‘ศุภมาส’ แจง อว.ไม่เคยรับรอง California University ส่วนศาสตราจารย์จากต่างประเทศ เตรียมทบทวนการเทียบวุฒิใหม่ ส่วนการเสาะหาข้อเท็จจริง ประเทศต้นทางต้องเริ่มก่อน ระบุยังตอบไม่ได้หมอเกศใช่ตำแหน่งศาสตราจารย์ได้หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงกรณี พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ใช้วุฒิจาก California University สมัครสมาชิกวุฒิสภา ว่า กรณีนี้ต้องแบ่งเป็นสองเรื่อง คือ การเทียบวุฒิระดับปริญญาเอก ไม่ว่าจะจบในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก หากจบในประเทศไทยกระทรวงอว. ต้องเป็นผู้รับรองตั้งแต่เริ่มทำหลักสูตรอยู่แล้ว แต่หากเป็นวุฒิการศึกษาหรือหลักสูตรที่จบจากต่างประเทศ และประสงค์จะนำกลับมาใช้ในประเทศไทย จะต้องมายื่นเรื่องขอเทียบคุณวุฒิกับกระทรวง เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยในความดูแลมากกว่า 1 หมื่นแห่ง ไม่สามารถไปขึ้นบัญชีได้ว่าทั้งหมด
@อว.ไม่เคยรับรอง ม.California
แต่ในกรณีของ California University จากการตรวจสอบ พบว่ายังไม่มีผู้มายื่นขอเทียบคุณวุฒิ จึงยังไม่เคยมีการรับรองวุฒิให้ ต้องรอให้มีผู้มายื่นเรื่องก่อนจึงจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ และสอบทานเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ว่าสามารถเทียบกับปริญญาตรี โท เอกของไทยได้หรือไม่
ส่วนตำแหน่งศาสตราจารย์ นางสาวศุภมาส กล่าวว่า จะต้องทำเรื่องขอตำแหน่งทางวิชาการ เริ่มตั้งแต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ มาเป็นศาสตราจารย์ ซึ่งจะมีขั้นตอนการยื่นผ่านมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แล้วจะต้องส่งเรื่องมายังกระทรวงอว. เพื่อขอโปรดเกล้าฯ ในตำแหน่งนี้ ซึ่งจะมีคณะกรรมการและขั้นตอนอยู่แล้ว
@รับอาจทบทวนการเทียบตำแหน่ง Professor จากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
นางสาวศุภมาส กล่าวอีกว่า สำหรับ professor (ศาสตราจารย์) ที่ต้องการเข้ามาสอนหรือว่าบรรยายในประเทศไทย ผู้ที่ต้องทำการตรวจสอบจะเป็นมหาวิทยาลัยนั้นๆ ไม่ใช่ทางกระทรวง เช่น หาก professor จากประเทศจีนต้องการมาสอนที่มหาวิทยาลัยเกริกในประเทศไทย ก็เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเกริก ที่จะต้องเทียบตำแหน่ง professor กับศาสตราจารย์ในประเทศไทย ซึ่งแต่ละประเทศจะมีขั้นตอนและกระบวนการแตกต่างกันไป ฉะนั้นในกรณี พญ.เกศกมล เรื่องจะไม่มาถึงกระทรวงอว. แต่เมื่อเห็นกรณีศึกษาเช่นนี้ น่าจะต้องกลับไปทบทวนบทบาทของกระทรวง กรณี professor ที่รับรองจากต่างประเทศและต้องการมาทำงานในประเทศไทย อาจต้องส่งมาให้ทางกระทรวงอว. รับทราบและช่วยตรวจสอบ เพราะถือเป็นปัญหาสังคมและเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส
เมื่อถามว่า เคยมีคนนำวุฒิจาก California University ให้ กระทรวง อว.เทียบวุฒิหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.กล่าวว่า ยังไม่มี จากข้อมูลที่หามา ซึ่งเช็คจากทางกระทรวงยังไม่เคยมีคนมาขอเทียบเลย
