เป็นทางการ! เผยมติที่ประชุม ก.ต. เห็นชอบประธานศาลฎีกาสั่งย้ายด่วน ’อธิบดีผู้พิพากษา‘ ไปช่วยทำงานชั่วคราว ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา หลังมีข่าวถูกร้องเรียน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2567 สำนักงานคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ได้เผยแพร่ผลการประชุม ก.ต.ครั้งที่ 17/2567 ซึ่งมีการระบุมติเห็นชอบให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ประกอบระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในการสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราว พ.ศ. 2550 จำนวน 1 ราย แต่มิได้มีการเปิดเผยรายชื่อข้าราชการตุลาการที่ถูกให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวแต่อย่างใด
รายงานข่าวแจ้งว่า มติที่ประชุม ก.ต.ดังกล่าว ให้ข้าราชการตุลาการรายนี้ ไปช่วยทำงานเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกาได้ลงนามคำสั่งย้ายอธิบดีผู้พิพากษาศาลรายหนึ่ง ไปช่วยราชการสำนักงานประธานศาลฎีกาเป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2567 และให้นายจุมพล ชูวงษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลดังกล่าว
โดยการใช้อำนาจของประธานศาลฎีกา ย้าย อธิบดีผู้พิพากษาศาลรายนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายตุลาการมาตรา 21 และจะต้องนำไปให้คณะกรรมการตุลาการ(ก.ต.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนสาเหตุที่ประธานศาลฎีกามีคำสั่งย้ายด่วน อธิบดีผู้พิพากษาศาล รายนี้ เนื่องจาก ใน การประชุม ก.ต. เมื่อวันวันที่ 1 ก.ค. มีกรรมการตุลาการบางรายเสนอให้โยกย้าย เพราะมีการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมบางประการ ซึ่งอาจกระทบกับการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งประธานศาลฎีกาได้มีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาสอบสวนแล้ว ซึ่ง ในที่ประชุม นางอโนชาเพียงแต่ว่าจะรับข้อเสนอ ของกรรมการ ตุลาการไปพิจารณา
สำหรับมาตรา 21 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการ ฝ่าย ตุลาการบัญญัติว่า “ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราวในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการศาลยุติธรรมในตำแหน่งตุลาการที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ผู้นั้นดำรงอยู่ได้โดยมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกเดือน หากกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเกินกว่าหกเดือน ประธานศาลฎีกาต้องขอความเห็นชอบจาก ก.ต.ก่อน
การสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับความยินยอมจากข้าราชการตุลาการผู้นั้นด้วย เว้นแต่เป็นกรณีที่หากให้ผู้นั้นอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในศาลนั้นต่อไปจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด และเมื่อมีการสั่งในกรณีเช่นนี้แล้ว ให้ประธานศาลฎีกานำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจาก ก.ต. ในการประชุมนัดแรกนับแต่วันมีคำสั่งห้ามมิให้สั่งให้ข้าราชการตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสตามมาตรา 12ไปช่วยทำงานชั่วคราวตามวรรคหนึ่งในตำแหน่งอื่น
ส่วนระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในการสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราว พ.ศ. 2550 ระบุในข้อ 10 ว่า การที่ประธานศาลฎีกาเห็นว่าหากจะให้ข้าราชการตุลาการผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในศาลที่ดํารงตําแหน่งต่อไปแล้วจะเป็นการเสียหายแก่การบริหารราชการศาลยุติธรรม สมควรให้ข้าราชการตุลาการผู้นั้นไปช่วยทํางานชั่วคราวในศาลอื่น
ขณะที่ นายจุมพล ชูวงษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ ประธานศาลฎีกา สั่งให้ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลดังกล่าว เป็นการยินยอมจึงไม่ต้องนำเข้า พิจารณาใน ก.ต.