"...ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของนายทักษิณได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต้องปกปิดเป็นความลับ ประกอบกับนายทักษิณได้แสดงเจตนาไว้ในหนังสือ ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ไม่ยินยอมให้สถานพยาบาลเปิดเผยข้อมูล/ส่งข้อมูล หรือสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตน..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมฯ แต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 โดยมี 10 นโยบาย เร่งด่วน-ทำทันที รวมถึงนโยบายระยะกลางและระยะยาว ประเทศไทยมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศเป็นทางการแล้ว ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บุตรสาว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ด้านภาพลักษณ์ ครม.ชุดนี้ ด้วยคำแรง ว่า เป็น "ครม.สืบสันดาน" พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้เร่งทำงานแข่งกับเวลาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือ ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสำคัญมากที่สุดในห้วงเวลานี้
ปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติและจริยธรรม ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ที่กลุ่ม 'นักร้อง' ออกมาเคลื่อนไหวระลอกใหญ่ เข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กำลังถาโถมเข้าใส่ ครม.แพทองธาร 1 อย่างหนักหน่วงและรุนแรงเช่นกัน
หนึ่งในข้อร้องเรียนสำคัญเรื่องหนึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้น กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบิดา ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น
เบื้องต้น มีกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยผลการตรวจสอบชี้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การที่นายทวี สอดส่อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยขณะที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง อาจขาดคุณสมบัติทั้งในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นทางการแล้ว
หลักฐานสำคัญที่ คณะนิติชน-เชิดชูธรรม นำมาใช้ประกอบในการร้องเรียนเรื่องนี้ คือ ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่แถลงโดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เรื่อง นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้นำความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดฉบับเต็ม ในรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ ที่มาเรื่องร้องเรียน
ผู้ร้อง (ไม่เปิดเผยชื่อ) ร้องเรียนทางโทรศัพท์ตามคำร้องที่ 138/2566 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ช่วงกลางคืนต่อเนื่องวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกร้องที่ 1 อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขัง เข้ารับการรักษาพยาบาลที่ โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ถูกร้องที่ 2 และได้รับการรักษาที่ดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น กรณีดังกล่าวอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพิจารณาจากการชี้แจงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน
@ ข้อเท็จจริงจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
1) เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกร้องที่ 1 ชี้แจง ดังนี้
1.1) การรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกราย ผู้ถูกร้องที่ 1 ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (Standard Operating Procedures for Custodial Measures: SOPs) และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่และผู้ต้องขังเข้า-ออกเรือนจำ พ.ศ. 2561 ได้แก่ ตรวจสอบความถูกต้องของบุคคล จัดทำทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจค้นตัว คัดกรองโรค ตรวจสุขภาพ ซักประวัติการเจ็บป่วย จากนั้นจะแยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ไปที่แดนเฝ้าระวังโรคเป็นเวลา 5 วัน หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) จะจำแนกเข้าแดนต่อไป แต่หากพบว่าติดเชื้อจะต้องแยกกักตัวอีก 5 วัน
