เปิดบันทึก ‘อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา’ คดี ‘ลูกบ้าน’ ฟ้องเจ้าของคอนโดหรู ‘เขาใหญ่’ ระบุต้องปรึกษา ‘อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา’ ก่อนมีคำพิพากษา-คำสั่ง หลัง 'ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน' มีคำพิพากษาในคดีออกไป ‘หลายแนว’
......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกบ้านโครงการห้องชุดหรู ในบริเวณพื้นที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทเจ้าของโครงการฯกับพวก ต่อศาลอาญา ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ กรณีโฆษณาขายห้องชุดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้โจทก์หลงเชื่อซื้อห้องชุด โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และประชาชนทั่วไป รวมแล้วอย่างน้อย 14 คดี
ขณะที่ล่าสุดศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) ได้มีคำพิพากษาไปแล้ว 10 คดี โดยเป็นคดีศาลฯพิพากษาว่า เจ้าของโครงการฯกับพวก กระทำผิดในข้อหาฉ้อโกง หรือความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือกระทำผิดทั้ง 2 ข้อหา 7 คดี พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 รวมคนละ 19 ปี และเป็นคดีที่ศาลฯพิพากษายกฟ้อง 3 คดี ซึ่งทั้ง 10 คดี อยู่ระหว่างอุทธรณ์ นั้น (อ่านประกอบ : ตัดสินผิด 7 ยกฟ้อง 3! ‘ศาลชั้นต้น’พิพากษาคดีฉ้อโกง‘ลูกบ้าน’คอนโดหรู‘เขาใหญ่’ 10 คดี)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายยอดชาย วีระพงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ลงนามในบันทึกข้อความ ลงวันที่ 22 มี.ค.2567 โดยมีเนื้อหาว่า “ด้วยวันนี้ท่านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำที่ อ 789/2565 คดีระหว่าง น.ส. ร. กับพวกรวม 6 คน โจทก์ บริษัท...กับพวกรวม 3 คน จำเลย ได้นำสำนวนคดีมาปรึกษาคำพิพากษาและจะขออ่านคำพิพากษาในคดีกล่าวนี้ในวันนี้
แต่เนื่องจากคดีดังกล่าว เป็นคดีที่ผู้เสียหายจำนวนหลายราย ได้ยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้กับพวกที่ศาลอาญาจำนวนหลายคดี โดยมีคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปหลายแนว เนื่องจากเป็นโทษไม่สูง ไม่อยู่ในประเภทคดีที่ต้องปรึกษาก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมีบางคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยได้มีคำร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาจำนวนมาก อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้คดีกลุ่มนี้ ต้องปรึกษาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
คดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนว่า ควรเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปก่อน เพื่อรอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ แต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในสำนวนคดีนี้ยังคงยืนยันว่า ให้อ่านคำพิพากษาคดีนี้ไปในวันนี้”
รายงานข่าวแจ้งว่า มาตรา 11 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม บัญญัติว่า “ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้
(2) สั่งคำร้องคำขอต่างๆ ที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ
(3) ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่นให้เป็นไปโดยถูกต้อง เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็ว
(4) ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้นในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา
(5) ร่วมมือกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในบรรดากิจการอันเกี่ยวกับการจัดวางระเบียบและการดำเนินการงานส่วนธุรการของศาล
(6) ทำรายงานการคดีและกิจการของศาลส่งตามระเบียบ
(7) มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มีอำนาจตาม (2) ด้วย และให้มีหน้าที่ช่วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น แล้วแต่กรณี ตามที่ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมอบหมาย”
@ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก ‘2 จำเลย’ คนละ 12 ปี
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีหมายเลขดำที่ อ 789/2565 ซึ่งเป็นคดี น.ส. ร. กับพวก ยื่นฟ้องบริษัทเจ้าของโครงการห้องชุดหรู ในบริเวณพื้นที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กับพวกรวม 3 คน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ กรณีโฆษณาขายห้องชุดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง นั้น ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 12 ปี และปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 4 แสนบาท
“...ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันโฆษณาข้อความดังกล่าว ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) ยูทูบ (Youtube) รายการโทรทัศน์ และเฟซบุ๊ก(FacebooK) เพื่อชักชวนประชาชนซื้อห้องชุดในโครงการ เมื่อพิเคราะห์ถึงถ้อยคำที่จำเลยทั้งสามโฆษณาว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการอยู่อาศัยระดับ Exclusive เน้นความเป็นส่วนตัวของผู้พักอาศัย โดยมีห้องชุดจำนวน 282 ยูนิต บนพื้นที่โครงการ 200 ไร่
มีพื้นที่ที่เป็นป่ากว่า 80% มีต้นไม้ใหญ่กว่า 40,000 ต้น ปลาคาร์ฟ 50,000 ตัว ทะเลสาบขนาดใหญ่ 7 แห่ง ภายในโครงการมีลานฟิสเนสลอยฟ้า จำเลยที่ 2 โฆษณาด้วยวาจาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) ยูทูบ(Youtube) ซึ่งเผยแพร่ทั่วประเทศด้วยว่า ...เขาใหญ่ รางวัลชีวิตที่แท้จริง มีข้อความตอนหนึ่งว่า “...บนพื้นที่ 200 ไร่ เรามีคอนโดมิเนียมแบบ Low Rise เพียง 282 ยูนิต เท่านั้น
ทุกห้องนอนหันหน้าสู่พื้นที่ป่าให้สัมผัสวิวเขาใหญ่แบบพาโนรามา (Panorama) ทุกตึกถูกออกแบบให้ซ่อนตัวอยู่กับต้นไม้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ บางตึกทำอุโมงค์ต้นไม้ช่วยลดความร้อนและกรองแสงแดด...ผมทำที่ออกกำลังบนวิวที่สวยที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้ออกกำลังกายและสูดออกซิเจนได้เต็มปอด...”
และที่จำเลยที่ 3 โฆษณาด้วยวาจาช่องทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) ยูทูบ (Youtube) เผยแพร่ทั่วประเทศ โดยใช้วิดีโอคลิปชื่อว่า Q & A คุณ..กับลูกบ้าน มีข้อความตอนหนึ่งที่จำเลยที่ 3 โฆษณา ว่า “...คุณซื้อห้องเพียงหนึ่งห้องแต่คุณได้เป็นเจ้าของอุทยานส่วนตัวถึง 200 ไร่ มันมีมูลค่าและคุณค่ามากกว่าราคาที่จ่ายไปเป็นหลายๆ เท่า” และรวมถึงคำพูดที่นาย... เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาโครงการให้จำเลยทั้งสาม
ย่อมทำให้ประชาชนทั่วไปที่ได้พบเห็น เชื่อโดยสุจริตว่าห้องชุดที่จำเลยทั้งสามเสนอขาย มีพื้นที่ในโครงการ 200 ไร่ มีทะเลสาบ 7 แห่ง และลานฟิสเนสลอยฟ้าอยู่ในโครงการ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกเชื่อที่โฆษณา โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงซื้อห้องชุด 1 ห้อง ในราคา 11,222,500 บาท โจทก์ที่ 3 จึงซื้อห้องชุด 2 ห้องในราคาห้องละ 13,996,500 บาท และห้องละ 21,850,000 บาท และโจทก์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 จึงซื้อห้องชุด 1 ห้องในราคา 37,620,000 บาท
จากจำเลยทั้งสามตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ของคดีหมายเลขดำที่ อ 789/2565 เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ของคดีหมายเลขดำที่ อ.790/2565 เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ของคดีหมายเลขดำที่ อ 791/2565 และเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ของคดีหมายเลขดำที่ อ 1331/2565 ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงราคาที่โจทก์ทั้งหกซื้อห้องชุดกับจำเลยทั้งสามแล้ว เห็นว่า ซื้อในราคาที่สูงกว่าปกติมาก ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่โฆษณา โจทก์ทั้งหกก็จะไม่ซื้อห้องขุดจากจำเลยทั้งสามอย่างแน่นอน
และโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 เบิกความยืนยันอย่างสอดคล้องกันว่า ต่อมาโจทก์ทั้งหกตรวจสอบโครงการจึงทราบว่า คำโฆษณาของจำเลยทั้งสามเป็นความเท็จ ความจริงแล้ว โครงการมีเนื้อที่เพียง 68 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวาไม่ใช่ 200 ไร่
ปัจจุบันจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในโครงการให้เป็นทรัพย์ส่วนของของนิติบุคคลอาคารชุด... เขาใหญ่ เพียง 45 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทะสาปให้ครบ 7 แห่ง ให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด...เขาใหญ่ ไม่มีลานฟิสเนสลอยฟ้า ดังที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันโฆษณาแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้นาย ม. เบิกความสนับสนุนอย่างสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ว่า
พยานรับมอบหมายจากโจทก์ทั้งหก ให้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการ...เขาใหญ่ ของจำเลยทั้งสามที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปากช่อง ปรากฏว่า โครงการ... เขาใหญ่ มีเนื้อที่ 45 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 ของสำนวนเลขคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 798/2565 เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11 ของสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 790/2565 เอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.11 ของสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 751/2565 และเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.13 ของสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 1311/2565
ส่วนคลับเฮ้าส์ และถนนรอบโครงการ ยังไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นิติบุคคลในโครงการ ตามสำเนาโฉนด เอกสารหมาย จ.39 และ จ.40 ส่วนพื้นที่ทะเลสาบ 20 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท...
