กลุ่มผู้เสียหายร้อง ‘สุริยะ’รมว.คมนาคม –‘สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์’ รองปลัดกระทรวงฯ สางปัญหาบริหารสัญญากรณีการรถไฟฯให้เอกชนเช่าที่ดินโครงการย่านจตุจักรเอื้อเอกชน เอาผิด จนท.ส่อละเว้น หลายหน่วยงานตรวจสอบแล้ว รอความเป็นธรรมนับทศวรรษ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา นางจารุวรรณ จาติเสถียร และกลุ่มผู้ได้รับความเสียหายยื่นหนังสือถึงสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ขอให้ดำเนินการบริหารสัญญาเช่าที่ดินระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับบริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
หนังสือระบุว่า ตามที่ นางจารุวรรณ และกลุ่มลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม และให้ตรวจสอบการบริหารสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับเอกชน และให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และให้ตรวจสอบการปฏิบัติผิดสัญญาและมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ 20 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเวลากว่า 9 ปีเศษ จนถึงขณะนี้กระทรวงคมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย มิได้กำกับดูแลให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใด
สรุปความเป็นมาตามหนังสือร้องเรียนได้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยทำสัญญากับเอกชน จำนวน 2 ฉบับ คือ
1.สัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารบริเวณย่านพหลโยธิน(แปลง 5) เลขที่ 902520965 ลง 24 สิงหาคม 2552 สัญญาเช่าที่ดินมีกำหนดระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2556
2.สัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ที่บริเวณย่านพหลโยธิน(แปลง 5) เลขที่ 907520966 ลง 24 สิงหาคม 2552 สัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2586
ภายหลังทำสัญญาเอกชนได้ทำหนังสือขอแก้ไขรูปแบบอาคารสิ่งก่อสร้างอื่นต่อผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟฯ ซึ่งรับเรื่องไว้ แต่ไม่มีการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังผู้ว่าการรถไฟฯ เพื่ออนุมัติ เป็นการผิดสัญญาเช่า เปลี่ยนแบบก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ 8 ชั้นแทนรูปแบบอาคารตามที่ระบุในสัญญา การรถไฟฯทราบดีว่าเป็นรูปแบบอาคารที่ไม่เป็นตามสัญญา และ TOR ทำให้มูลค่าของโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจการอนุมัติของคณะกรรมการการรถไฟฯ ทำให้การรถไฟฯ ได้รับความเสียหายโดยไม่ได้รับค่าธรรมเนียมหรือผลประโยชน์จากมูลค่าของโครงการที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดเอกชนกลับได้รับประโยชน์จากพื้นที่ของอาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น สามารถนำพื้นที่ออกให้ประชาชนเช่าช่วงต่อและเก็บผลประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง
ต่อมามีการร้องเรียนไปที่กระทรวงคมนาคม สำนักงานรัฐมนตรี มีหนังสือที่ คค 0100/สรค/1475 ลงวันที่ 18 กันยายน 2558 แจ้งให้ การรถไฟฯทำหนังสือไปยังกรมที่ดินเพื่อขอระงับการโอนสิทธิการเช่าของลูกหนี้ไว้ก่อน เนื่องจากตรวจสอบพบว่าลูกหนี้ทำผิดสัญญา ซึ่งอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยจะรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการ การรถไฟฯและให้ การรถไฟฯไปศึกษาถึงผลกระทบและแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้รายงานผลให้ทราบ
ทว่าการรถไฟฯยังดำเนินการนำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ที่บริเวณย่านพหลโยธิน(แปลง 5) เลขที่ 907520966 ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 และบันทึกต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่หนึ่ง) เลขที่ 907570053 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2557 ไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาจตุจักร เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 มีกำหนด 29 ปี 6 เดือน เป็นการให้เช่าเฉพาะที่ดิน โดยไม่มีอาคารสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ แต่อย่างใดมีมูลค่า 3,200 ล้านบาท ทำให้การรถไฟฯ ได้รับความเสียหายและกรมที่ดินไม่ได้รับการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิการเช่าดังกล่าวด้วย และทำให้ประชาชนกลุ่มผู้เสียหายได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อการรถไฟฯ สื่อมวลชนต่าง ๆ สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การกระทำของฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟฯ ได้บริหารสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวต่อไป ทั้ง ๆ ที่มีการกระทำผิดกฎหมาย ทำให้มูลค่าของโครงการก็เกินกว่า 1,000 ล้านบาท และมีการกระทำผิดสัญญาอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกลับปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 คงยังมีการปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวและบริหารสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวให้มีผลต่อไป โดยไม่มีการบอกเลิกสัญญา ทำให้การรถไฟฯ ได้รับความเสียหายและส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้สุจริต