1.2) ผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ และได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำ โดยมีหลักการว่าให้ส่งผู้ต้องขังไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นลำดับแรก เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน สามารถส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ โดยเรือนจำจะรับตัวผู้ต้องขังที่ป่วยกลับมาเมื่อมีอาการดีขึ้นและแพทย์สั่งจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ส่วนห้องสำหรับพักรักษาตัว เสื้อผ้าที่สวมใส่ และระยะเวลาการรักษา เป็นไปตามที่โรงพยาบาลกำหนด เรือนจำมีหน้าที่จัดกำลังควบคุมผู้ต้องขังเพื่อป้องกันการหลบหนีในอัตราผู้ต้องขัง 1 คน ต่อเจ้าหน้าที่ 2 คน ทั้งนี้ ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563
1.3) ผู้ถูกร้องที่ 1 รับตัวนายทักษิณเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 11.30 น. และเนื่องจากนายทักษิณเป็นผู้ต้องขังรายสำคัญ ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงมีหนังสือประสานขอแพทย์จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เข้ามาตรวจร่างกาย จากการตรวจพบว่า นายทักษิณมีโรคประจำตัวที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดที่ปอด กระดูกสันหลังเสื่อม และโรคหัวใจ โดยแพทย์ให้ตรวจติดตามอาการทุก 3-4 ชั่วโมง และส่งใบคำแนะนำไปยังสถานพยาบาลของผู้ถูกร้องที่ 1
1.4) เวลาประมาณ 22.00 น. พยาบาลเวรรายงานว่า นายทักษิณมีค่าความดันโลหิตสูง มีอาการอ่อนเพลีย หายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ พัศดีเวรจึงให้พยาบาลเวรโทรศัพท์ประสานกับแพทย์เวรของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัว โดยแพทย์เห็นว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวนายทักษิณไปยังผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งมีความพร้อมและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ พัศดีเวรจึงได้อนุมัติให้ส่งตัวนายทักษิณไปรักษากับผู้ถูกร้องที่ 2 โดยแพทย์ของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้รับตัวนายทักษิณไว้รักษาเมื่อเวลาประมาณ 00.20 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่สามารถเปิดเผยเอกสารการตรวจร่างกายก่อนเข้าเรือนจำและผลการตรวจร่างกายของนายทักษิณได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ไม่อาจเปิดเผยได้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 (5)
1.5) ผู้ถูกร้องที่ 1 มีสถิติการส่งตัวผู้ต้องขังไปรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในปี 2563 รวม 201 ราย ปี 2565 รวม 9 ราย และปี 2566 รวม 238 ราย นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ถึงเดือนมกราคม 2567 ส่งตัวผู้ต้องขังไปเป็นผู้ป่วยในที่สถานพยาบาลอื่นอีก 28 ราย ได้แก่ สถาบันโรคทรวงอก 5 ราย โรงพยาบาลตำรวจ 16 ราย สถาบันประสาทวิทยา 2 ราย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 1 ราย โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 1 ราย โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 1 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 1 ราย ทั้งนี้ ช่วงปี 2563-2565 เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรค Covid-19
@ ข้อเท็จจริงจากโรงพยาบาลตำรวจ
2) โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจง ดังนี้
2.1) ผู้ถูกร้องที่ 2 มีหน้าที่รักษา กำหนดแนวทางการรักษา และรายงานอาการของผู้ป่วยตามความเป็นจริง ส่วนการรักษาความปลอดภัยและการเข้าเยี่ยมของญาติผู้ต้องขังเป็นหน้าที่และอำนาจของกรมราชทัณฑ์
2.2) ผู้ถูกร้องที่ 2 รับตัวผู้ป่วยจากกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานีตำรวจต่าง ๆ มารักษาตัวหลายรายต่อปี การกำหนดห้องพักรักษาตัวขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายและความพร้อมของห้องเป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ควบคุมตัวด้วย หากเห็นว่าไม่ถูกต้องเหมาะสม สามารถโต้แย้งได้ รวมถึงการให้ผู้ต้องขังรักษาต่อหรือย้ายออกก็เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ 2 มีห้องสำหรับผู้ต้องขังโดยเฉพาะ 1 ห้อง 4 เตียง ซึ่งมีกรงเหล็กป้องกันการหลบหนี โดยส่วนใหญ่ผู้ต้องขังที่พักห้องดังกล่าวเป็นผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มจะหลบหนี
2.3) โดยปกติหากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว ผู้ถูกร้องที่ 2 จะแจ้งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้ทราบก่อน แต่หากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังไม่พร้อมรับตัวผู้ป่วยรายนั้นกลับไปดูแลก็จะแจ้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 รับตัวผู้ต้องขังไว้รักษาตัวไปก่อน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผ่าตัดและต้องให้เคมีบำบัดซึ่งต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่การเดินทางจากผู้ถูกร้องที่ 2 ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จะสะดวกกว่าจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แพทย์จะให้พักรักษากับผู้ถูกร้องที่ 2 ต่อเนื่องจนกว่าอาการจะดีขึ้น
