ป.ป.ช.ลงมติ 5 ต่อ 1 เสียง เลือก 'วิทยา อาคมพิทักษ์' ทำหน้าที่ประธาน แทน พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.2561 มาตรา 19 ไม่ต้องเชิญ พศวัจน์ กนกนาค ร่วมโหวต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง เลือก นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.แทน พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ที่เกษียณอายุเนื่องจากครบ 70 ปี ในวันที่ 9 ก.ย.2567
โดยการโหวตเสียงเลือก นายวิทยา ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 19 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือก กรรมการคนหนึ่งทําหน้าที่แทนประธานกรรมการ จนกว่าจะมีประธาน ป.ป.ช.คนใหม่
ขณะที่ในการประชุมครั้งนี้ มีกรรมการ ป.ป.ช. รายหนึ่ง เสนอให้มีการเชิญนายพศวัจน์ กนกนาค อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ที่ผ่านการสรรหาและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ตั้งแต่เดือนมี.ค.2566 แต่อยู่ระหว่างการรอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มาร่วมประชุมให้มีการเลือกประธานก่อน จึงจะดำเนินการอย่างอื่นต่อได้
ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะลงมติ 5 ต่อ 1 เสียง เลือก นายวิทยา ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าว
สำหรับการเชิญนายพศวัจน์ กนกนาค เข้าร่วมประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกประธานร่วมกับกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เป็นผลมาจากก่อนหน้าที่ พล.ต.อ. วัชรพล จะเกษียณอายุ ได้กำหนดวาระการเลือกประธาน ป.ป.ช. คนใหม่การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 9 ก.ย.2567 นี้ แต่กรรมการ ป.ป.ช.มีการประชุมหารือเรื่องนี้กันก่อน เพราะเห็นว่าในการประชุมวันที่ 9 ก.ย.2567 ดังกล่าว จะมีการเชิญ นายพศวัจน์ กนกนาค อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ที่ผ่านการสรรหาและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ตั้งแต่เดือนมี.ค.2566 แต่อยู่ระหว่างการรอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เข้าร่วมประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกประธานร่วมกับกรรมการ ป.ป.ช. ที่เหลือเหลืออยู่ 6 คน เป็น 7 คน ซึ่งเป็นไปมาตรา 14 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า กรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องสรรหา แต่เมื่อรวมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามีจำนวนถึงเจ็ดคนก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้วให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาต่อไปโดยเร็ว แต่ที่ประชุม ไม่สามารถข้อหาสรุปได้ ก่อนที่จะมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้สอบถามวุฒิสภา ว่าสถานภาพ นายพศวัจน์ กนกนาค อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการสรรหา ให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว แต่ยังไมได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ทั้งๆที่เวลาผ่านไปนานกว่า 1 ปีแล้ว
กล่าวสำหรับประวัติ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ จบปริญญาตรีศิลปะศาสตร์บัณฑิต รัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ม.ปทุมธานี เริ่มรับราชการที่กระทรวงมหาดไทย ก่อนโอนย้ายมาอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปัจจุบันคือ ป.ป.ช.) ช่วงปี 2525 และเติบโตขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2551 เป็นผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ปี 2554 เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปี 2556 เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ท้ายสุดไปดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เคยเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. มาก่อนหน้านี้แล้วแต่ไม่ได้รับเลือก ก่อนจะมาสมัครรอบที่ 2 และได้รับการแต่งตั้งในที่สุด