ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาสั่งลงโทษข้อหายุยงปลุกปั่น ขัดขวางการเลือกตั้ง จำคุก 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' 1 ปี ไม่รอลงอาญา แกนนำ กปปส.คนอื่นโดน 1 ปี 8 ด. ก่อนหน้านี้เจ้าตัวลั่นน้อมรับผล พกเสื้อผ้ากางเกงขาสั้นมาพร้อม ล่าสุดได้ประกันตัวสู้ชั้นฏีกา ยึดพาสปอร์ต เดินทางออกนอกประเทศต้องขออนุญาต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณี ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ คดี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับพวกรวม 39 ราย เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่น ๆ กรณีม็อบ กปปส. ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2556-2557 สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 27 มิ.ย.2567 ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก
ต่อมาในช่วงเที่ยง นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความนายสุเทพ เปิดเผยว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษามีรายละเอียดค่อนข้างมาก เเต่เท่าที่จดมาทันคือศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในข้อหากบฎเเละก่อการร้ายพิพากษาลดโทษจำคุก นายสุเทพกับพวก ที่เดิมโดนตั้งเเต่ 4 -9ปี กว่าก็ลดกันมาเหลือคนละ 1 ปี -1ปีเศษ เเบบนายสุเทพกับนายถาวร เสนเนียม เหลือคนละ 1 ปี เเต่ไม่รอลงอาญา เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษเนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเหตุต่อเนื่องกัน ต่างจากศาลชั้นต้นที่มองเป็นการกระทำหลายกรรมโทษเลยสูง โดยที่พิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญาทั้งหมด 14 คน ส่วนรายอื่นก็มีพิพากษาเเก้ยกฟ้อง เเละมีเพิ่มโทษ จำเลยที่ไม่รอลงอาญาขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกันในชั้นฎีกา ซึ่งคาดว่าศาลจะมีคำสั่งได้ในวันนี้เลยเรื่องจากศาลชั้นต้นสามารถสั่งเองได้เเต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจว่าจะส่งศาลฎีกาหรือไม่หลักทรัพย์เดิมเราเตรียมไว้พร้อมเเล้ว
"พอจะสรุปได้ว่า ข้อหากบฎ ก่อการร้าย ยกฟ้องเหมือนเดิม แต่โดนข้อหายุยงปลุกปั่น มั่วสุม ขัดขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ โดยศาลพิจารณาเห็นว่าการกระทำบางส่วนเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ทั้งนี้มีจำเลยทั้ง 39 คน เสียชีวิต 2 คน เหลือ 37 คน สรุปว่าศาลไม่ยกฟ้อง รอการลงโทษ 14 คน ตอนนี้กำลังยื่นหลักทรัพย์อยู่ ซึ่งเตรียมหลักทรัพย์มาเท่าศาลชั้นต้น เชื่อว่าพฤติกรรมของจำเลยทั้งหมดไม่เข้าข้อหลบหนี ทำผิดซ้ำ ก่อความวุ่นวาย น่าจะประกันได้ โดยอยู่ที่ดุลพินิจของศาล ทั้งนี้ตัวเลขอาจผิดพลาดได้ ต้องรอคำพิพากษาอีกที" นายสวัสดิ์กล่าว
นายสวัสดิ์ ให้ข้อมูลอีกว่า ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาว่า ผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง ได้แก่ นายชุมพล จุลใส จำเลยที่ 3, นายอิสสระ สมชัย จำเลยที่ 5, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำเลยที่ 8, นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ จำเลยที่ 16, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ จำเลยที่ 24, นายสำราญ รอดเพชร จำเลยที่ 33, นางทยา ทีปสุวรรณ จำเลยที่ 38 ให้จำคุก 8 เดือน
น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก จำเลยที่ 10, นายถนอม อ่อนเกตุพล จำเลยที่ 14, นายสาธิต เซกัลป์ จำเลยที่ 17 ศาลให้เสียค่าปรับ แต่ชำระค่าปรับไปในศาลชั้นต้นแล้ว
ส่วนโทษของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 โทษจำคุกจาก 5 ปี ลดเหลือ 1 ปี ไม่รอลงอาญา
นายชุมพล จุลใส จำเลยที่ 3 จำคุก 1 ปี 8 เดือน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำเลยที่ 4 จำคุก 1 ปี
นายถาวร เสนเนียม จำเลยที่ 7 จำคุก 1 ปี
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำเลยที่ 8 จำคุก 1 ปี 8 เดือน
นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ จำเลยที่ 16 จำคุก 1 ปี 8 เดือน
เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ จำเลยที่ 24 จำคุก 1 ปี 8 เดือน
นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่ 29 จำคุก 1 ปี
นายอมร อมรรัตนานนท์ จำเลยที่ 34 จำคุก 1 ปี