2.4) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ผู้ถูกร้องที่ 2 ปรับปรุงชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ซึ่งมีทั้งหมด 11 ห้อง และห้องพิเศษทุกห้องที่ยังใช้การได้เพื่อรองรับผู้ป่วยในภาวะกึ่งวิกฤติที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีเครื่องมือครบ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยวิกฤติต้องให้อยู่ในห้องฉุกเฉินเท่านั้น ที่ผ่านมามีผู้ป่วยมารับการรักษาที่ชั้น 14 เป็นระยะ แพทย์ให้กลับบ้านไปแล้วประมาณ 8-9 คน แต่ช่วงหลังเครื่องปรับอากาศบางห้องชำรุด จึงรับผู้ป่วยเฉพาะห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศได้ ประมาณ 5-6 ห้อง ซึ่งรวมถึงห้องของนายทักษิณที่พักรักษานานกว่าบุคคลอื่น
2.5) แพทย์ผู้รับตัวนายทักษิณชี้แจงว่า ช่วงกลางคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ขณะออกไปตรวจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินของผู้ถูกร้องที่ 2 โทรศัพท์มาแจ้งว่า เรือนจำส่งผู้ต้องขังมารับการรักษาด้วยอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ ปริมาณออกซิเจนต่ำ ตนจึงตอบรับให้ส่งตัวมาตรวจได้ และได้รับแจ้งทางโทรศัพท์อีกครั้งว่าขณะนี้ห้องคนไข้เต็มทุกอาคาร ตนจึงให้ส่งไปห้องใด ๆ ที่ยังว่าง เมื่อไปตรวจจึงทราบว่าคนไข้คือนายทักษิณ ซึ่งขณะนั้นสวมหน้ากากออกซิเจนและยังสื่อสารรู้เรื่องแต่ตอบสนองช้า ตนจึงรักษาเบื้องต้นและประเมินอาการเพื่อนำไปปรึกษาแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยห้องที่นายทักษิณรักษาตัวถือเป็นห้องพิเศษระดับปกติ ไม่ใช่ห้องใหญ่หรือมีอัตราค่าห้องที่แพงที่สุด ทั้งนี้ หากกรมราชทัณฑ์เห็นว่าห้องดังกล่าวไม่เหมาะสมก็สามารถแจ้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ย้ายนายทักษิณไปพักรักษาที่ห้องอื่นได้
2.6) ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของนายทักษิณได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต้องปกปิดเป็นความลับ ประกอบกับนายทักษิณได้แสดงเจตนาไว้ในหนังสือ ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ไม่ยินยอมให้สถานพยาบาลเปิดเผยข้อมูล/ส่งข้อมูล หรือสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อีกทั้งรายงานทางการแพทย์เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
2.7) สาเหตุที่นายทักษิณต้องพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคความเสื่อมของกระดูกต้นคอ กระดูกหลัง โรคปอดเรื้อรัง โดยมีหลักฐานทางการแพทย์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรคอื่นเพิ่มขึ้นด้วย และระหว่างพักรักษาตัว นายทักษิณมีภาวะวิกฤติเป็นระยะ เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งการจะให้ออกจากโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ว่าสามารถดูแลรักษาต่อได้หรือไม่ เพราะผู้ถูกร้องที่ 2 มีหน้าที่เพียงให้ความเห็นทางการแพทย์ตามวิชาชีพและระบุอาการป่วยตามความเป็นจริงให้กรมราชทัณฑ์ทราบและพิจารณาเท่านั้น
2.8) ระหว่างเดือนมกราคม 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้ต้องขังที่นอนพักรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ 2 นานที่สุดเมื่อปี 2565 จำนวน 1 ราย เป็นผู้ต้องขังอายุ 66 ปี รักษาตัวเป็นเวลา 68 วัน ที่แผนกอายุรกรรม
@ ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงาน
1) ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจง ดังนี้
1.1) ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้ในกรณีไม่ซับซ้อนหรือไม่ฉุกเฉินร้ายแรง แต่โรคที่มีอาการรุนแรง เช่น เส้นเลือดสมองตีบฉับพลัน โรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรักษา แพทย์จะแนะนำให้ส่งต่อโรงพยาบาลอื่น
1.2) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้มีหนังสือขอให้มอบหมายแพทย์เข้าตรวจร่างกายในขั้นตอนการรับตัวนายทักษิณ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งในวันดังกล่าว แพทย์และพยาบาลได้ซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยพิจารณาร่วมกับประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลของประเทศสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากนั้นได้เขียนใบส่งตัวไว้เพื่อให้สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกได้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติปกติสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อาจเกินศักยภาพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
