‘สมาคมธนาคารไทย’ โต้รายงานฯ ‘ยูเอ็น’ ยืนยัน ‘แบงก์ไทย’ มีนโยบายชัดเจน ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธของ ‘องค์กรทางทหารเมียนมา’
...............................
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. สมาคมธนาคารไทย ชี้แจง กรณีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลเมียนมา โดยมีเนื้อหาว่า จากกรณี มีการเปิดเผยรายงานของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยระบุว่า มีธนาคารในประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลักให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา นั้น
สมาคมธนาคารไทย ขอชี้แจงว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลกและตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้ยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กรกำกับดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งมีการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินของประเทศไทย
นอกจากนี้ ธนาคารสมาชิก ยังมีหน่วยงาน Compliance ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติงานของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงฐานข้อมูลของบุคคล องค์กร และประเทศที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีรายชื่ออยู่ในรายการที่ห้ามทำธุรกรรมธนาคาร ซึ่งแต่ละธนาคารได้ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย มีนโยบายชัดเจน ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และห้ามนำธุรกรรมทางเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงเย็นวันเดียวกัน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงว่า สำนักงาน ปปง. ได้กำชับให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประกาศ แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ในการแสดงตนของลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและการทำธุรกรรมตามมาตรการที่สำนักงาน ปปง. ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม หากสำนักงาน ปปง. ตรวจพบว่ามีสถาบันการเงินมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องแล้ว สำนักงาน ปปง. จะพิจารณาดำเนินการกับสถาบันการเงินนั้นตามอำนาจ หน้าที่ ต่อไป
ขณะที่ ธปท. ระบุว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของ Financial Action Task Force (FATF) และมาตรการของสำนักงาน ปปง. มาอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มข้น โดย ธปท. พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ปปง. ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
อ่านประกอบ :
รายงาน UN เผยปี 66 เอกชนไทยส่งวัสดุอาวุธ ชิ้นส่วน ฮ.โจมตี ให้เผด็จการเมียนมา 4.4 พัน ล.