ศาลอาญาคดีทุจริตรับคดีไว้ไต่สวน กรณี 'วีระ' ยื่นฟ้อง 'นิวัติไชย-พวก 12 ราย' กรณี ป.ป.ช.ไม่เผยสำนวนคดีนาฬิกา 'บิ๊กป้อม' นัดตรวจพยานเอกสาร 19 ธ.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ศาลคดีอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำสั่งรับคดีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ยื่นฟ้องนายนิวัติไชย เกษมมงคล ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และพวกรวม 12 คน ในคดี ป.ป.ช.ไม่เผยสำนวนคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไว้ไต่สวนมูลฟ้อง ให้นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 19 ธันวาคม 2567 และนัดไต่สวนนายวีระปากเดียวในวันที่ 22 มกราคม 2568
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ นายวีระ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ให้ดำเนินการกับนายนิวัติไชย เกษมมงคลเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำเลยที่ 1,นายวรวิทย์ สุขบุญ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. จำเลยที่ 2 กับจำเลยรายอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 12 คน เนื่องจากทั้ง 12 คนมีส่วนในการปกปิดเอกสารการครอบครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยก่อนหน้านี้ นายวีระ ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยมีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งสามรายการ ตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผย ข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค 333/2562 แก่ผู้ฟ้องคดี ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษา และมีคำสั่งให้ปรับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 2) เป็นเงินขั้นต่ำสุด 5,000 บาท
ทั้งนี้ นับตั้งวันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคําพิพากษา จนถึงปัจจุบันจําเลยทั้งสิบสองปฏิบัติ ไม่ถูกต้องครบถ้วนภายในกําหนดตามคําพิพากษาดังกล่าว
นายวีระ เห็นว่า ว่าจําเลยทั้งสิบสองในฐานะเจ้า พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ต้องผูกพันตามคําพิพากษาของศาล การเพิกเฉย จงใจฝ่าฝืน คําพิพากษาของศาล จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยบังอาจส่งมอบเอกสารให้โจทก์ เป็นเอกสารมีการคาดแถบดําปกปิดข้อความอันเป็นสาระสําคัญใน เอกสารจํานวนหลายหน้า และส่งมอบเอกสารที่ไม่มีข้อความอีกเป็นจํานวนหลายหน้าทําให้ขาด สาระสําคัญของเอกสารไป อีกทั้งจําเลยทั้งสิบสอง ไม่ส่งมอบเอกสารรายการที่ 2 คือ ความเห็นของ พนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคน ที่รับผิดชอบในเรื่องกล่าวหาดังกล่าว ให้แก่โจทก์ ทําให้โจทก์ไม่สามารถเข้าใจข้อความอันเป็นสาระสําคัญในเอกสาร ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงนำมาสู่การยื่นศาลอาญาคดีทุจริตฯ ฟ้องเอาผิดต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: