‘สำนักงาน กสม.’ เปิดรับฟังความเห็น ‘ร่าง พ.ร.ป.กสม.’ เพิ่มอำนาจ ‘กสม.’ ฟ้องคดีแทน ‘ผู้เสียหาย’ ต่อศาลยุติธรรม-แจ้ง ‘ป.ป.ช.’ ดำเนินการตามกฎหมายกับ ‘หน่วยงานของรัฐ’ ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะฯ
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยสำนักงาน กสม.จะเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปจนถึงวันที่ 30 ส.ค.นี้ ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.กำหนดให้การที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสม ในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม. โดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือเป็นกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และให้ กสม. แจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบ เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเร็ว (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 36 วรรคสี่)
2.กำหนดให้ กสม. มีอำนาจในการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย แทนอำนาจในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37)
3.กำหนดให้ กสม. มีอำนาจในการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง (เพิ่มเติมมาตรา 42/1)
ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. ได้รายงานสภาพปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ว่า โดยที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 247 (1) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 26 (1) ได้กำหนดให้ กสม. มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง
และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 36 วรรคสี่ ได้กำหนดให้ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องมิได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางของ กสม. หรือมิได้แจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ กสม. จัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว มิได้มีสภาพบังคับหรือบทกำหนดโทษในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง มิได้ดำเนินการตามมาตรการหรือแนวทางของ กสม. เป็นเหตุให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณีไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ การที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 ได้ตัดหน้าที่และอำนาจของ กสม. ในการเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง รวมทั้งการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย จากเดิมที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 ได้กำหนดไว้ ทำให้การเสนอมาตรการหรือแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน สามารถกระทำได้ผ่านการจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา ครม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 26 (3) ประกอบกับมาตรา 42 เท่านั้น
ในขณะที่ข้อเสนอแนะดังกล่าวมิได้มีสภาพบังคับหรือผลผูกพันหากเทียบเคียงกับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง กับทั้งการกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 37 ก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้เป็นรายกรณีเท่านั้น มิได้รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดีในชั้นศาล อันมีลักษณะเป็นการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
อ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....