"...จากการตรวจสอบเบื้องต้น เกี่ยวกับเนื้อหาบทความวิชาการ ของ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ และ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ยังพบข้อสังเกตด้วยว่า มีการใช้รูปประโยค และถ้อยคำที่แตกต่าง ในลักษณะการขยายความ ซึ่งทำให้เนื้อหาบทความของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ยาวกว่า บทความของ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ ..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณี พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ป้ายแดง จากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องวุฒิการศึกษา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ขณะที่เจ้าตัวยืนยันว่า วุฒิการศึกษาที่ได้มาทั้งหมดเป็นของจริง จบจริงไม่มีการซื้อปริญญา มหาวิทยาลัยที่จบก็ไม่ใช่มหาวิทยาลัยห้องแถว และเตรียมเตรียมดำเนินคดีกลุ่มคนบูลลี่ทั้งหมด
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ ที่ปรากฏชื่อเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
หนึ่ง.
ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ เคยถูกมหาวิทยาลัยมหิดล ปลดจากงาน ด้วยข้อหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยการอ้างอิงข้อความผิดหลักสากล คือ ไม่ใส่เชิงอรรถและอัญประกาศ เจ้าตัวยืนยันถูกกลั่นแกล้ง โดยในช่วงเดือน ส.ค.2565 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาว่า การที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีคำสั่งลงโทษปลด ดร.สุขุมพงศ์ ออกจากการเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดลตามคำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 2474/2561 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2561 เป็นคำสั่งที่มิชอบ มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้มหาวิทยาลัยมหิดลชดใช้ค่าเสียหายแก่ ดร.สุขุมพงศ์ เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 2 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีชั้นศาลปกครองสูงสุด
สอง.
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24-27 ก.พ.2563 ดร.สุขุมพงศ์ เคยถูก นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ อดีตสส. สังกัดพรรคอนาคต พาดพึงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น
โดย ดร.สุขุมพงศ์ ทำหนังสือชี้แจงต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร ถึงข้อเท็จจริงกรณีถูกอภิปรายพาดพิง เรื่องของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นทางการ
ดร.สุขุมพงศ์ ชี้แจงว่า "ส่วนตัวกระผมเอง เป็นเพียงผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ได้รับเชิญให้เป็นประธานสอบวิทยานิพนธ์ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า โดยไม่เคยรู้จักร้อยเอก ธรรมนัส มาก่อน ได้เจอร้อยเอกธรรมนัส เพียงครั้งเดียว คือ วันที่มาสอบวิทยานิพนธ์ เมื่อปี 2557 โดยกระผมมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษและการวิจัย มีผลงาน วิจัยตีพิมพ์จำนวนมาก เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในสถาบันการศึกษาหลายตำแหน่ง และเคยเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกหลายร้อยคน ซึ่งกระผมได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาทุกคน"
เท่ากับว่า ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ประธานตรวจสอบวิทยานิพนธ์ ของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว.จากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ที่โลกกลม จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัย California University FCE ทั้งคู่
ขณะที่ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ ยืนยันต่อสาธารณชนว่า "ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อยู่ในสหรัฐอเมริกานานหลายปี ไม่ได้รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ เป็นคนตรวจทานปรับภาษาอังกฤษจึงมีค่าตรวจ ไม่ใช่รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ตรวจบทความ 1 เดือนเป็นสิบๆ เล่ม ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการยากกว่าภาษาที่ใช้สื่อสารทั่วไป"