1.3) เวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 พัศดีเวรได้รายงานผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า นายทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอกความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วต่ำ พยาบาลเวรจึงโทรศัพท์ขอคำปรึกษาจากแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลฯ โดยแพทย์ได้สอบถามอาการอย่างละเอียดและพิจารณาจากประวัตินายทักษิณแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติทางหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นและศักยภาพของโรงพยาบาลแล้ว จึงแนะนำให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น และแม้สถาบันโรคทรวงอกจะตั้งอยู่ใกล้ผู้ถูกร้องที่ 1 แต่จากอาการในภาพรวม ผู้ถูกร้องที่ 2 น่าจะมีความพร้อมมากกว่า เพราะมีแพทย์หลายสาขา รวมถึงมีบันทึกข้อตกลงกับกรมราชทัณฑ์
2) กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง ดังนี้
2.1) การอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษานอกเรือนจำต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 โดยผู้ต้องขังที่รักษาตัวเกินระยะเวลา 120 วัน เรือนจำจะรายงานต่อกรมราชทัณฑ์เพียงครั้งเดียว และรายงานอีกครั้งเมื่อผู้ต้องขังกลับเข้าเรือนจำ
2.2) กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง และข้อ 4 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักการไว้ว่า “เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ... (2) ตรวจสอบสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามที่ราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้าพักในห้องพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ 3 จัดให้”
และข้อ 5 กำหนดว่า “ผู้ต้องขังซึ่งได้รับอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำต้องปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ ... (2) ใช้สิทธิของผู้ต้องขังตามที่ทางราชการจัดให้และห้ามเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกไปจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ 3 จัดให้...”
ดังนั้น เมื่อนำตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลนอกเรือนจำ หากโรงพยาบาลนั้นจัดให้พักรักษาตัวในห้องที่มีการควบคุมพิเศษแตกต่างจากผู้ป่วยรายอื่น ย่อมอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่เป็นข้อยกเว้นให้สามารถกระทำได้ โดยไม่ได้กำหนดให้เรือนจำต้องรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และมีเจ้าหน้าที่ของเรือนจำทำหน้าที่ควบคุม 2 คน ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานเสนอทุกครั้ง ยกเว้นกรณีพิเศษ เช่น ผู้ต้องขังรายสำคัญหรือผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต เจ้าหน้าที่อาจต้องรายงานเป็นระยะบ่อยขึ้น เนื่องจากการเสียชีวิตของผู้ต้องขังผูกพันกับผลการปฏิบัติงานของเรือนจำด้วย
2.3) แพทย์จะเป็นผู้กำหนดว่าควรส่งตัวผู้ต้องขังป่วยออกไปรักษาที่โรงพยาบาลใด ส่วนกรณีฉุกเฉิน เรือนจำสามารถส่งผู้ต้องขังไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ถึงแม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในสถานที่ที่โรงพยาบาลจัดให้ โดยไม่สามารถเลือกห้องพักเองได้ ทั้งนี้ ผู้ต้องขังที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำจะใช้สิทธิการรักษาของตนเอง และผู้ป่วยหรือญาติจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนเกิน
2.4) กรณีผู้ต้องขังเป็นผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เมื่อการรักษาสิ้นสุดหรืออาการทุเลา แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาจำหน่ายผู้ต้องขังป่วยกลับเข้าเรือนจำหรือไปพักรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
2.5) ตั้งแต่ปี 2563-2566 เรือนจำ/ทัณฑสถานส่งผู้ต้องขังออกไปรักษาภายนอกตลอดมา ทั้งนี้ มีผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยในรักษาอยู่นานที่สุดเป็นระยะเวลา 50 วัน ด้วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รองลงมา 45 วัน ด้วยอาการผิดปกติที่พบจากการตรวจทางคลินิกและตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังป่วยจิตเวช 2 ราย ซึ่งรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน อยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลกและสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยเรือนจำได้รายงานขอความเห็นชอบจากกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว และไม่ต้องรายงานการรักษาตัวต่อเนื่องมายังกรมราชทัณฑ์อีก
