‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง ปม ‘เพื่อไทย’ ใช้ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ หาเสียง-ไม่ชี้แจงรายละเอียดที่มา ‘แหล่งเงิน’-‘ทักษิณ’ ชี้นำกิจกรรมพรรค ชี้ ‘ยังไกลเกินกว่าเหตุ-เป็นเพียงการแสดงความเห็นต่าง’
...........................................
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายคงเดชา ชัยรัตน์ (ผู้ร้อง) ซึ่งมีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การกระทำของพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 1) ที่นำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ,การมีพฤติการณ์ยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 4) ชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง
การกระทำของคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่นำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ และการกระทำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 3) ในการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วนแก่ประชาชน กระทำการเป็นสื่อมวลชนประเภทสื่อออนไลน์ฯ ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 15/2567) ไว้พิจารณา
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ และยังไกลเกินกว่าเหตุที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสี่กระทำการใดๆ ที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง คำร้องเป็นเพียงการแสดงความเห็นต่างของผู้ร้องเท่านั้น
สำหรับกรณีนี้ นายคงเดชา ชัยรัตน์ (ผู้ร้อง) มีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 15/2567) ว่า การกระทำของพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 1) ที่นำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้คะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ได้มาจากเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
และการมีพฤติการณ์ยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 4) ชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง ทำให้การใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมาย การกระทำของคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่นำนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
การกระทำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 3) ในการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วนแก่ประชาชน กระทำการเป็นสื่อมวลชนประเภทสื่อออนไลน์ อันเป็นลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี และมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแต่งตั้งบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
และการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 4 ที่อาจเป็นการชี้นำกิจกรรมของผู้ถูกร้องที่ 1 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพทางการเมือง เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะรื้อ‘แผนการคลังฯ’รอบ 2 เพิ่มงบปี 67 เป็น 3.6 ล้านล. ดันหนี้สาธารณะ 65.7%ต่อGDP
‘บอร์ดนโยบายฯ’แจงแนวทางป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลตฯ’-ย้ำแจก‘เงินหมื่น’มุ่งกระตุ้น ศก.
ไม่ได้อยู่ในอำนาจ! ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ไม่รับพิจารณาคำร้องแจก‘หมื่นดิจิทัล’ขัด'รธน.-กม.'