เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'นริศ ชัยสูตร' อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ -พวก อนุญาตให้บริษัทเอกชนเช่าที่พร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างโดยมิชอบ ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟ้อง- ป.ป.ช.ค้าน อสส.ไม่อุทธรณ์สู้เหตุเป็นการยกฟ้องแบบขาด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายนริศ ชัยสูตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์กับพวก คือ นายนิพิธ หรือนิพิฐ อริยวงศ์ , นายธนพร พรหมพันธุ์ , นายสุกิจ เที่ยงมนีกุล และนางธมลวรรณ รัตติรุจิเศวต อนุญาตให้บริษัทเอกชนเช่าที่ราชพัสุดพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างโดยมิชอบ และไม่เรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนตาม ระเบียบฯ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 ไม่เห็นพ้องด้วยที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์ กรณีศาลฯ มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้า
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่พิพากษายกฟ้อง นายนริศ ชัยสูตร และพวก มีสาระสำคัญใน 2 ประเด็น คือ
หนึ่ง
กรณีที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยจัดให้เช่าที่ราชพัสดุโดยยังไม่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติเห็นชอบให้ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) เช่าที่ราชพัสดุโดยไม่ต้องประมูล แม้จะมีคำว่าให้กรมธนารักษ์พิจารณาโดยรอบคอบอีกครั้ง แต่ข้อความดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงการที่จะต้องนำมาเสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุเพื่อมีมติอีกครั้ง แต่เป็นไปเพื่อให้ผลการดำเนินการออกมา ในลักษณะสมบูรณ์ปราศจากข้อกังขา หากที่ประชุมยังไม่มีมติให้ดำเนินการดังกล่าว ต้องใช้ถ้อยคำว่า “ให้กรมธนารักษ์นำเรื่องกลับไปพิจารณาให้รอบคอบ เสร็จแล้วนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุเพื่อมีมติอีกครั้ง” และส่วนท้ายของมติยังระบุว่า ให้กรมธนารักษ์ นำแนวทางพิจารณาของที่ประชุมไปดำเนินการ ถือเป็นเหตุผลสนับสนุนให้หนักแน่นยิ่งขึ้นว่า มติดังกล่าวอนุญาตให้กรมธนารักษ์ทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์จำกัด (มหาชน) ได้ โดยไม่ต้องมีการประมูล ศาลจึงพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้า จึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการแล้ว
สอง
กรณีที่โจทก์ ได้กล่าวหาว่า จำเลยคิดค่าเช่าค่าธรรมเนียม 95,545,982 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาผลประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2545 ข้อ 23(5) และคำสั่งของกรมธนารักษ์ที่ 296/2553 เป็นเกณฑ์คำนวณนั้น เป็นสิ่งที่ ไม่ถูกต้อง แต่โจทก์มีความเห็นด้วยว่า หากที่ประชุมมีมติอนุญาตให้กรมธนารักษ์เช่าโดยตรง ไม่มีการประมูลก็ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในการคิดคำนวณค่าเช่า ค่าธรรมเนียมได้
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในข้อหนึ่งที่ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติอนุญาตให้กรมธนารักษ์ ทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับบริษัทเอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) โดยไม่ต้องมีการประมูล จึงถือว่าการคิดค่าเช่าค่าธรรมเนียมการเช่า จึงถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบราชการแล้ว พร้อมกันนี้ศาลได้ยกตัวอย่าง กรณีสัญญาเช่าระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัทโรงพยาบาลภัทร จำกัด แม้มีการสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ ก็ไม่มีการเรียกเก็บค่าเช่าค่าธรรมเนียมจัดหาประโยชน์ที่ปลูกสร้างอาคารอีก และยังยกตัวอย่างกรณีการเช่าที่ราชพัสดุระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัททรัพย์ศรีไทยคลังสินค้า แม้จะมีการยกกรรมสิทธิ์อาคารโกดังสินค้า 5 หลังให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง ตามสัญญาก็ไม่คิดค่าเช่าค่าธรรมเนียมค่าประโยชน์ตอบแทนจากอาคารที่ผู้เช่ายกให้ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่า ผลประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์ คำนวณมา 276,581,195 บาทยังคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงและคำสั่งของทางราชการ และยังถือไม่ได้ว่า กรมธนารักษ์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 181,735,213 บาท ตามคำฟ้องของโจทก์ โดยสรุปข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ครั้งที่ 1/2555 ลงวันที่ 5 กันยายน 2555 และปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของราชการถูกต้อง จำเลยทั้งห้าไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ศาลพิพากษายกฟ้อง
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า คดีนายนริศ ชัยสูตร อัยการสูงสุดยืนยันกลับไปที่ป.ป.ช.แล้วว่า จะไม่อุทธรณ์ เพราะจากคำพิพากษาเป็นการยกฟ้องแบบขาด
เกี่ยวกับคดีนี้ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.า ได้มีมติชี้มูลความผิด นายนริศ ชัยสูตร อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ และพวก 4 ราย กรณีการเช่าที่ราชพัสดุในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนต่อกระทรวงการคลัง กรณีกรมธนารักษ์จัดให้บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) เช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สป. 668 ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยไม่ต้องประมูล เรียกเก็บค่าเช่าตลอดอายุสัญญาเช่า 30 ปี เป็นเงิน 64,214,732 บาท และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 30 ปี เป็นเงิน 31,331,250 บาท รวมเป็นผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสิ้น 95,545,982 บาท ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย จากการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 เพราะเป็นการจัดให้เช่าไม่ตรงลักษณะการให้เช่าตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ.2545 ข้อ 23 (4) และ(5) (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ)
อนึ่งสำหรับนายนริศ ชัยสูตร เคยดำรงตำแหน่งประธานสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2536-2537 ในปีต่อมาจึงได้รับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2541-2547 ภายหลังจากพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีแล้ว จึงได้โอนย้ายมารับราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง และในปี พ.ศ. 2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และเคยมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเป็นโฆษกกระทรวงการคลัง อีกด้วย
อ่านข่าวในหมวดเดียวกัน