วันที่ 8 ธันวาคม 2557 บริษัท อินสแควร์ จำกัด เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นและเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด และในขณะนั้นคณะอนุกรรมการพัฒนาทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ให้บอกเลิกสัญญาเช่าระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับลูกหนี้ และให้ริบเงินประกันสัญญา ต่อมากลับไม่ยกเลิกสัญญาและไม่ริบเงินประกันดังกล่าว
“ข้าฯ และกลุ่มผู้ได้รับความเสียหายเห็นว่าระยะเวลานานกว่า 9 ปีเศษ มันนานมากสำหรับการแก้ไขปัญหาการทุจริต และการดำเนินการในเรื่องการปฏิบัติผิดสัญญาและมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเกินอำนาจของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเข้าเงื่อนไขการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแลรถไฟแห่งประเทศไทยต้องดำเนินการเรื่องนี้ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และกำหนดแนวทางหรือมาตรการบรรเทาเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องการกระทำความผิดทั้งหมดอย่างเร่งด่วน” หนังสือร้องเรียนระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า โครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท เจ เจ เซ็นเตอร์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด) เป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ตามสัญญา 2 ฉบับ คือ 1) สัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคาร เลขที่ 902520965 ลงวันที่ 24 ส.ค.2552 อายุสัญญา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2552 ถึงวันที่31 ส.ค.2556 และ 2) สัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดประโยชน์ เลขที่ 907520966 ลงวันที่ 24 ส.ค.2552 อายุสัญญาเช่า 30 ปี ตั้งแต่ 1 ก.ย.2556 -31 ส.ค.2586
ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคาร บริษัทฯ ได้ประกาศเสนอขายสิทธิการเช่าพื้นที่อาคารตึก 8 ชั้น (ให้เช่าช่วง)ให้ประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าบริษัทฯ ได้รับสิทธิการเช่าดังกล่าวจากการรถไฟฯ แล้ว จึงได้เข้าทำสัญญาตอบแทนสิทธิการเช่าและชำระเงินให้แก่บริษัทฯ และบริษัทฯ ได้ดำเนินการขายพื้นที่โดยตรงและผ่านตัวแทนซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ พบว่า มีการขายพื้นที่ซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนมากผ่านตัวแทนดังกล่าว และบริษัทฯ ไม่สามารถจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้ซื้อได้ เป็นเหตุให้ร้องเรียนว่าได้รับความเสียหาย
มีการร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบการทำสัญญาเช่าที่ดินรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ของ บริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด (ต่อมา บริษัท อินสแควร์ ช้อปปิ้ง มอลล์ และ บริษัท อินสแควร์ จำกัด) และนำไปกู้เงินจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยกว่า 1,600 ล้านบาท ต่อมา วันที่ 5 ม.ค.2559 พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ร้องเรียนว่า การจากการสืบสวนปรากฎพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ในขั้นตอนการบริหารสัญญาของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีลักษณะการกระทำอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต) ยังมิใช่คดีความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงยุติเรื่อง และส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการ ตั้งแต่ต้นปี 2558
ต่อมาวันที่ 5 ส.ค.2563 นายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ 1 ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหนังสือแจ้งผู้ร้องว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว มีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และส่งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 63 และ 64 แล้วแต่กรณี และสำนักงาน ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องกล่าวหาดังกล่าวไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการแล้ว
ข่าวเกี่ยวข้อง:
ป.ป.ช.ส่ง ตร. - การรถไฟฯ สอบปมเอื้อเอกชนเช่าที่ดินย่านจตุจักร หลังร้องเรียน 6 ปี
ร้องสอบ ตร. ฝ่าฝืนมติ ป.ป.ช. คดีเอื้อเอกชนเช่าที่ดินการรถไฟฯโครงการอินสแควร์