‘ศาลปกครองสูงสุด’ นัดตัดสินคดี ‘สปน.’ ฟ้อง ‘บมจ.ไอทีวี’ ปมเรียกชำระหนี้สิน หลังยกเลิกสัญญาร่วมงานฯ 25 ม.ค.นี้
..............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 620/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 1948/2563 ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. (ผู้ร้อง) กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ผู้คัดค้าน) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
สำหรับคดีนี้ผู้ร้อง (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ร้องว่า คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 1/2559 ลงวันที่ 14 ม.ค.2559 กรณีวินิจฉัยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้าน ต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กัน ตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ลงวันที่ 3 ก.ค.2538 ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ไม่เป็นไปตามข้อสัญญา และเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ เป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้าน มีข้อโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน อันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ จึงเป็นการดำเนินการเพื่อระงับข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ ซึ่งระบุไว้ในสัญญา
แม้ข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 640/2550 ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เพื่อให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการแล้ว
และผู้คัดค้านได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนขั้นต่ำพร้อมดอกเบี้ย และค่าปรับ และไม่มีสิทธิเรียกร้องเอามูลค่าทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านส่งมอบให้แก่ผู้ร้องน้อยกว่าที่กำหนด ซึ่งเป็นคู่กรณีคนละฝ่าย ไม่ใช่คู่กรณีฝ่ายเดียวกันยื่นคำเสนอข้อพิพาทหรือข้อเรียกร้องในเรื่องเดียวกัน
และการเสนอข้อพิพาททั้งสองเรื่องดังกล่าวข้างต้น เป็นการเสนอข้อพิพาทต่อองค์กรชี้ขาดคนละองค์กร จึงไม่เข้าลักษณะเป็นของการเสนอข้อพิพาทซ้อน และสัญญาอนุญาโตตุลาการตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาท คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
ส่วนกรณีที่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 ซึ่งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเดียวกันกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 และยังมิได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ นั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้คัดค้านได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ต่อไป ข้อพิพาทตามคำเสนอข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจยุติหรือระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ
ต่อมา ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการหมายเลขดำที่ 46/2550 ว่า ผู้ร้อง (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ผิดสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยบอกเลิกสัญญาขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาเข้าร่วมงาน
ผู้คัดค้านจึงยื่นคำเสนอข้อพิพาท และมูลพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง เกิดจากที่ผู้ร้องบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยไม่มีสิทธิหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเสนอข้อพิพาทคนละเรื่องกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 คำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 จึงไม่เป็นคำเสนอข้อพิพาทซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550
คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 หมายเลขแดงที่ 1/2559 จึงเป็นคำชี้ขาดที่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
ผู้ร้อง จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
อ่านประกอบ :
ย้อนรอยคดีพิพาท‘ITV-สปน.’ ก่อน‘ก้าวไกล’อ้าง‘ขบวนการปลุกผี’หุ้นสื่อ สกัด‘พิธา’นั่งนายกฯ?