‘ครม.เศรษฐกิจ’ ถกแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน ‘หนี้บ้าน-หนี้รถ-หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล’ 13.6 ล้านล้าน มอบ ‘ธปท.’ หารือลดอัตราการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตฯเหลือ 5% พร้อมเร่ง ‘กยศ.’ จ่ายคืนเงิน ‘ลูกหนี้ กยศ.’ 5.6 หมื่นล้านบาท
..................................................
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยหลังการประชุมหารือประเด็นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2567 ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ได้แก่ หนี้บ้าน หนี้รถกระบะ หนี้รถมอเตอร์ไซค์ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ เพื่อทำให้หนี้ดังกล่าวลดลง
“เศรษฐกิจวันนี้ค่อนข้างจะตกต่ำ และสัญญาณการฟื้นตัวก็ไม่ชัดเจนนัก คือ ค่อยๆขึ้น แต่ไม่ทันใจ ในขณะที่ปัญหาที่หนักอกที่สุดและใหญ่ที่สุด คือ หนี้ครัวเรือนและหนี้ของธุรกิจขนาดย่อม ส่วนหนี้รัฐนั้น เราพูดเป็นเรื่องที่ 3 แต่เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ หนี้ประชาชน ถ้าแก้ได้แล้ว แม้ว่าหนี้รัฐจะเพิ่มอีกหน่อย ก็รับได้ อันนั้นคือสิ่งที่เรามอง วันนี้เราจึงเน้นในหลายๆเรื่อง ที่จะทำให้หนี้ประชาชนลงให้ได้
โดยท่านนายกฯ รับทราบและสั่งการว่า เฉพาะวันนี้มีหนี้สินประชาชนกว่า 13.6 ล้านล้าน และมีหนี้เสียกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีสัญญาณว่า จะเพิ่มขึ้น โดยหนี้ SM (หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ) ทำท่าจะเพิ่มขึ้นอีกแล้ว แล้วจะแก้อย่างไร เมื่อเราผ่าเข้าไปดู ก็พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งเป็นหนี้รถยนต์กับหนี้บ้าน ถ้าแก้หนี้บ้านและหนี้รถยนต์ได้ ถัดมาก็จะเป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ใช้จ่ายเพื่อการบริโภค” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย ระบุว่า สำหรับปัญหาหนี้บ้าน กระทรวงการคลังรายงานให้ที่ประชุมฯรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้บ้านในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการใช้เครื่องมือของรัฐ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งปล่อยสินเชื่อบ้านคิดเป็น 34% ของสินเชื่อบ้านทั้งระบบ เข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้บ้าน โดยเฉพาะการใช้แนวทางการลดดอกเบี้ยและยืดเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีเป็นหนี้เสีย (NPL) 8 หมื่นราย เพื่อทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาผ่อนชำระหนี้ได้และออกจาการเป็นหนี้เสีย
ทั้งนี้ นายกฯได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้นำแนวทางดังกล่าวไปขยายผลกับหนี้บ้านของธนาคารพาณิชย์ต่อไป
“เราให้ ธอส. ไปคุยกับลูกหนี้ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละจุดจะมีอาสาสมัคร มีคนจากศาลฯเข้ามาช่วยด้วย แล้วเจรจาให้ได้ข้อยุติว่า ถ้าไปไม่ไหวจริงๆ ก็ให้ยืดผ่อนเวลาการชำระหนี้ไปจนถึงอายุ 80 ปี ถ้าเป็นข้าราชการให้ผ่อนถึง 85 ปี คนที่ไหนยังไม่เสีย แต่ทำท่าจะเสีย ก็มาเข้าได้ ดอกเบี้ยไม่เป็นไร ช่วงปีแรกๆเงินต้นจ่ายน้อยๆ เช่น ผ่อน 1,000 บาท/เดือน ส่วนดอกเบี้ยก็ 0% ไปก่อนได้ โดยวันนี้มีคนเข้ามา 5 หมื่นราย พอผ่อนได้ซักพัก ก็จะออกจากการเป็น NPL แล้ว
ท่าน (นายกฯ) ก็ว่า ถ้าทำอย่างนี้ได้ผล และทำให้หนี้ไม่เสีย ดังนั้น หนี้ของธนาคารพาณิชย์ก็เช่นกัน ถ้าจะทำให้ไม่เสีย แล้วกลับมาเป็นหนี้ดีได้ ก็น่าจะขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง ธปท. ก็อยู่ด้วย จึงน่าจะขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในเรื่อง เพราะบ้านของอายุยาว และไม่เสื่อมสลายหายไป ท่านนายกฯจึงสั่งการว่า ให้ไปดูแลแก้ไขหนี้ที่อยู่อาศัยต่กับธนาคารพาณิชย์” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาหนี้รถนั้น จะเน้นไปที่รถยนต์กระบะและรถมอเตอร์ไซค์ก่อน เพราะรถทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นรถที่ใช้ทำมาหากิน โดยแนวทางในการดำเนินการนั้น จะต้องรวบรวมข้อมูลว่า มีจำนวนผู้ผิดนัดชำระหนี้และถูกยึดรถไปแล้วเท่าไหร่ จากนั้นจะไปหารือกับบริษัทที่ยึดรถไป เพื่อดูว่ามีความเสียหายเป็นเท่าใด ก่อนจะกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า ความเสียหายเหล่านั้นได้ตัดหนี้สูญและตั้งสำรองฯไปแล้ว
“หนี้รถต้องแยกเป็น 2 ประเภท คือ หนึ่ง หนี้รถเก่าที่ถูกยึดแล้วกับพวกที่กำลังถูกยึด สอง รถใหม่ที่จะจำหน่าย ผมคิดว่ารถใหม่ที่จะจำหน่ายนั้น บางครั้งคนที่มีกำลังซื้ออยู่ ไม่สามารถเข้าได้ เพราะไม่เหมาะกับความเสี่ยง จึงอาจต้องขยับเพดานให้กับลิสซิ่งบ้าง เช่น จาก 5% เป็น 5.5% ซึ่งน่าจะทำให้เขายินดีปล่อย ส่วนหนี้รถเก่า ต้องขอไปดูมาตรการชัดๆอีกที เพราะต้องเรียกแต่ละรายเข้ามาเพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดก่อน” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนปัญหาหนี้บัตรเครดิตนั้น มีการรายงานให้ที่ประชุมฯรับทราบว่า ปัจจุบันมีบัตรเครดิตที่เป็นหนี้เสีย 1.1 ล้านใบ จากบัตรเครดิตทั้งหมด 24 ล้านใบ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.3-1.4 ล้านใบ ในไม่ช้านี้ ขณะที่แนวทางในการแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตนั้น จะใช้แนวทางคลินิกแก้หนี้ ที่มีบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เป็นคนกลาง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าบริษัทเครดิตหลายแห่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม นายกฯเสนอว่า ขณะนี้คนกำลังลำบาก จึงขอให้ ธปท.ไปพิจารณาว่าจะปรับลดอัตราการจ่ายขั้นต่ำ (Minimum Payment) จากปัจจุบัน 8% เหลือ 5% ได้หรือไม่ ซึ่งผู้แทน ธปท. รับว่า จะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาโดยด่วน
นายพิชัย กล่าวว่า สำหรับหนี้ กยศ. นั้น หลังจาก พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ มีผลบังคับแล้ว กยศ. ได้ทำการคำนวณอัตราดอกเบี้ยและอัตราเบี้ยปรับตามกฎหมายใหม่ พบว่ามีจำนวนเงินที่ กยศ. จะต้องคืนเงินให้กับผู้กู้ 2.8 ล้านคน ซึ่งจ่ายเงินเกิน จากถูกคิดเบี้ยปรับในอัตรา 18% ต่อปี และคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ซึ่งรวมแล้วเป็นจำนวนเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท โดย กยศ.จะดำเนินการจ่ายเงินที่เก็บเกินให้ผู้กู้เหล่านี้ต่อไป
“ก็เก็บมาจากเขาไป อะไรคืนได้ ก็คืนเขาไป เราอยากให้เงินเข้าระบบ” นายพิชัย กล่าว
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ กยศ.ได้ทำการอัพโหลดข้อมูลจำนวนหนี้ของผู้กู้เงิน กยศ.ที่ได้จากการคำนวณดอกเบี้ยและเบี้ยปรับตามกฎหมายขึ้นเว็บไซต์แล้ว และ กยศ.จะให้ผู้กู้ฯเข้ามาทำสัญญาใหม่ โดยหากเป็นผู้กู้มีการจ่ายเงินเกินนั้น กยศ. จะทำการจ่ายเงินคืนให้ผู้กู้ผ่านกองทุนฯ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพคล่องเพียงพอ