สนง.ศาลยุติธรรม แพร่มติ ก.ต. เห็นชอบพักราชการขรก.ตุลาการ 1 ราย หลังถูกตั้งกก.สอบสวนวินัยร้ายแรง พันกรณีแกนนำ กปปส.ร้อง อ้างถูกเรียก 175 ล้านช่วยหลุดคดี เผยลงมติ 14 ต่อ 1 เสียง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2567 สำนักงานศาลยุติธรรม ได้เผยแพร่ผลการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 2/2567 ที่มีมติเห็นชอบพักราชการข้าราชการตุลาการจำนวน 1 ราย
แหล่งข่าวจาก ก.ต. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ที่ประชุม ก.ต.ครั้งนี้ มีมติ 14 ต่อ 1 เสียง ให้พักราชการข้าราชการตุลาการรายนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการถูกสอบสวนวินัยร้ายแรง จากกรณีแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) รายหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในคดีที่ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ลงโทษจำคุกแกนนำ กปปส.โดยไม่รอลงอาญา 15 ราย โดยเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
โดยแกนนำ กปปส.รายนี้อ้างว่า มีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลอุทธรณ์ 2 รายร่วมมือกันในการเรียกร้องเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือการพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์หลายครั้ง ระบุว่า สามารถจ่ายสำนวนให้กับองค์คณะในศาลอุทธรณ์ที่ ‘คุ้นเคยกับท่าน’เพื่อให้พิจารณายกฟ้องในทุกกรรมเพื่อเรื่องจะได้ไม่ต้องไปถึงศาลฎีกา และยังอ้างว่า มีการพบกับผู้พากษาที่เป็น ‘ตัวแทนท่าน’ หลายครั้ง ครั้งแรกเรียกร้องเงินสูงถึง 175 ล้านบาท แต่ได้รับการปฏิเสธ ต่อมาเรียกร้องลดลงเหลือ 49 ล้านบาท และ 35 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายหลังสำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวเรื่องนี้ นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ได้ชี้แจงต่อสาธารณะว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทราบว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ได้มีการยื่นหนังสือลักษณะร้องขอความเป็นธรรมทางคดีต่อประธานศาลอุทธรณ์ เนื่องจากเป็นคดีระหว่างชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โดยประธานศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ได้รายงานกรณีดังกล่าวให้ประธานศาลฎีกาทราบตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปตามกรอบระยะเวลาการสอบสวนข้อเท็จจริงของระเบียบปฏิบัติศาลยุติธรรม โดยเมื่อผลสรุปออกมาแล้วศาลอุทธรณ์จะรายงานประธานศาลฎีกาทราบต่อไป
ปัจจุบันกรณีนี้ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเป็นทางการไปแล้ว
สำหรับขั้นตอนต่อไปภายหลังจากที่ คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงสรุปผลการสอบสวนเป็นทางการแล้ว จะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ต.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งผลการพิจารณาข้าราชการตุลาการรายนี้ อาจจะมีความผิดหรือไม่มีความผิดก็ได้ แต่ถ้ามีความผิดบทลงโทษจะมี 2 ส่วน คือ ปลดออก กับไล่ออกราชการ