@ประเทศต้นทางต้องเป็นคนพิสูจน์
เมื่อถามว่า เป็นข้อยืนยันว่า อาจจะไม่ใช่วุฒิปริญญาเอกจริงๆ ใช่หรือไม่ นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ปริญญาเอกนี้ชอบหรือไม่ชอบ ใช่หรือไม่ใช่ ผู้ที่จะต้องสืบหาความจริง จะต้องเป็นกระทรวงของสหรัฐอเมริกา หรือผู้ที่มีหน้าที่อนุมัติเกี่ยวกับหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา ส่วนหน้าที่ของกระทรวงอว.มีเอกสารมาจริงหรือไม่นั้นเราไม่รู้ แต่อาจจะช่วยพิสูจน์ แต่หน้าที่หลักต้องเป็นประเทศต้นทาง และเมื่อได้รับเอกสารมา กระทรวงอว.มีหน้าที่ทำตามกระบวนการ เพื่อดูว่าสามารถเทียบวุฒิได้หรือไม่ ซึ่งในหลายมหาวิทยาลัยที่มีผู้ยื่นเทียบวุฒิแล้วนั้นจะสามารถทำเรื่องได้สั้นลง เพราะมีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ถ้ายังไม่เคยมีอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก
@ยังไม่ตอบ ‘หมอเกศ’ ใช้ศ.ได้ไหม
เมื่อถามว่า เคยมีกรณีจบปริญญาโท ปริญญาตรีจากต่างประเทศ แต่มาเทียบวุฒิแล้วไม่ได้มาตรฐานของไทยหรือไม่ นางสาวศุภมาส กล่าวว่า มีกรณีที่เทียบไม่ได้หากมาตรฐานไม่ตรงกัน อาจจะเป็นเรื่องของจำนวนหน่วยกิต หรือจำนวนวิทยานิพนธ์ ซึ่งปริญญาตรีจะต้องมี 120 หน่วยกิต ขณะเดียวกันถ้าจำนวนหน่วยกิตไม่ถึง เมื่อไปเทียบกับต่างประเทศ ก็อาจจะไม่ได้เหมือนกันซึ่งเกิดได้ในทุกกรณี ดังนั้นต้องให้กระทรวงอว.ทำเรื่องยื่นคุณวุฒิให้ การเทียบวุฒิจึงมีคำตอบทั้งผ่านและไม่ผ่าน
เมื่อถามว่าหากไม่ผ่านจะต้องกลับไปใช้วุฒิของประเทศไทย หรือไม่ นางสาวศุภมาสกล่าวว่า วุฒิปริญญาตรี โท เอก จากต่างประเทศที่มีอยู่ก็จะใช้กับประเทศไทยไม่ได้ แต่อาจจะใช้กับประเทศต้นทางได้
เมื่อถามว่าตำแหน่งศาสตราจารย์ ของพญ.เกศกมล ปัจจุบันยังไม่พิสูจน์ทราบว่าเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยใด ตำแหน่งศาสตราจารย์ที่อ้างว่ามีอยู่นั้นสามารถใช้การกรอกข้อมูลต่างๆในไทยได้หรือไม่ นางสาวศุภมาส กล่าวว่า "น่าจะยังใช้ไม่ได้ จะใช้ได้ในกรณี ที่มหาวิทยาลัยไทยเป็นผู้เทียบให้ แต่จะไม่เหมือนกับเรื่องปริญญาที่ กระทรวง อว.เป็นผู้เทียบให้ ตำแหน่ง professor มหาวิทยาลัยนั้นๆ ที่เขาจะมาทำงาน มารับเงินเดือน จะเป็นผู้เทียบให้"
เมื่อถามว่า หากมีการใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในไทย โดยที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดเทียบให้มีความผิดหรือไม่ น.ส.ศุภมาศ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจข้อกฎหมาย ขอกลับไปศึกษาดูก่อน
อ่านประกอบ:
- ส่องบทความวิชาการ 'ดร.สุขุมพงศ์-สว.เกศกมล' อาจารย์-ลูกศิษย์ เหมือน/แตกต่างกันหรือไม่?
- โพรไฟล์สั้นๆ 'ดร.สุขุมพงศ์' ปธ.สอบวิทยานิพนธ์ 'พญ.เกศกมล - ธรรมนัส'
- ก่อนปมร้อนเรียนจบสหรัฐ ! พลิกธุรกิจ ‘เกศกมล’ สว.อันดับหนึ่ง กก./ถือหุ้น 4 บริษัท
- ‘เกศกมล’ สว. อันดับหนึ่ง เคยอยู่ทีมวิจัยสมุนไพรต้านโควิด มอบผลิตภัณฑ์ให้ 'ธรรมนัส'
- ย้อนข้อมูล ม.แคลิฟอร์เนีย! โลกกลม 'ธรรมนัส' เรียนจบที่เดียวกัน 'เกศกมล' สว.อันดับหนึ่ง