'สรวิศ ลิมปรังษี' โฆษกศาลยุติธรรม แจงคำสั่งให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลไปช่วยงานชั่วคราวตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีการะหว่างตรวจสอบข้อร้องเรียน เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ฯ ห้ามสั่งช่วยต่ำกว่าชั้นตำแหน่งเดิม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 ศาลยุติธรรม ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์การออกคำสั่งให้อธิบดีผู้พิพากษาศาล ไปช่วยงานชั่วคราวตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีการะหว่างตรวจสอบข้อร้องเรียน เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ห้ามสั่งช่วยต่ำกว่าชั้นตำแหน่งเดิม
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า กรณีสื่อมวลชนแห่งหนึ่งนำเสนอปัญหาการมีคำสั่งให้โยกย้ายอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นแห่งหนึ่ง ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีการะหว่างที่มีการตรวจสอบข้อร้องเรียน ในทำนองว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบางกระแสมีข่าวด้วยว่าเป็นการสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ประจำสำนักประธานศาลฎีกานั้น
ขอยืนยันว่าการมีคำสั่งช่วยทำงานชั่วคราวดังกล่าว ระบุชัดเจนว่าให้ไปทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ไม่ได้เป็นการมีคำสั่งให้ไปช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาประจำสำนักประธานศาลฎีกาแต่อย่างใด เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้เป็นตำแหน่งที่มีอยู่ตามกฎหมายและระเบียบของศาลยุติธรรม
การมีคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาในกรณีข้างต้นเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายแล้ว โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราวในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการศาลยุติธรรมในตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ผู้นั้นดำรงอยู่ได้ ...” และตามวรรคสองกำหนดให้ในกรณีที่มีการสั่งให้ช่วยราชการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ให้นำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ในการประชุมนัดแรกนับแต่วันที่มีคำสั่ง
ในกรณีนี้ ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวเป็นผู้ที่ได้รับเงินเดือนในชั้น 4 ชั้นสูงสุด ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ดังนั้นการมีคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวจึงทำได้เฉพาะการให้ไปช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งไม่ต่ำกว่าชั้นเงินเดือนดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยผู้ที่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวนั้นเป็นผู้ที่ ก.ต. ได้เคยมีมติเห็นชอบความเหมาะสมให้อยู่ในเกณฑ์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาและได้รับเงินเดือนในชั้น 4 ชั้นสูงสุดแล้วตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 18/2566 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวไปช่วยทำงานชั่วคราวแล้ว ต่อมาเมื่อ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ได้มีการเสนอคำสั่งให้ ก.ต. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 17/2567 เพื่อให้ความเห็นชอบตามที่มาตรา 21 วรรคสองกำหนดแล้ว และ ก.ต. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบกับคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยเหตุนี้การมีคำสั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในกรณีนี้จึงเป็นไปโดยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งการดำเนินการดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวปฏิบัติและระเบียบแบบแผนที่ผู้รับผิดชอบราชการศาลยุติธรรมใช้ในการบริหารราชการศาลยุติธรรมตลอดมา
เกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกาได้ลงนามคำสั่งย้ายอธิบดีผู้พิพากษาศาลรายหนึ่ง ไปช่วยราชการสำนักงานประธานศาลฎีกาเป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2567 และให้นายจุมพล ชูวงษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลดังกล่าว
โดยการใช้อำนาจของประธานศาลฎีกา ย้าย อธิบดีผู้พิพากษาศาลรายนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายตุลาการมาตรา 21 และจะต้องนำไปให้คณะกรรมการตุลาการ(ก.ต.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนสาเหตุที่ประธานศาลฎีกามีคำสั่งย้ายด่วน อธิบดีผู้พิพากษาศาล รายนี้ เนื่องจากในการประชุม ก.ต. เมื่อวันวันที่ 1 ก.ค. มีกรรมการตุลาการบางรายเสนอให้โยกย้าย เพราะมีการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมบางประการ ซึ่งอาจกระทบกับการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งประธานศาลฎีกาได้มีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาสอบสวนแล้ว ซึ่ง ในที่ประชุม นางอโนชาเพียงแต่ว่าจะรับข้อเสนอ ของกรรมการ ตุลาการไปพิจารณา
ต่อมา เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2567 สำนักงานคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ได้เผยแพร่ผลการประชุม ก.ต.ครั้งที่ 17/2567 ซึ่งมีการระบุมติเห็นชอบให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ประกอบระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในการสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราว พ.ศ. 2550 จำนวน 1 ราย
ขณะที่เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2567 ผู้หญิงสาวรายนี้ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญากับอธิบดีศาลยุติธรรมรายนี้ ต่อพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป. แล้ว เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำหญิงสาวผู้เสียหายรายนี้ไว้แล้ว ขณะที่ พ.ต.อ.เอกสิทธิ์ ปานสีทา ผกก.4 บก.ป. ได้รายงานผลการสอบปากคำให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) ทราบเป็นที่เรียบร้อย ก่อนพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมาย
จากการสอบปากคำเบื้องต้นทราบว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ถูกกล่าวหา ได้พยายามล่วงละเมิดทางเพศบนรถไฟตู้นอน ชั้น 2 สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยขบวนที่เกิดเหตุนั้นเป็นการเหมาตู้รถไฟเพื่อเดินไปสัมมนาที่จังหวัดทางภาคเหนือ เชื่อว่าผู้ก่อเหตุจะอยู่ในอาคารมึนเมา และได้พยายามเข้าลวนลามหยื่อหญิงสาวที่เป็นพนักงานของศาลยุติธรรม เหตุเกิดช่วงสถานีศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อเนื่องถึงช่วงสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่
เบื้องต้น มีรายงานข่าวว่า ต่อกรณีนี้ พล.ต.ต.มนตรี ได้รายงานเหตุการณ์ไปยัง พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผบช.ก. โดยเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับคดีนี้เป็นการเฉพาะแล้ว เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการระดับสูง และคดีอยู่ในความสนใจของประชาชน
ส่วนหญิงสาวผู้เสียหายได้ย้ายไปศาลอุทธรณ์แล้ว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง