'วิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์' อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เผยเตรียมยื่นศาลขอริบทรัพย์อดีตผู้บริหาร STARK อีก 2.89 พันล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้า ในสำนวนคดีการตรวจสอบและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) ตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รายคดีนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK กับพวก (คดีฉ้อโกงประชาชนหุ้น Stark) ว่า ล่าสุดวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางสำนักงาน ปปง. ก็ได้ส่งเอกสารพยานหลักฐานต่างๆในคดีเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามาให้กับทางสำนักงานคดีพิเศษของเรา เนื่องจากว่าสามารถตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดในมูลฐานเดียวกันในพฤติการณ์เดียวกันเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีก และก็คณะกรรมการธุรกรรมของทางสำนักงาน ปปง. ก็มีมีการสั่งให้ยึดอายัดไว้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 รวมจำนวนทั้งหมด 14 รายการเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท เมื่อรวมทรัพย์สินในคดีเดิมและที่ส่งมาเพิ่มเติมแล้วทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,245 ล้านบาท เเต่ในความเป็นจริงค่าเสียหายที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงจากความผิดมูลฐานดังกล่าวเป็นจำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท
นายวิรุฬห์ กล่าวว่า ในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษจึงได้มีคำสั่งให้ส่งเรื่องเพิ่มเติมพร้อมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการคณะทำงานชุดเดิม เพื่อพิจารณาพิจารณาเกี่ยวกับการยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ไว้ชั่วคราวตกเป็นของแผ่นดินภายในระยะเวลา 90 วันนับตั้งแต่ที่มีคำสั่งหยุดอายัดไว้ชั่วคราวตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษเราจะต้องพิจารณาและยื่นคำร้องให้ทันภายในวันที่ 12 พ.ค. 2567
นายวิรุฬห์ กล่าวว่า สำหรับคดีนี้ ทางสำนักงานปปง. ได้เคยส่งสำนวนคดีหุ้นสตาร์ค มาให้กับทางสำนักงานอัยการคดีพิเศษเพื่อขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 16 รายการมูลค่า 355 ล้านบาท ในความผิดที่เป็นมูลฐานเกี่ยวกับคดีที่เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือฉ้อโกง หรือการกระทำโดยทุจริตตามกฏหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยพฤติกรรมเกี่ยวกับการแต่งบัญชีหรืองบการเงินอันเป็นเท็จ ให้มีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงเป็นจำนวนมากจนกระทั่งประชาชนหลงเชื่อเข้ามาลงทุนในเบื้องต้นได้รับค่าตอบแทนสูงตามที่โฆษณาชวนเชื่อจริง แต่พอมีผู้ลงทุนเข้ามามากก็ไม่สามารถที่จะได้รับค่าตอบแทนอย่างที่กล่าวอ้างได้เนื่องจากไม่มีผลกำไรอย่างที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้ชวน
นายวิรุฬห์ กล่าวว่า คดีที่ได้ส่งมาในครั้งแรกทางพนักงานอัยการเราได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในมูลฐานดังกล่าวตกเป็นของเเผ่นดินไปแล้วคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งตามคดีหมายเลขตามที่ฟ.14/2567 ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ขอยึดอายัดไว้ชั่วคราวและขอให้ริบตกเป็นของแผ่นดินในครั้งนั้นมีจำนวน 16 รายการมูลค่า 355 ล้านบาท ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษเราโดยตนเองในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเเละให้คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาและดำเนินคดีในชั้นศาล
"ส่วนจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของผู้เสียหายที่มีโอกาสได้ทรัพย์สินคืนหรือไม่นั้น เรียนว่า พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาให้ผู้เสียหายใช้สิทธิ์ขอคืนจำนวนเงินความเสียหายที่ตนได้รับผ่านทางสำนักงาน ปปง. ได้ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาหลังจากที่มีการยึดอายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว ซึ่งทางสำนักงานปปง. ก็จะพิจารณาว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเท่าไหร่และขอให้ทางพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษของเรายื่นคืนให้กับผู้เสียหายตามอัตราส่วนที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้รับตามจำนวนความเสียหายของตน ซึ่งในช่องทางนี้จะต้องยื่นภายใน 90 วันตามที่บอก แต่ถ้าพ้นระยะยื่นไม่ทันที่สำนักงานปปง. ผู้เสียหายก็สามารถยื่นผ่านทางศาลได้โดยตรง ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถยื่นขอศาลเมื่อศาลมีคำสั่งอย่างไรแล้วถ้าหากศาลมีคำสั่งให้มีการคืนให้กับผู้เสียหายรายใดเป็นจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นเมื่อคดีเสร็จสิ้นทางสำนักงานปปง. ก็จะคืนให้ตามอัตราส่วนของความเสียหายที่แต่ละคนได้รับหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วก็จะได้รับคืนค่าเสียหาย" นายวิรุฬห์ กล่าว
นายวิรุฬห์ กล่าวว่า ในกรณีที่ยึดอายัดทรัพย์สินได้ไม่เต็มจำนวนของความเสียหายก็ต้องเฉลี่ยกันไปตามอัตราซึ่งทางพนักงานพนักงานอัยการเราก็ได้ตนักในสิ่งเหล่านี้ที่จะจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าจะขอให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือให้คืนให้กับผู้เสียหายตามที่ได้ขอคุ้มครองสิทธิ์ผ่านทางสำนักงานปปง. โดยรวดเร็ว สำหรับคดีนี้เนื่องจากค่าเสียหายที่ถูกฉ้อโกงหรือกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 14,000 ล้านบาทแต่ทรัพย์สินที่อายัดชั่วคราวได้จากผู้ถูกกล่าวหาที่ทำความผิดมูลฐานมีจำนวนทั้งสิ้นในสองคดีของ ปปง. และอัยการมีจำนวน 3,000 กว่าล้านบาทยังขาดอยู่อีก 10,000 ล้านบาทเศษ ถ้าสมมุติว่าทางสำนักงานปปง. ตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมอีก ก็จะสามารถที่จะดำเนินการเช่นเดียวกับในครั้งล่าสุดที่ส่งเอกสารเพิ่มเติมมาเพื่อขอให้ทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้อีก
"ในส่วนคดีอาญาหุ้น Stark ตอนนี้พนักงานอัยการคดีพิเศษยื่นคำฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลไปแล้ว โดยมีนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 มิ.ย.2567 หลังจากนั้นทางศาลและคู่ความก็จะนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป ซึ่งทั้งในคดีอาญาและคดีฟอกเงินที่เกี่ยวกับการริบซับหรือขอคืนให้กับผู้เสียหายมันก็จะแยกพิจารณาออกจากกันในแต่ละส่วนในคดีของอาญาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน" นายวิรุฬห์ กล่าว
นายวิรุฬห์ ยังเปิดเผยเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าความร่วมมือเรื่องฟอกเงินว่าสำนักงานอัยการคดีพิเศษ ได้ทำความร่วมมือประสานงานกันระหว่างศาลแพ่งและทางสำนักงาน ปปง. ซึ่งผู้บริหารแต่ละหน่วยงานได้เข้าประชุมกันเพื่อให้เกิดวิวัฒนาการใหม่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานทางอิเล็กทรอนิกส์คล้ายๆกับระบบซีออส(CIOS)ที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำอยู่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินคดี ในเรื่องความรวดเร็วความประหยัดในการดำเนินคดี รวมถึงค่าใช้จ่ายด้วยเนื่องจากว่าคดีฟอกเงินมันกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสังคมเป็นจำนวนมากจึงต้องให้มีการดำเนินคดีตามวิวัฒนาการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ซึ่งก็จะมีตัวอย่างเช่นว่าสามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันในการยื่นคำร้องต่อศาลโดยอัยการขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เกิดเกิดจากการกระทำความผิดตกเป็นแผ่นดิน การยื่นคำร้องขอทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหลังจากมีการไต่สวนสืบพยานกันในชั้นศาล จนกระทั่งศาลได้มีคำสั่ง กระบวนการเหล่านี้สามารถทำผ่านช่องทางระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือการเชื่อมโยงข้อมูลคล้ายๆกับระบบของศาล CIOS แทนที่เราจะใช้เอกสารส่งในชั้นศาล เราก็จะใช้ส่งเอกสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นการประหยัดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการถ่ายเอกสารเป็นจำนวนมากแล้วก็ทางคู่ความไม่จำเป็นต้องเดินทางที่ศาลทำให้เกิดความรวดเร็วและทำให้คดีที่ค้างอยู่น้อยลงแทบจะไม่มีคดีที่ค้างโดยไม่จำเป็นอีกอันนี้ก็เป็นระบบที่คล้ายๆกับบางคดีที่ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้ใช้ระหว่างหน่วยงานต่างๆผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางฐานข้อมูลระหว่างเชื่อมโยงกันก็คือAPIระหว่างสามหน่วยงาน
"ส่วนจะเริ่มใช้จริงได้เมื่อไหร่นั้น จากที่เราได้ประชุมร่วมกันวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ก็ประสานงานความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานซึ่งในเบื้องต้นหลังจากประชุมครั้งแรก และชั้นต่อไปแต่ละหน่วยงานก็จะจัดตั้งคณะทำงานชุดเล็กขึ้นเพื่อประสานงานกันประชุมกันเพื่อหาข้อเสนอแนะหรือปัญหาอุปสรรคต่างๆเข้ามาศึกษากันพอหลังจากทุกอย่างไฟนอลแล้ว มีการตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานแล้วทางสำนักงานคดีพิเศษของเราจะมีการจัดให้มีการประชุมกันและก็ถ่ายทอดหารือกันเกี่ยวกับระบบนี้ระหว่างพนักงานอัยการทั้งหมดในสำนักงานคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่ด้วยเพื่อรองรับการใช้ระบบใหม่ดังกล่าวซึ่งต่อไปก็อาจจะมีการจัดสัมนาระหว่างหน่วยงานเกี่ยวกับระบบนี้ต่อไป" นายวิรุฬห์ กล่าว