2.6) หลังจากที่นายทักษิณพักรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ 2 ครบ 120 วัน ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รายงานขอความเห็นชอบจากกรมราชทัณฑ์แล้ว โดยไม่ได้รายงานการรักษามายังกรมราชทัณฑ์อีก จนได้รับการปล่อยตัวพักโทษไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567
3) สถาบันโรคทรวงอก ชี้แจง ดังนี้
สถาบันมีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจและปอด ซึ่งจะรับผู้ป่วยจากเรือนจำทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นอกจากนี้ยังมีระบบให้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมาก ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและมีโรคร่วมอื่น ที่สถาบันมีข้อจำกัดที่ไม่อาจรับไว้รักษาได้ โดยผู้ป่วยในของสถาบันส่วนใหญ่จะมีภาวะฉุกเฉิน ดังนั้น แพทย์จะพิจารณาตามประเภทของโรคและอาการของผู้ป่วยว่าควรพักรักษาที่ห้องใด ผู้ป่วยที่จะพักห้องพิเศษได้ต้องพ้นภาวะวิกฤติและดูแลตัวเองได้หรือญาติดูแลได้ เมื่อพ้นภาวะฉุกเฉินแล้ว เรือนจำจะรับผู้ต้องขังกลับไป ซึ่งเจ้าพนักงานเรือนจำที่ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าผู้ต้องขังจะสื่อสารกับแพทย์และพยาบาลโดยตลอด จึงทราบอาการของผู้ต้องขังอยู่แล้ว ที่ผ่านมาผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะพักรักษาตัวไม่ถึง 30 วัน และเคยรักษาผู้ป่วยนานสุด 33 วัน เป็นผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจซึ่งมีภาวะแทรกซ้อน
4) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ชี้แจง ดังนี้
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 3 (1) การพิจารณาว่าหน่วยงานของรัฐหรือโรงพยาบาลที่ครอบครองข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของบุคคลจะสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 49 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะก่อน หากข้อมูลดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ประกอบด้วย แล้วพิจารณาตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นการเพิ่มเติม
5) สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ชี้แจง ดังนี้
5.1) ข้อมูลผู้ป่วยถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งมีหลักการเดียวกัน คือ ห้ามไม่ให้เปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล โดยพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 บัญญัติหลักการไว้ว่าเจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือ ยกเว้นมีเหตุตามมาตรา 24
5.2) กรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ครอบครองข้อมูลเห็นว่าหน่วยงานหรือบุคคลที่มาขอข้อมูลผู้ป่วยเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 24 แล้ว จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 15 อีกครั้งว่า การเปิดเผยรายงานการแพทย์หรือข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควรหรือไม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ และประโยชน์ของผู้ขอข้อมูลประกอบกัน เช่น เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากประกันชีวิต แต่ปัญหาในกรณีตามคำร้องนี้คือ หน่วยงานเจ้าของข้อมูลปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลไปแล้วว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐและประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น ผู้ขอข้อมูลต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หากคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยผู้ถูกร้องที่ 2 หรือกรมราชทัณฑ์ต้องเปิดเผยให้กับผู้ขอข้อมูลภายใน 7 วัน หากหน่วยงานไม่ยอมเปิดเผย ผู้ขอสามารถนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครองได้
5.3) พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ถือเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หน่วยงานจึงสามารถปฏิเสธตามกฎหมายเฉพาะได้ และผู้ขอข้อมูลสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งจะพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 15 เช่นเดียวกัน
************
ข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ยังไม่จบ ยังมีข้อมูลในส่วนความเห็นและมติคณะกรรมการ กสม. อีก
รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามตอนต่อไป