หลัง 'อิศรา' ตีแผ่รายงาน กสม.สอบปม เอื้อ ทักษิณ ชินวัตร นอนชั้น 14 รพ.ตร. 'ทวี สอดส่อง' รมว.ยุติธรรม รับทราบเรื่องแล้ว วงในเผยมีร้องเรียนทุกหน่วยงานองค์กรอิสระ ล่าสุดยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน หากมีหนังสือส่งมาเป็นทางการ ยธ. จะตั้งคกก.ดึงนักอาชญาวิทยา ผู้ทรงคุณวุฒิ นำข้อเสนอ รวมผลการอภิปราย สส., สว. กมธ.ไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงแก้ไข พร้อมเปิดรับฟังความเห็น ปชช.
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ฉบับเต็ม กรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
- ฉบับเต็ม! เปิดความเห็น 4 ผู้ทรงคุณวุฒิ กรณีเอื้อ 'ทักษิณ' นอนชั้น 14
- ฉบับเต็ม (1) ผลสอบ กสม.คดีเอื้อนอนชั้น 14 รพ.ตร. 'ทักษิณ' ไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลการรักษา
- ฉบับเต็ม (2) ผลสอบ กสม.คดีเอื้อนอนชั้น 14 รพ.ตร. ไม่อาจเชื่อได้ 'ทักษิณ' ป่วยต้องรักษา 181 วัน
ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า กรณีข้อร้องเรียน นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ขณะที่นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับทราบเรื่องแล้ว ปัจจุบันมีการร้องเรียนทุกหน่วยงานองค์กรอิสระ รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย
ส่วนการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรมนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า คงต้องรอหนังสือส่งมาเป็นทางการ ทางกระทรวงยุติธรรมจะมีการตั้งคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วย นักอาชญาวิทยา นักวิชาการ นักกฏหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ นำข้อเสนอของ กมส และ องค์กรอิสระอื่นๆ ตลอดจนผลการศึกษา การอภิปรายของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และคณะกรรมาธิการไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนต่อไป
อนึ่งสำหรับกรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้ว เป็นหนึ่งในข้อร้องเรียนของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ถูกคณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่
โดยผลการตรวจสอบชี้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การที่นายทวี สอดส่อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยขณะที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง อาจขาดคุณสมบัติทั้งในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)