี 2557 ว่า สปน. ผิดสัญญาและให้ชดเชยความเสียหายให้แก่ บมจ.ไอทีวี
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2559 สปน. ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการอีกครั้งหนึ่ง โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ บมจ.ไอทีวี ผู้เรียกร้อง และ สปน. ผู้คัดค้าน ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้แก่กันเป็นเงินจำนวน 2,890.35 ล้านบาท เท่ากัน สามารถนำมาหักกลบลบกันแล้วต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกัน
แต่ สปน. เห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมีเหตุอันควรสงสัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2563 และต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกคำร้องและให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด สปน.จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสูงสูงสุดเมื่อปี 2564
กระทั่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2567 ให้ยกอุทธรณ์ของ สปน. (ผู้ร้อง) เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ศาลปกครองสูงสุดจึงต้องมีคำสั่งยกอุทธรณ์ตามข้อ 108 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ทั้งนี้ คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด ตามมาตรา 73 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
“การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกอุทธรณ์ และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สปน. จึงต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยโดยสรุปได้ว่า “บมจ.ไอทีวี ผู้เรียกร้อง และ สปน. ผู้คัดค้าน ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้แก่กันเป็นเงินจำนวน 2,890.35 ล้านบาท เท่ากันเมื่อนำมาหักกลบหนี้กันแล้ว ต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกัน จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า บมจ. ไอทีวี และ สปน. ผู้คัดค้าน ต่างไม่มีหนี้ที่ต้องชำระแก่กันและกัน” นั้น
จึงอาจมีประเด็นที่ สปน.ได้รับความเสียหายจากผลคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือไม่ อย่างไร ดังนั้น เพื่อให้ประเด็นดังกล่าวข้างต้นได้รับการพิจารณาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ มิให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ สปน. จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาคำสั่งศาลปกครองสูงสุดและแนวทางการดำเนินการของ สปน. ต่อไป” สปน.รายงาน ครม.
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การจดทะเบียนเลิกบริษัทย่อย โดยมีเนื้อหาว่า บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ขอแจ้งให้ทราบว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ไอทีวี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ร้อยละ 52.92 ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567
ทั้งนี้ การเลิกบริษัทย่อยดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด โดยบริษัทจะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายและชำระบัญชีของไอทีวีต่อไป
อ่านประกอบ :
‘อินทัช โฮลดิ้งส์’แจ้งจดทะเบียนเลิกบริษัท‘ไอทีวี’แล้ว-ยันไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน
‘ศาล ปค.สูงสุด’ นัดตัดสินคดี‘สปน.’ฟ้อง‘บมจ.ไอทีวี’ ปมเรียกชำระหนี้ หลังยกเลิกสัญญาฯ
ย้อนรอยคดีพิพาท‘ITV-สปน.’ ก่อน‘ก้าวไกล’อ้าง‘ขบวนการปลุกผี’หุ้นสื่อ สกัด‘พิธา’นั่งนายกฯ?