กกต.ชี้ผู้สมัครสว.แนะนำตัวผ่านเฟซบุ๊ก-ติ๊กต็อกได้-ไม่ห้ามสื่อรายงานข่าว แต่ต้องนำเสนอข้อเท็จจริง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แถลงข่าวกรณีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
นายแสวง กล่าวว่า ที่เชิญสื่อวันนี้มาเพราะต้องการสื่อสารไปยังประชาชน เพราะจับความรู้สึกได้ว่าประชาชนยังไม่สบายใจหรือกังวล หรือมีข้อเสนอแนะต่อการเลือกสว. ทั้งข้อกฎหมายว่าจะได้สว.เวลาใด หรือสว.ชุดที่รักษาการณ์จะรักษาการณ์ไปนานเท่าใด การเลือกสว.อย่างสุจริตเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้หรือไม่ นี่คือสิ่งที่ได้จากการรับฟังประชาชน กกต.ก็ทำตามกฎหมายและทำเพื่อประชาชน เพราะการเลือกสว.ครั้งนี้ประชาชนถูกแบ่งออกไปจนแทบไม่สิทธิ์มีเสียง
"ต้องยอมรับว่าการเลือกสว.ครั้งนี้มีความซับซ้อน สังคมมีหลากหลายความคิดเห็น แต่สิ่งทีทำให้เดินไปถึงจุดหมายร่วมกันได้ คือ กติกา เราต่างจากประชาชนตรงจุดยืน คือ เราเป็นกรรมการ" นายแสวง กล่าว
จากนั้น นายแสวงอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่มาของสว.
(วรรคหนึ่ง) วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้
"นั่นหมายความว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกสว. ไม่ได้เลือกสว.จากคะแนนนิยมเหมือนสส.ที่มาจากการหาเสียง ไม่ได้ให้หาเสียง แต่สว.คือเลือกคนดีเพื่ออนาคต ไปทำงานเพื่ออนาคต เพื่อเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย กกต. ต้องทำตามกฎหมายหรือก็คือรัฐธรรมนูญ สิ่งที่กกต.ทำ คือ ทำตามกฎหมาย เราทำสิ่งเดียวคือการออกระเบียบแนะนำตัวว่าที่สว. สิ่งที่ทำได้คือให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของผู้สมัคร สังเกตการณ์ในที่เลือกตั้ง เพราะกฎหมายออกแบบมาเช่นนี้" นายแสวง กล่าว
นายแสวง กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐธรรมนูญต้องการให้ได้สว.ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เราก็พยายามออกแบบกระบวนการเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้ โดยที่ไม่มีการเอาเปรียบ เป็นไปตามกฎหมาย เป็นธรรม คือ การออกระเบียบที่ใช้เกี่ยวกับการแนะนำตัวผู้สมัคร และผู้ปฏิบัติงานของกกต.
"สื่อมวลชนทำอะไรในช่วงออกพระราชกฤษฎีกา สื่อสามารถทำงานได้ปกติ สามารถไปสัมภาษณ์ผู้สมัคร สว.ได้ แต่ผู้สมัครห้ามไปแนะนำตัว แต่สามารถสัมภาษณ์เรื่องทั่วไปได้ เช่น สัมภาษณ์วิศวกรผู้เชี่ยวชาญในประเด็นของวิศวกรรมได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผู้สมัครเบอร์ใด ระเบียบของกกต.ไม่ได้ไปริดรอนการทำงานของสื่อแต่อย่างใด แต่ถ้ารู้สึกเช่นนั้นค่อยมาคุยกัน ต่อมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับผู้สมัคร เมื่อรัฐธรรมนูญระบุว่าให้สว.มาจากการเลือกกันเอง ดังนั้นคนที่มาสมัครสว.ก็เป็นได้ทั้งคนเลือกและผู้ถูกเลือก" นายแสวง กล่าว
นายแสวง กล่าวต่อว่า ผู้สมัครสว.สามารถแนะนำตัวผ่านเฟซบุ๊ก Tiktok (ติ๊กต็อก) ได้ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าถึงผู้สมัคร ทั้งนี้ประชาชรสามารถติดตามข้อมูลผ่าน สำนักงานกกต. เมื่อปิดการรับสมัคร กกต.จึงจะเปิดเผยรายชื่อทุกคน ทุกกลุ่ม ผ่านทางแอปพลิเคชัน smart vote และเว็บไซต์กกต. หากประชาชนพบลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. สามารถแจ้ง กกต.ได้ทันที ประชาชนสามารถอยู่ข้างที่เลือกตั้ง สว.ในทุกระดับตั้งแต่ระดับอำเภอ จนถึงระดับประเทศ กกต.จะมีวงจรปิดถ่ายทอดสด และจัดที่สังเกตการณ์ให้ประชาชนแสดงให้เห็นว่า กกต. สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ส่วนจะได้สว.หน้าตาอย่างไร กกต.ไม่สามารถตอบได้ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติว่าต้องการผลลัพธ์แบบใดก็ต้องลงมือทำ แต่ระเบียบและกฎหมายส่วนหนึ่งออกแบบมาเพื่อเอื้อให้ได้สว.ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้
