"...สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติและจริยธรรม และการแจ้งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้ต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่อาจนำไปขั้นตอนการสอบสวนในอนาคตได้ พบว่า มีรัฐมนตรีถึง 8 ราย จาก 4 พรรคการเมือง ขณะที่ตัว น.ส.แพทองธาร นายกฯ ถูกร้องเรียนมากสุด 6 เรื่อง..."
นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯ แต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 โดยมี 10 นโยบาย เร่งด่วน-ทำทันที รวมถึงนโยบายระยะกลางและระยะยาว เป็นทางการ
รวมเวลากว่า 8 วันแล้ว ที่ประเทศไทยมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บุตรสาว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ด้านภาพลักษณ์ ครม.ชุดนี้ ด้วยคำแรง ว่า เป็น "ครม.สืบสันดาน" พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้เร่งทำงานแข่งกับเวลาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือ ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสำคัญมากที่สุดในห้วงเวลานี้
ปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติและจริยธรรม ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่กลุ่ม 'นักร้อง' ออกมาเคลื่อนไหวระลอกใหญ่ เข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กำลังถาโถมเข้าใส่ ครม.แพทองธาร 1 อย่างหนักหน่วงและรุนแรงเช่นกัน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติและจริยธรรม และการแจ้งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้ต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่อาจนำไปขั้นตอนการสอบสวนในอนาคตได้ พบว่า มีรัฐมนตรีถึง 8 ราย จาก 4 พรรคการเมือง ขณะที่ตัว น.ส.แพทองธาร นายกฯ ถูกร้องเรียนมากสุด 6 เรื่อง
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และคณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นคำร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ ตรวจสอบคุณสมบัติของน.ส.แพทองธารและร้องเรียนกรณีต่าง ๆ ดังนี้
เรื่องที่ 1 : ยื่นคำร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ตรวจสอบกรณีเป็นกรรมการบริษัท 20 แห่ง ของ น.ส.แพทองธาร ที่ยื่นออกลาจากกรรมการบริษัท ในวันที่ 15 ส.ค.ซึ่งมีผลทันที มีข้อสังเกตว่า น.ส.แพทองธาร ไปยื่นลาออกที่บริษัทที่ตั้งอยู่ใน 4 จังหวัด 14 บริษัทแรกที่ กทม. 2 บริษัทที่ปทุมธานี มีสนามกอล์ฟอัลไพน์ด้วย 1 บริษัทอยู่ที่นครราชสีมา และ 3 บริษัทอยู่ลำพูน โดยยื่นด้วยตัวเองในวันที่ 15 ส.ค.ภายในวันเดียวได้อย่างไร
เรื่องที่ 2 : ยื่นคำร้องขอให้กกต.ตรวจสอบเรื่องจริยธรรม น.ส.แพทองธาร ยินยอม ให้นายทักษิณ ชินวัตร บิดา มาครอบงำตำแหน่งนายกฯ หรือไม่
เรื่องที่ 3 : ยื่นคำร้องขอให้กกต.ตรวจสอบกรณีเสนอชื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ ซึ่งนายภูมิธรรม เคยมีชื่อ ‘สหายใหญ่’ ตามข่าวที่ปรากฏโดยทั่วไป สหายใหญ่ เคยร่วมกระทำการในลักษณะที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่อาจยกเลิกเพิกถอนได้
เรื่องที่ 4 : ยื่นคำร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำการตรวจสอบกรณีชักชวนให้คณะรัฐมนตรี ถ่ายรูปในท่า ‘มินิฮาร์ท’ ขณะกำลังสวมเครื่องแบบชุดขาวถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรี บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีประเด็นที่ควรตรวจสอบว่า มีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หรือไม่
เรื่องที่ 5 : คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นคำร้องต่อกกต. ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอ กกต. เพื่อออกคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และ ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องข้างต้น
เรื่องที่ 6 : คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นคำร้องต่อกกต. ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยผลการตรวจสอบชี้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การที่นายทวี สอดส่อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยขณะที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง อาจขาดคุณสมบัติทั้งในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)
2. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ซึ่ง ป.ป.ช. อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนเงินลงทุนของนายจุลพันธ์ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หรือไม่
3. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน กรณีพ้นตำแหน่งสส.เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ว่ามีที่ดิน ภ.บ.ท. 5 รวม 1 แปลงมูลค่า 300,000 บาท โดยไปแสดงไว้ในรายการที่ 9 ของรายการสิทธิและสัมปทานและยื่นบัญชีทรัพย์สิน ต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง สส. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 ว่ามีที่ดิน ภ.บ.ท. 5 รวม 1 แปลง มูลค่า 3 แสนบาท โดยไปแสดงไว้ในรายการที่ 9 ของรายการสิทธิและสัมปทาน ไว้เช่นเดิม กรณีจึงควรตรวจสอบที่ดิน ภ.บ.ท. 5 แปลงดังกล่าวที่แจ้งไว้ว่า เป็นไปโดยชอบหรือไม่
4. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินว่า แจ้งบัญชีทรัพย์สินโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่
5. นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน โดยป.ป.ช. อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในส่วนเงินลงทุนของนายนภินทร ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่
6. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ ยื่นคำร้องต่อป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เรื่องที่ดินเขากระโดง
7. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นคำร้องต่อกกต. ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยผลการตรวจสอบชี้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การที่นายทวี สอดส่อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567
8. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายเฉลิมชัย มีข้อน่างกังวลเกี่ยวกับกรณีที่ดินน.ส.3 ก.เลขที่ 4933 เนื้อที่ 29-2-40 ไร่ และที่ดิน ภ.บ.ท. 5 120 ไร่ ที่หายไปจากบัญชีทรัพย์สิน
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงรับตำแหน่ง สส.วันที่ 22 มกราคม 2551 นายเฉลิมชัยแจ้งว่ามีที่ดิน 9 แปลง เนื้อที่ 155-0-87ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 4933 ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 29-2-40 ไร่ มูลค่า 1,500,000 บาท และที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขที่ 2233/49 ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 120 ไร่ มูลค่า 3,600,000 บาท ส่วนนางธันยวีร์แจ้งว่ามีที่ดิน 9 แปลง เนื้อที่ 37-2-09 ไร่
ต่อมาในการยื่นบัญชีฯกรณีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน วันที่ 7 มิถุนายน 2553 นายเฉลิมชัยแจ้งว่ามีที่ดิน 8 แปลง เนื้อที่ 5-3-17 ไร่ มูลค่า 14,530,000 บาท ขณะที่นางธันยวีร์แจ้งว่ามีที่ดิน 16 แปลง เนื้อที่ 97-0-18ไร่ มูลค่า 22,000,000 บาท
ที่ดินของนายเฉลิมชัย ที่หายไปคือ ที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 4933 ต.เขาน้อย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 29-2-40 ไร่ มูลค่า 1,500,000 บาท และที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขที่ 2233/49 ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 120 ไร่ มูลค่า 3,600,000 บาท ที่ดินของนางธันยวีร์ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ที่ดินใน อ.ปราณบุรี 6 แปลง อ.สามร้อยยอด 2 แปลง และ อ.หัวหิน 1 แปลง
น่าสังเกตว่าที่ดิน น.ส.3 ก.และที่ดิน ภ.บ.ท.5 รวม 2 แปลงเนื้อที่ 149-2-40 ไร่ รวมมูลค่า 5,100,000 บาท (มูลค่าที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.) ของนายเฉลิมชัย มิได้ปรากฏในรายการทรัพย์สินของบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะของนายเฉลิมชัยที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. วันที่ 7 มิ.ย. 2553 และครั้งต่อๆมาแต่อย่างใด และ ในการยื่นบัญชีฯครั้งล่าสุด ไม่ปรากฏมีที่ดิน ภ.บ.ท.5 รวม 2 แปลงนี้ด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ วันที่ 17 ธ.ค. 2562 นายเฉลิมชัย ชี้แจงกรณีถือครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 ว่า เข้าใจว่าเรื่องนี้น่าจะจบไปแล้ว ทาง ป.ป.ช.ก็เข้าไปตรวจแล้ว สามารถชี้แจงได้
9. พรรคภูมิใจไทย
เรื่องที่ 1: นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ ยื่นคำร้องต่อกกต. ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคภูมิใจไทย ปมรับเงินบริจาค ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น
เรื่องที่ 2 : นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นหลักฐานต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคภูมิใจไทย จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคของ 4 พรรค รวมถึงบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยเข้ามาพูดคุยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ซึ่งเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29 โดยขอให้ กกต.สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92
10. พรรคเพื่อไทย
เรื่องที่ 1: คณะนิติชน-เชิดชูธรรมยื่นคำร้องต่อ กกต. กรณียุบพรรคเพื่อไทย โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ใช้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ คณะกรรมการบริหารพรรค เอื้อประโยชน์ตนเอง
เรื่องที่ 2 : นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล ยื่นหลักฐานต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคของ 4 พรรค รวมถึงบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยเข้ามาพูดคุยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ซึ่งเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29 โดยขอให้ กกต.สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92
11. พรรครวมไทยสร้างชาติ
นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล ยื่นหลักฐานต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรครวมไทยสร้างชาติ จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคของ 4 พรรค รวมถึงบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยเข้ามาพูดคุยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ซึ่งเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29 โดยขอให้ กกต.สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92
12. พรรคชาติไทยพัฒนา
นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล ยื่นหลักฐานต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคชาติไทยพัฒนา จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคของ 4 พรรค รวมถึงบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยเข้ามาพูดคุยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ซึ่งเป็นการกระทำฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21, 28, 29 โดยขอให้ กกต.สั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92
**********
เหล่านี้ คือ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรารวบรวมมาได้ จากข้อมูลจะเห็นว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด เนื่องจากมีเรื่องถูกร้องเรียนจำนวน 6 เรื่อง ส่วนรัฐมนตรีรายอื่นก็มีข้อน่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน
ข้อร้องเรียนเหล่านี้ ในท้ายที่สุด จะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ "คณะรัฐมนตรี แพทองธาร 1" ในอนาคตหรือไม่
ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป