‘กรรมการกำกับแก้หนี้รายย่อยฯ’ ห่วงลูกหนี้ 3 ล้านราย ทยอยถูกบังคับคดี เรียกร้องแก้ปัญหาลูกหนี้ ‘บัตรเครดิต’ ถูกฟ้องคดียึด ‘บ้าน’ ขายทอดตลาดฯ ชี้หากให้ยึดบ้านขายได้ 'ดอกเบี้ย' บัตรเครดิต ต้องถูกกว่านี้
....................................
จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ข้อมูลสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16,370,603 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90.8% ต่อจีดีพี โดยหนี้สินครัวเรือนดังกล่าว เป็นเงินกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น 4,525,050 ล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : เช่าซื้อรถหด-กู้บ้านเพิ่ม! ธปท.เผยไตรมาส 1/67 หนี้ครัวเรือน 16.37 ล้านล. 90.8% ต่อจีดีพี)
ล่าสุดนายขจร ธนะแพสย์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ได้รับทราบข้อมูลจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ว่า ขณะนี้มีลูกหนี้ 3 ล้านราย ทยอยเข้าคิวถูกบังคับคดีตามคำสั่งศาลฯ เช่น การยึดบ้านขายทอดตลาด และพบปัญหาว่าในขั้นตอนการไกล่เกลี่ยหนี้ฯ ลูกหนี้และเจ้าหนี้จะไกล่เกลี่ยกันเอง ทำให้ฝ่ายลูกหนี้เสียเปรียบ จึงต้องมีคนกลางเข้าไปช่วยลูกหนี้เจรจาด้วย
“เวลาไกล่เกลี่ยฯ ถ้าปล่อยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ไปว่ากันเอง เจ้าหนี้ก็บีบ มีบางราย เจ้าหนี้ไปขอให้ศาลพิพากษาใส่เลย หรือบางรายเป็นลูกหนี้ผิดนัดฯ แต่การไกล่เกลี่ยฯ ก็ทำแบบขอไปที ไม่ได้ดูความสามารถของลูกหนี้ อย่างนี้ไม่ได้แล้ว ต่อไปจะต้องมีคนกลาง ไม่ใช่ให้ไปคุยกันเอง แล้วผมได้พูดกับท่านช่วย ต้องหาวิธีช่วยลูกหนี้ และไม่ใช่ว่าต้องพิพากษาตามที่เจ้าหนี้เขาเรียกร้องจะเอา” นายขจร กล่าว
นายขจร กล่าวด้วยว่า การไม่มีระบบจัดการเจ้าหนี้ให้เก็บหนี้ในระดับที่เหมาะสมในอดีตนั้น ได้สร้างปัญหาให้กับลูกหนี้เป็นจำนวนมาก เช่น ลูกหนี้รายหนึ่งที่กู้เงินจากธนาคารรัฐแห่งหนึ่ง เงินต้น 1.1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7-8% แต่พอชำระหนี้ไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ต่อมาธนาคารฯได้ฟ้องคดีต่อศาลฯ และศาลมีคำพิพากษาออกมาตามที่เจ้าหนี้ร้องขอ คือ คิดดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 18% ซึ่งเป็นอัตราของเบี้ยปรับ จากเดิมที่คิดดอกเบี้ย 7-8%
แต่ปรากฏว่า หลังจากลูกหนี้ทยอยผ่อนชำระหนี้ คือ 1 หมื่นบาท/เดือน แต่เมื่อชำระหนี้ไปแล้ว 12 ปี เป็นเงินรวม 1.5 ล้านบาท พบว่าเงินที่จ่ายไปนั้น ไม่เคยไปตัดต้นเลย ทำให้ปัจจุบันลูกหนี้รายนี้ยังติดหนี้ธนาคารฯอีก 2.4 ล้านบาท
นายขจร ยังระบุว่า ในจำนวนลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดีดังกล่าว พบว่าลูกหนี้จำนวนหนึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีที่ขาดอายุความไปแล้ว เช่น คดีหนี้บัตรเครดิต ซึ่งขาดอายุความมากว่า 20 ปีแล้ว แต่เจ้าหนี้รู้ว่า แม้ว่าคดีจะขาดอายุความแล้ว หากฟ้องคดีไป แต่ลูกหนี้ไม่ไปศาลฯ ศาลจะยกเรื่องคดีขาดอายุความขึ้นมาเองไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ได้มีการยกขึ้นหารือกับทางศาลฯ เพื่อให้ร่วมกันหาทางออกต่อไป เพราะในหลายกรณีพบว่า หนี้บัตรเครดิตได้นำไปสู่การยึดบ้านของลูกหนี้
“คดีบางประเภทที่หมดอายุความแล้ว บางคดีหมดอายุความไป 20 ปี เขา (เจ้าหนี้) ก็มาฟ้อง เพราะก็รู้ว่าศาลจะยกเรื่องอายุความขึ้นมาเองไม่ได้ ถ้าลูกหนี้ไม่ไปศาล ผมก็คุยกับศาลฯว่า ท่านต้องหาทางแล้ว เราจะเป็นอย่างนี้กันต่อไปไม่ได้ หนี้บัตรเครดิตเยอะมาก เป็นอย่างนี้หมด และวันนี้แม้ว่าหนี้บัตรเครดิตจะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน แต่พอมีการฟ้องแล้ว มันมีการไปสืบทรัพย์แล้วไปยึดบ้านเขาได้ แล้วถ้าให้ทำอย่างนี้ได้ คุณต้องคิดดอกเบี้ยถูกกว่านี้” นายขจร กล่าว
นายขจร กล่าวว่า จากปัญหาการฟ้องลูกหนี้ในคดีขาดอายุความนั้น ได้รับทราบข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องว่า มีการหยิบยกประเด็นนี้เข้าหารือในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งฯแล้ว แต่คาดว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ จะต้องใช้เวลานานพอสมควร
อ่านประกอบ :
‘ครม.เศรษฐกิจ’ถกแก้‘หนี้บ้าน-รถ-บัตรเครดิต’-มอบ‘ธปท.’หารือลดอัตราจ่ายขั้นต่ำฯเหลือ 5%
จี้สกัด‘บ.อีแร้ง’ลักไก่ฟ้องคดีขาดอายุความ ‘ลูกหนี้’ไม่มาศาลฯโดนเรียก‘ดอกเบี้ย’ไม่มีลิมิต