"ต้องรอดูหน้างานว่าจะเป็นอย่างไร ในส่วนของกกต.ก็มีหน้าที่ทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม ส่วนจะได้สว.วันไหน ประชาชนจะได้สว. 200 คนพร้อมสำรองตามกำหนดเวลา ไม่มีกฎหมายใดที่จะประวิงเวลาที่จะทำให้ได้สว. 200 คน ออกไปจากกำหนดเวลาที่ประกาศเมื่อวาน แม้จะมีกรณีการคัดค้านต่าง ๆ เช่น คุณสมบัติของผู้สมัคร บางพื้นที่ไม่มีผู้สมัคร เป็นต้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดแนวทางรองรับเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ไว้ทั้งหมดแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดมาเลื่อนกำหนดเวลาที่จะได้สว.ได้อย่างแน่นอน กกต.จึงสามารถประกาศผลสว.จำนวน 200 คนได้ตามกำหนดเวลา จึงเน้นย้ำในส่วนนี้เพื่อให้ประชาชนสบายใจ" นายแสวงกล่าว
นายแสวง กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการป้องกันการทุจริตในการเลือกสว. เช่น การร้องว่ามีการทุจริต เป็นต้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง กกต.จะพยายามจะทำให้เร็วที่สุดในส่วนที่เป็นคำร้องเรื่องทุจริต
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าผู้สมัครแนะนำตัวผ่านเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ได้หรือไม่
นายแสวง กล่าวว่า ทำได้ หมายถึง ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวผ่านแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ยูทูบ ทำได้ แต่ต้องแนะนำตัวตามแบบสว.3
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าสื่อมวลชนสามารถสัมภาษณ์ผู้สมัคร สว.ได้หรือไม่
นายแสวง ตอบว่า ระเบียบแนะนำตัวออกมาสำหรับผู้สมัคร เขา (ผู้สมัคร) จะดูแลตัวเขาเอง อะไรที่เป็นข้อเท็จจริงสื่อก็รายงานได้ ไม่ได้ห้าม เช่น สื่อสามารถรายงานข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคคลนั้นได้ เป็นต้น แต่ที่ห้ามคือการแนะนำตัว คือ ไม่ได้ห้ามสื่อสัมภาษณ์ แต่เขาห้ามแนะนำตัว
เมื่อถามว่าคณะก้าวหน้าสามารถแนะนำผู้สมัครได้หรือไม่
นายแสวง ตอบว่า สื่อหรือผู้อื่น คือ คนคนเดียวกัน ถ้าผู้สมัครรู้เห็นเป็นใจกับผู้อื่นทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตก็ผิดกฎหมาย สื่อไม่มีความผิด แต่ประชาชนก็มองว่าสื่อไม่เป็นกลาง แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การรณรงค์ ผิดกฎหมายหรือไม่ แล้วถ้าคนที่ออกมารณรงค์เป็นผู้มีส่วนได้เสียทางการเมืองจะผิดหรือไม่
นายแสวง กล่าวว่า รณรงค์ไม่ผิดกฎหมาย แต่อย่าไปช่วยเหลือแนะนำตัวในสิ่งที่ผิดระเบียบ และการรณรงค์ไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง
"ถ้าสื่อไม่บอกว่าเขามีประสบการณ์ยังไง เบอร์อะไร สื่อก็ทำได้ สื่อสามารถรายงานอะไรก็ตามที่เป็นข้อเท็จจริงได้ ส่วนเรื่องสังเกตการณ์ กฎหมายระบุว่าในที่เลือกตั้งไม่ให้ใครเข้า แต่สิ่งที่เราทำคือมีการถ่ายทอดสดในตอนอ่านคะแนน ก็คือทำเหมือนเลือกสส. คือ มีที่อยู่ข้างหน่วยเลือกตั้ง ไม่ให้เข้าไปในหน่วยเลือกตั้ง เพราะอาจทำให้เกิดความสับสนในกลุ่มต่าง ๆ " นายแสวง กล่าว