รมว.คมนาคมมาเลย์ฯ เผยกลุ่มเอกชนมาเลย์ฯไม่สนลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ไทย เหตุต้องคำนึงถึงเรื่องผลตอบแทน-ความเป็นได้ของโครงการ ย้ำจุดยืนรัฐบาลมาเลย์ฯยืนยันรัฐบาลไทยต้องเดินนโยบายแบบวินวิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ของประเทศไทยที่มาจากต่างประเทศว่านายแอนโทนี่ โลค (Anthony Loke) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซียได้ออกมาประกาศว่ากลุ่มบริษัทการลงทุนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลมาเลเซียหรือ GLICs ไม่มีความคิดที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองมูลค่า 1 ล้านล้านบาท
นายโลคกล่าวว่าลำดับความสำคัญของ GLICs นั้นคือการมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับท้องถิ่นมากกว่าโครงการแลนด์บริดจ์
“เท่าที่ผมรู้ GLICs ไม่มีแผนจะลงทุนในโครงการนี้” นายโลคกล่าวกับวุฒิสภาเมื่อวันที่ 27 มี.ค.
นายโลคกล่าวต่อถึงจุดยืนของมาเลเซียที่มีต่อโครงการแลนด์บริดจ์ไทยว่ารัฐบาลมาเลเซียได้มีข้อเสนอไปยังรัฐบาลไทยแล้วว่าให้พิจารณาในเรื่องความสัมพันธ์ทวิภาคีเชิงยุทธศาสตร์ที่จะส่งเสริมให้สองฝ่ายมีแต่ได้ประโยชน์หรือที่เรียกว่าวินวิน
“นี่คือเมกะโปรเจกต์ หากภาคเอกชนจําเป็นต้องลงทุนก็จะต้องประเมินศักยภาพในแง่ของผลตอบแทน นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับว่าบริษัทขนส่งจะใช้สิ่งนี้อํานวยความสะดวกได้หรือไม่” นายโลคกล่าว
นายโลคกล่าวเสริมว่ารัฐบาลมาเลเซียจะใช้แนวทางแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล และมีการหารือเพิ่มเติมกับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับโครงการนี้
ก่อนหน้านี้นายโลคเคยกล่าวว่าโครงการแลนด์บริดจ์คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการสัญจรของตู้คอนเทนเนอร์ในภาคใต้ของประเทศไทยเป็นหลัก โดยในปี 2566 ท่าเรือปีนังของมาเลเซียนั้นมีความสามารถในการรับตู้สินค้าได้ 262,169 ทีอียู หรือ 18.2% สำหรับสินค้าที่ไม่ว่าต้นทางหรือว่าปลายทางมาจากประเทศไทย
นายโลคได้เคยเน้นย้ำด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและไทยควรถูกมองว่าเป็นประโยชน์ร่วมกัน มากกว่าจะเป็นเกมที่ต้องมีใครแพ้ชนะ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความท้าทายร่วมกันในด้านเศรษฐกิ จการเมือง ซึ่งเป็นโอกาสในการทํางานร่วมกันในโครงการริเริ่มต่างๆที่มีผลกระทบ และหนึ่งในจุดน่าสนใจคือการยกระดับการเชื่อมต่อกันในเครือข่ายการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารระหว่างสองประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซียกล่าวว่ามาเลเซียพร้อมที่จะแบ่งปันพัฒนาการล่าสุดของโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมชายฝั่งตะวันออก (ECRL) กับประเทศไทย และรัฐบาลเปิดรับข้อเสนอในการขยายเส้นทาง ECRL ไปยังชายแดนและรวมเข้ากับโครงข่ายรถไฟไทยหรือโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต
"กระทรวงคมนาคมยังคงมองโลกในแง่ดีว่ามาเลเซียและไทยสามารถสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านการขนส่งและการพัฒนาประเทศ โดยพัฒนาผลประโยชน์ระยะยาวร่วมกัน แทนที่จะมีส่วนร่วมในการแข่งขันที่ต้องมีใครแพ้ชนะ" นายโลคกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://theedgemalaysia.com/node/706110