นายกิตติชัย ใสสะอาด จำเลยที่ 37 จำคุก 1 ปี
จำเลยที่ยกฟ้อง 19 คน ได้แก่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย จำเลยที่ 2, นายวิทยา แก้วภราดัย จำเลยที่ 6, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จำเลยที่ 9, นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ จำเลยที่ 13, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี จำเลยที่ 18, พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี จำเลยที่ 19, พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ จำเลยที่ 20, นายแก้วสรร อติโพธิ จำเลยที่ 21, นายไพบูลย์ นิติตะวัน จำเลยที่ 22, นายถวิล เปลี่ยนศรี จำเลยที่ 23, นายมั่นแม่น กะการดี จำเลยที่ 25, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ จำเลยที่ 27, นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 28, นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 30, นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด จำเลยที่ 31, พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์ จำเลยที่ 32, นายพิเชษฐ พัฒนโชติ จำเลยที่ 35, นายสมบูรณ์ ทองบุราณ จำเลยที่ 36, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง จำเลยที่ 39
ต่อมาเวลา 16.20 น. นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 14 ระหว่างฎีกา โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในศาลชั้นต้นประมาณรายละ 6-8 เเสนบาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นได้รับอนุญาตจากศาล โดยให้นำหนังสือเดินทางมาวางศาลไว้
ขณะที่ นายสุเทพ กล่าวกับสื่อมวลชนภายหลังจากได้รับการประกันตัวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม สำหรับพวกตนเองที่เป็นจำเลย ผ่านการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น ไม่ว่าศาลจะพิพากษาอย่างไรก็น้อมรับคำพิพากษา ตนเองและพวกจะสู้คดีต่อในชั้นศาลฎีกา
ขณะที่ก่อนหน้านั้น นายสุเทพ เปิดเผยก่อนขึ้นฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุว่า ไม่กังวล ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไรก็พร้อมน้อมรับ ในคำพิพากษาฬาลชั้นต้นที่ตนเองถูกสั่งจำคุก ก็ได้เข้าไปนอนเรือนจำ 2 คืนก่อนได้รับการประกันตัวออกมา
"หากคราวนี้ถูกสั่งจำคุกอีก ก็เตรียมเสื้อผ้าชุดกางเกงขาสั้นมาไว้พร้อมแล้ว พร้อมยกมือไหว้ขอบคุณมวลชนที่ยังคงให้กำลังใจมาจนถึงทุกวันนี้" นายสุเทพ ระบุ
สำหรับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 - 1 พ.ค. 2557 ต่อเนื่องกัน นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือกลุ่ม กปปส. มีนายสุเทพ เป็นเลขาธิการ โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส. จากนั้นจะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค. - 2 มี.ค. 2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกันนายสุเทพกับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัว
โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 15 ราย ได้แก่
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำคุก 5 ปี
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน
นายถาวร เสนเนียม จำคุก 5 ปี
นายชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน
เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ จำคุก 4 ปี 16 เดือน
นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพระพุทธะอิสระ) จำคุก 4 ปี 8 เดือน
นายอิสสระ สมชัย จำคุก 7 ปี 16 เดือน
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำคุก 3 ปี นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำคุก 2 ปี
นายสุริยะใส กตะศิลา จำคุก 2 ปี
นายคมสัน ทองศิริ จำคุก 2 ปี
นายสำราญ รอดเพชร จำคุก 2 ปี 16 เดือน
และนายอมร อมรรัตนานนท์ จำคุก 20 เดือน
ส่วนจำเลยที่ศาลพิพากษาจำคุก แต่ให้รอลงอาญา จำนวน 12 ราย ได้แก่ นายวิทยา แก้วภราดัย จำคุก 1 ปี เเละปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี,
นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 12 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี (เสียชีวิตแล้ว) , นายถนอม อ่อนเกตุพล จำคุก 1 ปีปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายสาธิต เซกัลป์ จำคุก 2 ปี ปรับ 26,666 รอลงอาญา 2 ปี,
พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, พลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายมั่นแม่น กะการดี จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี,
นายพิเชษฐ พัฒนโชติ จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายกิตติชัย ใสสะอาด จำคุก 4 เดือน ปรับ 6,666 บาท รอลงอาญา 2 ปี และนางทยา ทีปสุวรรณ จำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 26,666 บาทรอลงอาญา 2 ปี
ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยจำนวน 12 ราย ได้แก่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย,นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์, นางสาวรังสิมา รอดรัศมี, นายแก้วสรร อติโพธิ, นายไพบูลย์ นิติตะวัน, นายถวิล เปลี่ยนศรี, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรศุกร์, นายนายพิภพ ธงไชย, นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด, พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์, นายสมบูรณ์ ทองบุราณ, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เนื่องจากบางรายเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมเท่านั้น เเม้บางรายจะเป็นเเกนนำในการชุมนุมด้วยก็ตาม เเต่ความผิดที่จำเลยเเต่ละรายกระทำนั้น น้อยกว่าจำเลยอื่น อีกทั้งไม่ปรากฎว่า มีพฤติการณ์อุกอาจ หรือรุนเเรงจากการชุมนุม ประกอบกับไม่ปรากฎว่าจำเลยดังกล่าวเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยดังกล่าวกลับตัวเป็นพลเมืองดี
นอกจากนี้ยังให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 6 ราย ได้แก่ นายชุมพล จุลใส, นายอิสสระ สมชัย, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ, นายสำราญ รอดเพชร และนางทยา ทีปสุวรรณ นอกจากนี้ให้นับโทษของนายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายมั่นแม้น กะการดี และนายสุริยะใส กตะศิลา ต่อตามท้ายฟ้องด้วย
จำหน่ายคดี 1 ราย เนื่องจากเสียชีวิต ได้แก่ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ
ส่วนในความผิดข้อหากบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 นั้น ศาลพิจารณาแล้วพบว่า จำเลยทั้งหมดไม่เข้าข่าย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการนัดหมายฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ ถูกเลื่อนมาหลังเกิดกรณีแกนนำ กปปส.รายหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในคดีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ลงโทษจำคุกแกนนำ กปปส.โดยไม่รอลงอาญา 15 ราย โดยเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
โดยแกนนำ กปปส.รายนี้อ้างว่า มีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ 2 รายร่วมมือกันในการเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์หลายครั้ง ระบุว่า สามารถจ่ายสำนวนให้กับองค์คณะในศาลอุทธรณ์ที่ ‘คุ้นเคยกับท่าน’เพื่อให้พิจารณายกฟ้องในทุกกรรมเพื่อเรื่องจะได้ไม่ต้องไปถึงศาลฎีกา และยังอ้างว่า มีการพบกับผู้พากษาที่เป็น ‘ตัวแทนท่าน’ หลายครั้ง ครั้งแรกเรียกร้องเงินสูงถึง 175 ล้านบาท แต่ได้รับการปฏิเสธ ต่อมาเรียกร้องลดลงเหลือ 49 ล้านบาท และ 35 ล้านบาท
ต่อมา ประธานศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มีมูล และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงในเวลาต่อมา ปัจจุบันผลการสอบสวนวินัยร้ายแรงเสร็จสิ้นแล้ว รอเสนอเข้าที่ประชุมอนุกรรมการ ก.ต. เพื่อเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณาผลต่อไป
ขณะที่ในช่วงเดือน ม.ค.2567 ที่ประชุม ก.ต. มีมติ 14 ต่อ 1 เสียง ให้พักราชการข้าราชการตุลาการรายนี้ไปแล้ว
อ่านประกอบ :
- ยื่นเรื่องมาจริง! ศาลยธ.แจงกรณีแกนนำกปปส.ขอความเป็นธรรม-ปธ.ศาลอุทธรณ์ตั้งสอบตามขั้นตอน
- มติ 14 ต่อ1 ก.ต.สั่งพักราชการตุลาการ พันคดีแกนนำ กปปส.ร้องอ้างถูกเรียกเงิน 175 ล.
- ศาลอุทธรณ์นัด 21 มี.ค.อ่านคำพิพากษา'สุเทพ'-38 แกนนำ กปปส.คดีกบฎ หลังชั้นต้นให้จำคุก 5 ปี
- 'สุเทพ-3 รมต.'นอนคุก! รออุทธรณ์พิจารณาให้ประกันหรือไม่หลังศาลพิพากษาคดีม็อบ กปปส.
- เทียบ 2 คดีสินบน :ผู้พิพากษาอุทธรณ์เรียก 20 ล้าน คุก 5 ปี- กปปส.175 ล.โทษหนักแค่ไหน?