พยานเข้าไปในโครงการ 2 ครั้ง ได้ไปสังเกตการณ์พื้นที่ที่ก่อสร้างฟิตเนส ปรากฏว่าพื้นที่ก่อสร้างฟิตเนส ไม่ตรงไปตามที่โฆษณาไว้ กล่าวคือ ที่โฆษณาไว้จะต้องเป็นฟิตเนสที่อยู่ที่สูง สามารถมองเห็นวิวแบบพาโนรามา หรือที่เรียกว่า ฟิตเนลลอยฟ้า แต่ที่ก่อสร้างจริงนั้น กลับอยู่บนที่ราบ ซึ่งด้านหน้าเป็นน้ำ ทราบในภายหลังว่าในส่วนของฟิตเนสนั้น เดิมที่เป็นสำนักงานขาย เมื่อตรวจดูเอกสารประกอบคำเบิกความล้วนสอดคล้องกัน ทำให้พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์มีน้ำหนัก
เมื่อจำเลยทั้งสามไม่นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ว่า โครงการ... เขาใหญ่ มีเนื้อที่โครงการเพียง 68 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา โดยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียง 45 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ในส่วนพื้นที่ทะเลสาบ 20 ไร่ อยู่นอกโครงการ และเมื่อตรวจดูฟิตเนส ก็ปรากฎว่าสร้างอยู่บนพื้นดินไม่ตรงตามคำโฆษณา
แม้จำเลยทั้งสามจะต่อสู้ว่า ในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและหนังสือสัญญาซื้อขายห้องชุดจะระบุเนื้อที่ไว้ว่า เนื้อที่มีเพียง 68 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา โดยมีนาง อ. และ น.ส. ก. เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของโครงการ เบิกความสนับสนุนว่า พยานได้แจ้งในขณะที่ทำสัญญาแล้วว่า เนื้อที่มีเพียง 68 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา
แต่ก็ปรากฏตามพฤติการณ์ว่า นาง อ. และ น.ส. ก. ได้พาโจทก์ทั้งหกไปดูทะเลสาบ และให้ดูแบบจำลองโครงการเอกสารหมาย จ.52 ซึ่งในแบบจำลองโครงการเอกสารหมาย จ.52 ก็ปรากฏว่ามีทะเลสาบ และไม่มีข้อความว่า ทะเลสาบอยู่นอกโครงการ หรือมีการทำเครื่องหมายแสดงว่าโครงการมีเนื้อที่ในโครงการเพียง 68 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา ซึ่งการกระทำดังกล่าว ย่อมทำให้โจทก์ทั้งหกเชื่อว่า โครงการมีเนื้อที่ 200 ไร่
การกระทำของนาง อ. และ น.ส. ก. จึงขัดแย้งกับคำเบิกความว่า โครงการมีเนื้อที่ 68 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวาบ่งแสดงว่า นาง อ. และ น.ส. ก. ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลยทั้งสามเบิกความบิดเบือนในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับจำเลยทั้งสาม คำเบิกความของ นาง อ. และ น.ส. ก. จึงไม่น่ารับฟัง
อีกทั้งยังได้ความจากโจทก์ที่ 6 เบิกความโดยจำเลยทั้งสาม ไม่นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่นได้ความว่า ตอนไปดูโครงการครั้งแรก ทางเข้าโครงการจะมีป้ายโครงการคำว่า ... เป็นรูปหงส์ทั้งฝั่งช้ายและฝั่งขวา ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.43 แต่หลังจากที่ซื้อห้องชุดจากจำเลยทั้งสามแล้ว ปรากฏว่าทางเข้าฝั่งซ้ายจำเลยทั้งสาม ได้รื้อรูปหงส์และคำว่า ...ออกไป และขึ้นป้ายเขียนคำว่า ... ซึ่งเป็นโรงแรม ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.44
ดังนั้น พฤติการณ์ดังกล่าว ย่อมทำให้โจทก์ทั้งหก เข้าใจตามที่จำเลยทั้งสามโฆษณาว่า เนื้อที่ในโครงการมี 200 ไร่ โจทก์ทั้งหกจึงยอมซื้อห้องชุดในราคาที่สูงกว่าปกติมาก
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 6/1 วรรคสาม บัญญัติว่า “ข้อความหรือภาพที่โฆษณาหรือหนังสือชักชวน เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายห้องชุด หากข้อความหรือภาพใดมีความหมายขัดหรือแย้งกับข้อความในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาซื้อขายห้องชุด ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้จะซื้อหรือผู้ซื้อห้องชุด”
ประกอบกับมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายห้องชุด ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 เอกสารหมาย จ.53 โดยมีแบบสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดแนบท้าย ระบุไว้ในข้อ 2.2.3 ว่า “หากผู้จะขายได้ทำการโฆษณาด้วยข้อความหรือภาพโฆษณา ให้ถือว่าเอกสารที่โฆษณาด้วยข้อความและภาพโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายนี้ด้วย”
ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสามโฆษณาด้วยวาจาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) ยูทูบ (Youtube) จึงต้องถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขาย การที่ในสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายห้องชุด ไม่มีข้อความเหมือนที่จำเลยทั้งสามโฆษณา ประกอบพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสาม เคยขึ้นป้ายทางเข้าโครงการตามเอกสารหมาย จ.43
บ่งชี้ว่า จำเลยทั้งสามละโมบโลภมาก แสร้งแกล้งใช้หลักเหลี่ยมในการโฆษณาอันเป็นเท็จ และร่างสัญญาให้เอาเปรียบประชาชนทั่วไป รวมถึงโจทก์ทั้งหก ให้ซื้อห้องชุดในราคาแพง โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จผ่านช่องทางโซเซียลมีเดีย (Social Media) ยูทูบ (Youtube) เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกหลงเชื่อซื้อห้องชุดจากจำเลย
จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และมีความผิดฐานโดยทุจริต หรือหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันเป็นความผิดตามฟ้อง
สำหรับปัญหาข้อกฎหมาย ที่จำเลยทั้งสาม ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่โจทก์ฟ้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เนื่องจากจำเลยทั้งสามเคยถูกฟ้องในความผิดดังกล่าว และศาลมีคำพิพากษาในคดีอื่นแล้ว นั้น
เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ จะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน มูลคดีเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน และศาลได้วินิจฉัยประเด็นนั้นแล้ว ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่คดีนี้ โจทก์ทั้งหกไม่เคยฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสามมาก่อน โจทก์ทั้งหกกับจำเลยทั้งสาม จึงไม่เคยเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีนี้
อีกทั้งพฤติการณ์ในการโฆษณาหรือการแสดงข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยทั้งสาม ได้กระทำต่อสื่อสาธารณ ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงหรือรับทราบภาพ ข้อความได้ต่างวันและเวลากัน ประชาชนแต่ละราย ย่อมเป็นผู้เสียหายที่อาจได้รับความสียหาย จากการกระทำของจำเลยทั้งสามต่างวันและเวลากัน หรือต่างจำนวนเงิน ที่แต่ละรายได้ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามไป จึงต่างมีอำนาจฟ้องดำเนินคดีแยกต่างหากจากกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 24 (2) จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลเคยได้วินิจฉัย
ในประเด็นว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่อโจทก์ทั้งหกมาแล้วหรือไม่ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยตั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
และความผิดฐานร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน
ให้ลงโทษฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน รวม 4 กระทง จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทงละ 3 ปี ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 100,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีกำหนดคนละ 12 ปี ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400,000 บาท นับโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 3505/2566 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 568/2567 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 919/2567 ของศาลนี้
สำหรับคำขอให้นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 786/2565 คดีหมายเลขดำที่ อ 788/2565 คดีหมายเลขดำที่ อ 792/2565 คดีหมายเลขดำที่ อ 794/2565 คดีหมายเลขดำที่ อ 795/2565 คดีหมายเลขดำที่ อ 797/2565และคดีหมายเลขดำที่ อ 798/2565 ของศาลนี้ เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงนับโทษต่อไม่ได้ ยกคำขอส่วนนี้
หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับกายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา ให้จัดการจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 29/1” คำพิพากษาศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) คดีหมายเลขดำที่ อ 789/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ 997/2567 ลงวันที่ 25 มี.ค.2567 ระบุ
อ่านประกอบ :
ตัดสินผิด 7 ยกฟ้อง 3! ‘ศาลชั้นต้น’พิพากษาคดีฉ้อโกง‘ลูกบ้าน’คอนโดหรู‘เขาใหญ่’ 10 คดี
‘ศาลชั้นต้น’สั่งจำคุก 2 ปี-ปรับ 6.6 หมื่น คดีฉ้อโกงลูกบ้านคอนโดหรู‘เขาใหญ่’-ทนายฯจ่ออุทธรณ์