‘ชัชชาติ’ ทราบแล้ว ป.ป.ช.ท้วงติงเรื่องเช่ารถขยะ 3,993 ล้านบาท ตอบ 3 ประเด็น ชงของบปี 68 / เปิดกว้างเพราะมีคนยื่นแข่งขัน 18 ราย / ยันการบริหารไม่มีปัญหา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเห็นชอบ ‘ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการดำเนินโครงการเช่ารถเก็บขยะมูลฝอย ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)’ มูลค่าโครงการรวม 3,993.76 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เสนอเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป นั้น
- ป.ป.ช.ชี้ กทม.ส่อล็อกสเปค เช่า‘รถเก็บขยะไฟฟ้า’3.9 พันล.-ชง‘ครม.’รับข้อเสนอป้องกันทุจริต
- ฉบับเต็ม! 'ป.ป.ช.'ชำแหละ 7 ปม เช่า'รถเก็บขยะไฟฟ้า'กทม. 3.9 พันล. ส่อล็อกสเปค-ลัดขั้นตอน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ว่า กทม. ไม่ละเลยข้อท้วงติงจากสำนักงาน ป.ป.ช. ตอนนี้ข้อมูลของ กทม. ที่มีอยู่ในมือของสำนักงาน ป.ป.ช. คือข้อมูลเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทยื่นข้อเสนอมาแล้ว จำนวน 18 บริษัท เป็นนิมิตหมายอันดีที่มีบริษัทเข้ามาแข่งขันกันมาก และยืนยันว่า กทม. จะต้องดำเนินการให้มีความโปร่งใสอย่างแน่นอน ซึ่งข้อมูลทุกขั้นตอนประชาชนสามารถตรวจสอบได้
“จริง ๆ แล้วนโยบายของรัฐบาลก็อยากให้หน่วยงานราชการเปลี่ยนจากรถสันดาปเป็นรถไฟฟ้า เพื่อมุ่งสู่ระบบนิเวศสีเขียว (Green Ecosystem) ลดฝุ่น PM2.5 ลดมลภาวะทางเสียง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถขยะในปัจจุบันค่อนข้างเยอะ กรุงเทพมหานครเองคงไม่สามารถใช้รถน้ำมันตลอดไปได้ ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราเองก็พยายามจะเรียนรู้อดีตที่ผ่านมา ทำปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้น ต่างจังหวัดบางจังหวัดทำแล้ว มีการใช้รถขยะไฟฟ้าแล้ว ซึ่งจะหาโอกาสเข้าไปดู” นายชัชชาติ กล่าว
@ของบปี 68 เช่ารถขยะไฟฟ้า
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวต่อว่า หนังสือที่ ป.ป.ช.ทักท้วงมา เข้าใจว่ามี 3 ข้อ คือ
1.เรื่องข้อบัญญัติปี 2566 กทม.ไม่ได้ระบุว่าเป็นรถพลังงานไฟฟ้า จึงเกรงว่าจะผิดเงื่อนไขข้อบัญญัติ เรื่องนี้นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมนำเรื่องนี้เข้าสภากทม.อีกครั้งเพื่อของบประมาณปี 2568 โดยการระบุของบประมาณเพื่อจัดหารถขยะพลังงานไฟฟ้าอย่างชัดเจน
2.ป.ป.ช.เกรงว่าการกำหนดขอบเขตสัญญาเช่ารถ (TOR) จะไม่เปิดกว้างให้เอกชนมีการแข่งขันอย่างโปร่งใส คิดว่า ป.ป.ช.คงเห็นตัวอย่างที่ผ่านมา ว่า กทม.เคยเช่ารถขยะระบบดีเซลแบบเดิมมากว่า 20 ปี ซึ่งมีบริษัทเดียวที่เป็นผู้ได้รับสัมปทานมาโดยตลอด ป.ป.ช.จึงอาจเกรงเรื่องความไม่โปร่งใส ที่ผ่านมาจากการเปิดประกวดราคาครั้งแรก มีผู้ให้ความเห็นกว่า 18 บริษัท เชื่อว่า กทม.ดำเนินการอย่างโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเปิดเผย ไม่มีการล็อกสเปก เชื่อว่า ป.ป.ช.อาจกังวลจากอดีตที่ผ่านมา
3.ป.ป.ช.กังวลเรื่องความพร้อมในการบริหารจัดการรถพลังงานไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์ กำลังคน ค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจาก กทม.ใช้รถระบบดีเซลมาตลอด การเปลี่ยนแปลงจึงอาจสร้างความกังวลตามปกติ จากตัวอย่าง รถเมล์ในกรุงเทพฯ กว่า 1,500 คัน ในภาพรวมส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร รวมถึงเทศบาลบางแห่งในต่างจังหวัดมีการนำรถขยะพลังงานไฟฟ้ามาใช้แล้ว เบื้องต้นยังไม่พบปัญหาเช่นกัน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)
@ไม่เคยใช้รถไฟฟ้า จึงมีความกังวลเป็นธรรมดา
อย่างไรก็ตาม โครงการรถขยะพลังงานไฟฟ้าเป็นการเช่ารถ ไม่ใช่การซื้อรถ ดังนั้น ผู้ให้เช่ามีหน้าที่รับผิดชอบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับรถอยู่แล้ว เช่น มีรถทดแทนกรณีรถเดิมเสีย เป็นต้น สิ่งสำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก กทม.ยังไม่เคยใช้รถพลังงานไฟฟ้า ทุกคนจึงมีความกังวล ส่วนตัวกังวลเรื่องจุดชาร์จไฟ ต้องดูข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงอย่างถี่ถ้วนในเรื่องนี้
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ กทม.กับ ป.ป.ช. มีความร่วมมือมาโดยตลอด เป็นเรื่องดีที่มีการท้วงติงมา เพราะโครงการยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ กทม.มีความรอบคอบมากขึ้น ซึ่งเรื่องที่ ป.ป.ช.ชี้มาคือโครงการระยะ 5 ปี ในส่วนการเช่ารถขยะชั่วคราว 270 วันยังดำเนินการต่อไป ซึ่งเรื่องจัดการขยะเป็นเรื่องหลักของ กทม. หากใช้ระบบไฟฟ้าจะลดค่าใช้จ่ายในการเช่าลงร้อยละ 20 ค่าพลังงานลดลงครึ่งหนึ่ง
“เรื่องค่าใช้จ่ายไม่สำคัญเท่าการสร้างระบบนิเวศของรถพลังงานไฟฟ้า นำไปสู่สังคมสีเขียว หากเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ในอนาคตจะมีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้าและสถานีชาร์จมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับผมถ้าเช่ารถน้ำมันแบบเดิม ราคาเดิม ก็ง่ายเลย เพราะเคยเช่ามา 20 ปี แต่เชื่อว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น ถ้ากล้าเปลี่ยนต้องกล้าทำ" นายชัชชาติ กล่าว