"...ส่วนตัวกระผมเอง เป็นเพียงผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ได้รับเชิญให้เป็นประธานสอบวิทยานิพนธ์ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า โดยไม่เคยรู้จักร้อยเอก ธรรมนัส มาก่อน ได้เจอร้อยเอกธรรมนัส เพียงครั้งเดียว คือ วันที่มาสอบวิทยานิพนธ์ เมื่อปี 2557 โดยกระผมมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษและการวิจัย มีผลงาน วิจัยตีพิมพ์จำนวนมาก เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในสถาบันการศึกษาหลายตำแหน่ง และเคยเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกหลายร้อยคน ซึ่งกระผมได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาทุกคน..."
ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ อุปนายกสมาคมนิติธรรมหรรษา (ประเทศไทย) ปรากฏชื่อเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของ พญ.เกศกมล ปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ป้ายแดง จากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัย California University FCE สหรัฐอเมริกา ขณะที่ พญ.เกศกมล ยืนยันว่า วุฒิการศึกษาที่ได้มาทั้งหมดเป็นของจริง จบจริงไม่มีการซื้อปริญญา มหาวิทยาลัยที่จบก็ไม่ใช่มหาวิทยาลัยห้องแถว และเตรียมเตรียมดำเนินคดีกลุ่มคนบูลลี่ทั้งหมด
โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2567 ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ ออกมาอธิบายยืนยันข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน เกี่ยวกับวุฒิการศึกษา ของ พญ.เกศกมล ปลี่ยนสมัย ว่า
1. ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโท และเป็นประธานตรวจสอบวิทยานิพนธ์ให้ พญ.เกศกมล และช่วยแนะนำภาษาอังกฤษ
2. มหาวิทยาลัย California University FCE จดทะเบียนเพื่อดำเนินกิจการเป็นมหาวิทยาลัยประเมินเกรด ประเมินวุฒิการศึกษา มีสิทธิมอบปริญญาตรี โท เอก หรือเทียบเท่า มหาวิทยาลัยเปิดดำเนินการมาแล้ว 22 ปี ได้รับการรับรองตรงจากกระทรวงศึกษา ของสหรัฐฯ โดยไม่ผ่านสมาคม หากไปค้นข้อมูลในสมาคมก็จะไม่พบชื่อ เอกสารสำเร็จการศึกษา มีการเซ็นรับรองความถูกต้องในการออกปริญญาบัตร โดยเทศมณฑลนครลอสแอนเจอลิส แล้วส่งไปประทับตรายังกระทรวงการต่างประเทศ
"มหาวิทยาลัย California University FCE ตั้งมา 22 ปี หากผิดกฎหมายคงถูกสั่งปิดไปแล้ว"
3. เรื่องของการเรียน ไม่ต้องเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัย ผู้เรียนต้องทำรายงานส่ง ตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการ วิทยานิพนธ์ โดยหมอเกศทำรายงานหลายหัวข้อ เช่น กลยุทธ์การจัดการองค์กร ธรรมาภิบาล
4. พญ.เกศกมล ไม่ได้เอาวุฒิจากมหาวิทยาลัยในไทยไปเทียบวุฒิปริญญาเอก แต่เป็นการยื่นเรื่องไป เพื่อทำรายงานส่งเทียบรายวิชา ทำงานวิจัยเพื่อเทียบ และยื่นคำร้องเพื่อขอรับวุฒิปริญญาเอก
"ในการทำวิจัยก็มีทั้งหัวข้อเดี่ยวและการทำงานเป็นกลุ่มด้วย ซึ่งมีการตีพิมพ์ต่อเนื่อง ทั้งนี้สถาบันเป็นลักษณะการเทียบประเมิน ซึ่งเราทำรายงานส่งทำวิจัยส่งไปเทียบได้ ตามระยะเวลาและหัวข้อที่กำหนด ที่ใกล้เคียงกับสาขาที่เรียน ไม่จำเป็นต้องไปเรียน ซึ่งสถาบันได้รับอนุมัติให้เทียบอยู่แล้ว คือให้ปริญญาเทียบเท่า โดยรายงานจะเทียบเป็นรายวิชาที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องทำรายงานส่งให้ครบตามรายวิชา และการตีพิมพ์งานวิจัยก็สามารถนำไปเทียบได้ "
5. ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อยู่ในสหรัฐอเมริกานานหลายปี ไม่ได้รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ เป็นคนตรวจทานปรับภาษาอังกฤษจึงมีค่าตรวจ ไม่ใช่รับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ตรวจบทความ 1 เดือนเป็นสิบๆ เล่ม ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการยากกว่าภาษาที่ใช้สื่อสารทั่วไป
หลังการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน แทน พญ.เกศกมล ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ พบว่า
หนึ่ง.
ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ เคยถูกมหาวิทยาลัยมหิดล ปลดจากงาน ด้วยข้อหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยการอ้างอิงข้อความผิดหลักสากล คือ ไม่ใส่เชิงอรรถและอัญประกาศ เจ้าตัวยืนยันถูกกลั่นแกล้ง โดยในช่วงเดือน ส.ค.2565 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาว่า การที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีคำสั่งลงโทษปลด ดร.สุขุมพงศ์ ออกจากการเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดลตามคำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 2474/2561 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2561 เป็นคำสั่งที่มิชอบ มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้มหาวิทยาลัยมหิดลชดใช้ค่าเสียหายแก่ ดร.สุขุมพงศ์ เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 2 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีชั้นศาลปกครองสูงสุด
สอง.
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24-27 ก.พ.2563 ดร.สุขุมพงศ์ เคยถูก นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ อดีตสส. สังกัดพรรคอนาคต พาดพึงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น
โดย ดร.สุขุมพงศ์ ทำหนังสือชี้แจงต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร ถึงข้อเท็จจริงกรณีถูกอภิปรายพาดพิง เรื่องของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นทางการ
ดร.สุขุมพงศ์ ชี้แจงว่า "ส่วนตัวกระผมเอง เป็นเพียงผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ได้รับเชิญให้เป็นประธานสอบวิทยานิพนธ์ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า โดยไม่เคยรู้จักร้อยเอก ธรรมนัส มาก่อน ได้เจอร้อยเอกธรรมนัส เพียงครั้งเดียว คือ วันที่มาสอบวิทยานิพนธ์ เมื่อปี 2557 โดยกระผมมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษและการวิจัย มีผลงาน วิจัยตีพิมพ์จำนวนมาก เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในสถาบันการศึกษาหลายตำแหน่ง และเคยเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกหลายร้อยคน ซึ่งกระผมได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาทุกคน"
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังตรวจสอบไม่พบว่า ดร.สุขุมพงศ์ เป็นกรรมการผู้ถือหุ้นบริษัททำธุรกิจด้วยหรือไม่
ส่วน สมาคมนิติธรรมหรรษา (ประเทศไทย) นั้น นายทะเบียนสมาคมประจําจังหวัดปทุมธานี ได้มีคําสั่งให้รับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 มีรองศาสตราจารย์ ดร.นิติกานต์ ธรรมหรรษากุล เป็นนายกสมาคม ที่ตั้งสํานักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านเอื้อประชารังสิต เลขที่ 68/6 หมู่ที่ 7 ตําบลสวนพริกไทย อําเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี , สํานักงานสาขาของสมาคมตั้งอยู่ ณ สํานักงานธรรมหรรษาทัวร์ เลขที่ 71/4 ถนนบรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ทั้งหมดนี้ คือ โพรไฟล์สั้น ๆ ของ ดร.สุขุมพงศ์ ชาญนุวงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษา ประธานตรวจสอบวิทยานิพนธ์ ของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว.จากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า
ที่โลกกลม จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัย California University FCE ทั้งคู่ ตามที่นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้