รายงาน UN เผยปี 66 บริษัทในไทยส่งชิ้นส่วนอาวุธ-วัสดุให้เผด็จการเมียนมา 4.4 พัน ล.เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ส่งออกชิ้นส่วนอาวุธ 2.2 พัน ล. พบบางส่วนเป็นชิ้นส่วน ฮ.ใช้โจมตีใส่พลเรือน ชี้ไทยส่อเป็นแหล่งส่งออกใหม่หลังสิงคโปร์ประกาศคุมบริษัทในประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวอ้างอิงจากสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับกรณีบริษัทเอกชนในประเทศไทยมีส่วนในการส่งอาวุธให้กับเผด็จการทหารเมียนมาว่า มีรายงานจากสหประชาชาติหรือยูเอ็นระบุว่าแม้ว่าความพยายามระหว่างประเทศจะได้ผลในการลดขีดความสามารถในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารเมียนมา แต่ว่ากองทัพเมียนมายังคงสามารถเข้าถึงทั้งเงินและอาวุธสำหรับการทำสงครามได้
รายงานจากนายทอม แอนดรูวส์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษยูเอ็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา พบว่ามูลค่าอาวุธ เทคโนโลยีแบบใช้สองทาง (เทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้ทั้งในกิจการพลเรือนและการทหาร) อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการผลิต และวัสดุอื่นๆ ที่รัฐบาลเผด็จการทหารได้นำเข้ามาตลอดจนถึงเดือน มี.ค. 2567 นั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 253 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9,305,972,500 บาท)
รายงานระบุต่อไปว่ามูลค่านี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1 ใน 3 เนื่องจากความพยายามของสิงคโปร์ในการป้องกันไม่ใช้บริษัทในประเทศตัวเองสามารถช่วยเหลือรัฐบาลทหารได้
นายแอนดรูวส์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สด้วยว่าเมื่อพิจารณาการจัดซื้อโดยหน่วยงานที่ควบคุมโดยกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลทหารเมียนมา พบว่าการจัดซื้อทางทหารมีมูลค่า 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (23,174,865,000 บาท) ระหว่างปี 2565 ถึง 2567 โดยยอดการส่งออกจากสิงคโปร์จาก 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4,046,900,000 บาท) ในปีงบประมาณ 2565 ไปเหลือแค่เพียง 10 ล้านดอลลร์สหรัฐฯ (367,900,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาอย่างไทยได้เติมเต็มช่องว่างบางส่วน รายงานระบุว่า บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยได้ส่งออกชิ้นส่วนอาวุธและวัสดุที่เกี่ยวข้องไปยังเมียนมา คิดเป็นมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4,413,600,000 บาท) ในปีงบประมาณ 2566 เทียบกับ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,206,800,000 บาท) ในปีก่อนหน้า
“ตัวอย่างเช่นในปี 2566 บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยกลายเป็นแหล่งอะไหล่สําหรับเฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi-17 และ Mi-35 ให้กับสภาทหารเมียนมา (SAC) โดยในปีก่อนหน้ามีบริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ทำหน้าที่จัดหาอะไหล่เหล่านี้” รายงานระบุ
โดย SAC ได้มีการใช้เฮลิคอปเตอร์เหล่านี้ขนส่งทหาร และโจมตีทางอากาศใส่เป้าหมายพลเรือน อาทิ ในเดือน เม.ย. 2566 มีการโจมตีใส่หมู่บ้านปาซิกี (Pazigyi) ในภูมิภาคสะกาย (Sagaing) สังหารผู้คนไปประมาณ 170 คน รวมถึงเด็ก 40 คน
สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เคยให้สัมภาษณ์ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่าไทยจะไม่เลือกข้างในเหตุการณ์ความขัดแย้งเมียนมา ขณะที่กองทัพเมียนมายืนยันว่าเหตุการณ์โจมตีหมู่บ้านปาซิกีสามารถสังหารสมาชิกกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านได้
เรียบเรียงจาก:https://ca.news.yahoo.com/myanmar-junta-still-able-access-070352998.html