ผู้เสียหายร้อง ป.ป.ช.อีกรอบ สอบพนักงานสอบสวน ไม่มีอำนาจ ฝ่าฝืนมติ ป.ป.ช. แยกสำนวนคดีเช่าที่ดินทำโครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ โครงการอินสแควร์ สั่งไม่ฟ้องคดีฉ้อโกง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เห็นยุติเรื่องเด็ดขาด ควรส่งศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตัดสิน
กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เอกชนเช่าที่ดินทำโครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โครงการอินสแควร์) จตุจักร ถูกร้องเรียนว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน และร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหายโดยผู้เสียหายร้องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2557 ต่อมา เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2563 นายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ 1 ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือแจ้งผู้ร้องว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว มีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และส่งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 63 และ 64 แล้วแต่กรณี และสำนักงาน ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องกล่าวหาดังกล่าวไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการแล้ว (ข่าวเกี่ยวข้อง: ป.ป.ช.ส่ง ตร. - การรถไฟฯ สอบปมเอื้อเอกชนเช่าที่ดินย่านจตุจักร หลังร้องเรียน 6 ปี)
ความคืบหน้าล่าสุด นางจารุวรรณ จาติเสถียร เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใน 2 กรณี
1.ร้องขอความเป็นธรรมและขอให้ตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานสอบสวน
2.ขอกล่าวโทษต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้พิจารณาดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฝ่าฝืนมติ ป.ป.ช. โดยหลังจากรับเรื่องจาก ป.ป.ช.แล้ว มีการดำเนินการแยกคดีอาญา ทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาโดยไม่มีอำนาจ
สาระสำคัญของการร้องเรียนระบุความเป็นมาว่า
กลุ่มผู้เสียหายได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทําความผิดต่อเจ้าพนักงานสอบสวนให้ดําเนินการกับเจ้าพนักงานของรัฐหรือบุคคลอื่นใดในข้อหาคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กรณีทุจริตโครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(โครงการอินสแควร์ จตุจักร) และพนักงานสอบสวนได้แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามกฎหมาย 2 คดีคือ คดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชนกรณีทุจริตโครงการ พัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(โครงการอินสแควร์ จตุจักร) และคดีทุจริตโครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(โครงการอินสแควร์ จตุจักร) และคดีดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติคดีมีมูลให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยได้ส่งเรื่องดังกล่าวข้างต้นมายังสํานักงานตํารวจแห่งชาตินั้น ต่อมากลุ่มผู้เสียหายได้ทราบว่า กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลางได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบดําเนินการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาดังกล่าว และได้แยกสํานวนการสอบสวนคดีอาญาในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ส่งสํานวนไปยังอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 และอัยการมีความเห็นยุติเรื่องเด็ดขาด ซึ่งการดําเนินการของพนักงานสอบสวนหรืออัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาไม่เคยมีการแจ้งเป็นหนังสือให้กับกลุ่มผู้เสียหายทราบแต่อย่างใดทั้งสิ้น
หนังสือร้องเรียนระบุว่า เมื่อสํานักงาน ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องกล่าวหาดังกล่าวไปยังสํานักงานตํารวจแห่งชาติ และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อดําเนินการแล้วคดีอาญาดังกล่าวทั้งสองสํานวนย่อมอยู่ในเขตอํานาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเมื่อพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ดําเนินการสอบสวนรวบรวม พยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว ต้องสรุปสํานวนการสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งสํานวนการสอบสวนไปยังอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริตเพื่อพิจารณามีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องต่อไป
กลุ่มผู้เสียหายเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าของพนักงานสืบสวนสอบสวนที่ ขาดความเที่ยงธรรม และมีเหตุผิดปกติ ได้ดําเนินการแยกคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแล้วให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดําเนินการ ไปทําความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องและส่งสํานวนไปยังอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 โดยไม่มีอํานาจ เป็นการฝ่าฝืนมติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28 (2) และมาตรา 30 ขอให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้โปรดพิจารณาใช้อํานาจตามมาตา 65 และมาตรา 66 เพื่อความเที่ยงธรรมด้วย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565 กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท เจ เจ เซ็นเตอร์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด) เป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ตามสัญญา 2 ฉบับ คือ 1) สัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคาร เลขที่ 902520965 ลงวันที่ 24 ส.ค.2552 อายุสัญญา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2552 ถึงวันที่31 ส.ค.2556 และ 2 ) สัญญาเช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดประโยชน์ เลขที่ 907520966 ลงวันที่ 24 ส.ค.2552 อายุสัญญาเช่า 30 ปี ตั้งแต่ 1 ก.ย.2556 -31 ส.ค.2586
ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคาร บริษัทฯ ได้ประกาศเสนอขายสิทธิการเช่าพื้นที่อาคารตึก 8 ชั้น (ให้เช่าช่วง)ให้ประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าบริษัทฯ ได้รับสิทธิการเช่าดังกล่าวจากการรถไฟฯ แล้ว จึงได้เข้าทำสัญญาตอบแทนสิทธิการเช่าและชำระเงินให้แก่บริษัทฯ และบริษัทฯ ได้ดำเนินการขายพื้นที่โดยตรงและผ่านตัวแทนซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ พบว่า มีการขายพื้นที่ซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนมากผ่านตัวแทนดังกล่าว และบริษัทฯ ไม่สามารถจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้ซื้อได้ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย
ก่อนหน้านี้มีผู้ร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบการทำสัญญาเช่าที่ดินรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ของ บริษัท เจ.เจ.เซ็นเตอร์ จำกัด (ต่อมา บริษัท อินสแควร์ ช้อปปิ้ง มอลล์ และ บริษัท อินสแควร์ จำกัด) และนำไปกู้เงินจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยกว่า 1,600 ล้านบาท ต่อมา วันที่ 5 ม.ค.59 พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ร้องเรียน ว่า การจากการสืบสวนปรากฎพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ในขั้นตอนการบริหารสัญญาของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีลักษณะการกระทำอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ) ยังมิใช่คดีความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงยุติเรื่อง และส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการ ตั้งแต่ต้นปี 2558