‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ไม่รับพิจารณา ปมร้องแจก ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ ขัด ‘รัฐธรรมนูญ-กฎหมาย’ หรือไม่ ชี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจ-หน้าที่ฯ พร้อมส่งเรื่องให้ ‘กกต.’ ดำเนินการ ปมร้อง ‘พิชิต ชื่นบาน’ ขาดคุณสมบัติฯ นั่ง 'รมต.ประจำสำนักนายกฯ'
.................................
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีคำวินิจฉัยกรณีโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาล และกรณีร้องนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เรื่อง ดิจิทัลวอลเลต สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนเรียนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวเพื่อขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ จำนวนทั้งสิ้น 3 เรื่อง โดยมีสาระสำคัญในประเด็นการกำหนดนโยบายและการแถลงโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาล รวมถึงการที่คาดว่าจะออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในขณะนั้น เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือไม่
ในกรณีนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1) ธนาคารแห่งประเทศไทย 2) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 3) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 4) กระทรวงการคลัง 5) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ 6) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รวมทั้งข้อเท็จจริงจากการแถลงโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 และมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับกรอบหลักการโครงการ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เพื่อประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วนแล้ว มีผลวินิจฉัย ดังนี้
1.กรณีขอให้ยื่นเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองนั้น เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอเรื่องต่อศาลปกครองได้ต่อเมื่อเป็นกรณีเกี่ยวกับ กฎ คำสั่ง หรือการกระทำของหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นการกระทำที่ใช้อำนาจใน"ทางปกครอง" หรือ " ได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย" เท่านั้น
แต่การกำหนดนโยบายและการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเป็นการใช้อำนาจ "ทางบริหาร" ของคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์กับรัฐสภาเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 162 และมีลักษณะเป็นการกระทำของรัฐบาลในรูปแบบความสัมพันธ์กับรัฐสภา
การที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายการบริหารประเทศและการแถลงนโยบายตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมิใช่การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 23 (2) (เทียบเคียงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 52/2566 และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ.3/2551)
2.กรณีขอให้ยื่นเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ในประเด็นที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต อาจเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 นั้น
เมื่อได้พิจารณาประเด็นตามคำร้องเรียนแล้วเห็นว่าการกำหนดนโยบายของคณะรัฐมนตรี นั้น เป็นการใช้อำนาจ "ทางบริหาร" ของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารประเทศฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์กับรัฐสภาเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 162 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน "ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา" ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีลักษณะเป็น "การกระทำ" ของรัฐบาลในรูปแบบความสัมพันธ์กับรัฐสภา
ดังนั้น ประเด็นตามคำร้องเรียนนี้ จึงมิใช่การร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมิใช่การร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 37 (3)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงไม่อาจพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้ ตามมาตรา 23 (1) และมาตรา 23 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 (เทียบเคียงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 52/2566)
3.กรณีร้องเรียนว่ารัฐบาลจะดำเนินการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 500,000 ล้านบาท เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53 หรือไม่ นั้น
ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า การแถลงของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 พบว่า จะดำเนินการโดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งประกอบด้วยแหล่งเงิน 3 ส่วน ได้แก่ (1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
(2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ของงบประมาณปี 2568 และ (3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท
ประกอบกับเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบายดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการดังกล่าวโดยการออกพระราชบัญญัติเงินกู้แต่อย่างใด
ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม และไม่มีประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามมาตรา 22 (2) และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาได้
@ส่งเรื่อง‘กกต.’ดำเนินการปมคุณสมบัติฯ‘พิชิต’นั่งรมต.
ประเด็นที่ 2 กรณีขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาวินิจฉัยเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 160 (4) และ (5)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
และมาตรา 170 วรรคสามยังกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกด้วยซึ่งที่ผ่านมามีกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนมีคำวินิจฉัยแล้ว ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2562 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 29/2563 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2564 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2565 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2567
และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2562
ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้วปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 37 (3) และเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นหรือที่องค์กรอิสระอื่นรับไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระนั้นแล้วตามมาตรา 37 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดเป็นเรื่องที่ห้ามมิให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับไว้พิจารณา
ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงส่งเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อดำเนินการตามหน้าที่ ต่อไป