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2566 ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ เคยมีบทความวิชาตีพิมพ์เผยแพร่ ในชื่อเรื่องว่า Good Governance Application Affecting Organizational Efficiency of ASEAN Community in the New World System หรือแปลเป็นไทยว่า “การประยุกต์ใช้ธรรมาภิบาลที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพองค์กรของประชาคมอาเซียนในระบบโลกใหม่” ซึ่งมีหัวข้อใกล้เคียง กับ บทความวิชา ของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ที่ตีพิมพ์ เผยแพร่ในปี 2567 ที่ใช้ชื่อว่า Good Governance Principles Affecting Organizational Efficiency of Public Companies in ASEAN Countries หรือแปลเป็นไทยว่า “หลักธรรมาภิบาลที่มีผลต่อประสิทธิภาพองค์กรของบริษัทมหาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน”
จากการตรวจสอบเบื้องต้น เกี่ยวกับเนื้อหาบทความวิชาการ ของ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ และ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ยังพบข้อสังเกตด้วยว่า มีการใช้รูปประโยค และถ้อยคำที่แตกต่าง ในลักษณะการขยายความ ซึ่งทำให้เนื้อหาบทความของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ยาวกว่า บทความของ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์
ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้เพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา ได้นำบทความวิชาการทั้งสองเรื่อง มาเปรียบเทียบกันผ่านเว็บไซต์ชื่อว่า draftable.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์เปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่างกันของเอกสาร โดยเปรียบเทียบกันใน 4 ส่วน ได้แก่ 1. Abstract หรือบทคัดย่อ 2.Introduction หรือบทแนะนำ 3.Literature หรือบททบทวนวรรณกรม 4. Conclusion หรือบทสรุป และ 5. References หรือในส่วนของการอ้างอิง
พบว่ามีการแสดงผล การแทนถ้อยคำ การลบถ้อยคำ การใส่ถ้อยคำเพิ่มใหม่ อยู่หลายจุด รวมถึงข้อความหลายส่วนที่เหมือนกัน และมีหลายส่วนที่มีการปรับแก้
ปรากฏข้อมูลตามการแสดงผลของ เว็บไซต์ draftable.com โดยฝั่งซ้ายจะเป็นบทความของ ศ.ดร.สุขมพงศ์ และ ฝั่งขวาจะเป็นบทความของ พญ.เกศกมล ซึ่งส่วนที่ไม่ได้ถูกด้วยไฮไลท์ด้วยสี นั้นมีความหมายว่าเป็นส่วนที่มีถ้อยคำเหมือนกัน
มีรายละเอียดดังนี้
1.ในส่วนของ Abstract หรือบทคัดย่อ พบว่า จะมีการแทนถ้อยคำอยู่ที่ 12 จุด มีในส่วนของการลบถ้อยคำอยู่ที่ 7 จุด การใส่ถ้อยคำเพิ่มใหม่อยู่ที่ 8 จุด
2.ในส่วนของ Introduction หรือบทแนะนำของวิทยานิพนธ์พบว่า จะมีการแทนถ้อยคำอยู่ที่ 84 จุด มีในส่วนของการลบถ้อยคำอยู่ที่ 39 จุด การใส่ถ้อยคำเพิ่มใหม่อยู่ที่ 19 จุด
3.ในส่วนของ Literature Review หรือบททบทวนวรรณกรม พบข้อมูลว่า มีการแทนถ้อยคำอยู่ที่ 134 จุด มีในส่วนของการลบถ้อยคำอยู่ที่ 22 จุด การใส่ถ้อยคำเพิ่มใหม่อยู่ที่ 54 จุด
4.ในส่วนของ Conclusion หรือบทสรุป พบข้อมูลว่ามีการแทนถ้อยคำอยู่ที่ 17 จุด มีในส่วนของการลบถ้อยคำอยู่ที่ 9 จุด การใส่ถ้อยคำเพิ่มใหม่อยู่ที่ 4 จุด
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบเนื้อหาบทความวิชาการ ของ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ และ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ในฐานะอาจารย์และลูกศิษย์ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ตรวจสอบพบเหล่านี้ เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่า บทความวิชาการทั้ง 2 ชิ้น มีการกระทำฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ผิดระเบียบทางวิชาการใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่
ขณะที่ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ ก็ยืนยันว่า เป็นนักวิชาการที่มีประสบการณ์และความสามารถ ไม่ได้รับจ้างทำวิทยานิพนธ์
ส่วน พญ.เกศกมล ก็ยืนยันว่า วุฒิการศึกษาที่ได้มาทั้งหมดเป็นของจริง จบจริงไม่มีการซื้อปริญญา
อ่านประกอบ:
- โพรไฟล์สั้นๆ 'ดร.สุขุมพงศ์' ปธ.สอบวิทยานิพนธ์ 'พญ.เกศกมล - ธรรมนัส'
- ก่อนปมร้อนเรียนจบสหรัฐ ! พลิกธุรกิจ ‘เกศกมล’ สว.อันดับหนึ่ง กก./ถือหุ้น 4 บริษัท
- ‘เกศกมล’ สว. อันดับหนึ่ง เคยอยู่ทีมวิจัยสมุนไพรต้านโควิด มอบผลิตภัณฑ์ให้ 'ธรรมนัส'
- ย้อนข้อมูล ม.แคลิฟอร์เนีย! โลกกลม 'ธรรมนัส' เรียนจบที่เดียวกัน 'เกศกมล' สว.อันดับหนึ่ง