ป.ป.ช. มติ 7 ต่อ 1 เสียง ชี้มูลคดีอาญา 'นริศ ชัยสูตร' อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์-พวก 4 ราย กรณีให้เช่าที่ราชพัสดุสมุทรปราการ มูลค่า 200 ล้าน ไม่ต้องประมูล เรียกเก็บค่าเช่าตลอดอายุสัญญาเช่า 30 ปี น้อยกว่าความเป็นจริง ทำรัฐเสียหายหลายสิบล้าน
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีมติชี้มูลความผิด นายนริศ ชัยสูตร อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ และพวก 4 ราย กรณีการเช่าที่ราชพัสดุในจังหวัดสมุทรปราการ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 7 ต่อ 1 เสียง เห็นว่า นายนริศ ชัยสูตร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ส่วนข้าราชการอีก 4 ราย ประกอบไปด้วย
1. นายนิพิธหรือนิฬฐ อริยวงศ์ ผู้ถูกกล่าวที่ 2 (เคยปรากฏชื่อมีตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษาด้านพัฒนาการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์)
2. นายธนพร พรหมพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 (ช่วงปี 2560 เคยมีตำแหน่งเป็น ธนารักษ์พื้นที่นครพนม)
3. นายสุกิจ เที่ยงมนีกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 (ช่วงปี 2556 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย )
4. นางธมลวรรณ รัตติรุจิเศวต ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 (เป็นพยานลงนามในสัญญาเช่าที่ / ปัจจุบันเป็นธนารักษ์พื้นที่สมุทรปราการ)
ทั้ง 4 ราย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เคยปรากฎเป็นข่าวว่า มีผู้ร้องเรียนต่อกระทรวงการคลัง กรณีกรมธนารักษ์จัดให้บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) เช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สป. 668 ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยไม่ต้องประมูล เรียกเก็บค่าเช่าตลอดอายุสัญญาเช่า 30 ปี เป็นเงิน 64,214,732 บาท และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 30 ปี เป็นเงิน 31,331,250 บาท รวมเป็นผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสิ้น 95,545,982 บาท ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย จากการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 เพราะเป็นการจัดให้เช่าไม่ตรงลักษณะการให้เช่าตามกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ.2545 ข้อ 23 (4) และ(5)
ขณะที่กระทรวงการคลัง ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การที่กรมธนารักษ์จัดให้บริษัทเอกชน คือ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) เช่าที่ราชพัสดุดังกล่าว ไม่ถูกต้องทำให้กรมธนารักษ์ เสียผลประโยชน์มากกว่า 60 ล้านบาท จากการตรวจสอบเอกสารและผลการหารือของคณะกรรมการฯร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ระบุว่าเจ้าของสัญญาที่เช่าที่ราชพัสดุเดิมคือชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ได้ขอเช่าที่เพื่อทำสะพานปลา และต่อมาได้นำที่ดินดังกล่าวไปเช่าช่วงให้แก่บริษัทเอเชียน มารีนเพื่อดำเนินการเป็นอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากสัญญาเช่าได้หมดอายุลง ทางกรมธนารักษ์จึงเรียกผู้เช่ารายเดิมมาทำสัญญาก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติของกรมธนารักษ์ แต่ชุมนุมสหกรณ์ฯ ไม่ได้ติดต่อกลับให้ทันภายในระยะเวลาที่กรมธนารักษ์กำหนด ทำให้กรรมสิทธิ์ในสัญญาเช่าหมดไป กรมธนารักษ์จึงเปิดให้ผู้ที่มีความสนใจเข้ามาประมูลพื้นที่ดังกล่าว
ในระหว่างการติดต่อเพื่อทำสัญญาใหม่ ปรากฏว่าบริษัทเอเชียน มารีน ได้มีความประสงค์เป็นผู้เช่าจากกรมธนารักษ์โดยตรง เพราะได้ลงทุนก่อสร้างและพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าว เป็นอาคารสำนักงานและอู่ต่อเรือ จำนวน 13 หลัง มูลค่า 50-60 ล้านบาท จึงหวังว่าจะได้ดำเนินธุรกิจบนที่ดินดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมีการทำสัญญาใหม่ระหว่างบริษัทเอเชียน มารีนกับกรมธนารักษ์ ที่มีนายนริศ ชัยสูตร เป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงการคลังว่ากรมธนารักษ์อนุมัติให้เช่าที่ราชพัสดุโดยไม่ชอบและส่อไปในทางทุจริต เนื่องจากสัญญาเช่าใหม่ได้ตกลงเช่าในอัตราต่ำสุด ทำให้กรมธนารักษ์เสียผลประโยชน์
กล่าวคือ ตามปกติกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลที่ราชพัสดุทั่วประเทศ มีกฎระเบียบในการให้เช่า 2 กรณี ในกรณีที่ 1 การเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ผู้เช่าต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ดินในอัตรา 2% คูณกับจำนวนปี เช่น เช่าที่ดิน 30 ปี ต้องเสียค่าธรรมเนียมคิดรวมทั้งหมดตลอดอายุสัญญาการเช่าคือ 60% ส่วนกรณีที่ 2 หากเป็นการเช่าเชิงพาณิชย์ ที่ดิน 2 ไร่ขึ้นไป จะเสียค่าเช่าในอัตราต่ำที่สุดที่ 30% ขึ้นไปจนตลอดอายุสัญญา (จ่ายครั้งเดียวจบ) โดยไม่ต้องคูณจำนวนปี เนื่องจากอาคารและสิ่งก่อสร้างเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ทั้งหมดจะตกเป็นของกรมธนารักษ์
ปรากฏว่าในการทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุของบริษัทเอเชียน มารีน ได้ทำในกรณีที่ 2 เป็นการเช่าเชิงพาณิชย์ โดยราคาประเมินที่ดินแปลงดังกล่าว มีมูลค่า 200 ล้านบาท ทางบริษัทเอเชียน มารีน ได้เสียค่าธรรมเนียมการเช่าที่ราชพัสดุในอัตราที่ต่ำที่สุด 30% คิดเป็นเงิน 60 ล้านบาท โดยตกลงจะจ่ายเงินก้อนแรก 30 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจ่ายให้แก่กรมธนารักษ์เป็นรายปีบวกดอกเบี้ย จนครบอายุสัญญาการเช่า 30 ปี แต่การคิดอัตราค่าเช่าที่ราชพัสดุดังกล่าวพบว่าสวนทางกับนโยบายของกระทรวงการคลัง ในเรื่องการเพิ่มมูลค่าให้แก่ที่ราชพัสดุ เนื่องจากกรมธนารักษ์เรียกเก็บค่าเช่าจากบริษัทเอเชียน มารีน ในอัตราต่ำที่สุด คือ 30% ทั้งๆที่ที่ดินบริเวณดังกล่าวมีความเจริญขึ้นมาในระดับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ที่ทางชุมนุมสหกรณ์ฯเช่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ดังนั้น อัตราค่าเช่าควรที่จะมากกว่า 30% อีกทั้งการอนุมัติให้เช่าที่ราชพัสดุดังกล่าวยังไม่ได้บวกรวมกับทรัพย์สินที่มีเพิ่มเติมจากสัญญาเช่าเดิมคือ อาคารสำนักงานและโรงงานที่เป็นอู่ต่อเรืออีก 13 หลังซึ่งมีมูลค่าอีกประมาณ 50-60 ล้านบาท ทำให้กรมธนารักษ์เสียผลประโยชน์
นอกจากนี้ ในการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ยังระบุว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าว ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบให้มีการอนุมัติประมูลจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ขณะที่ในอดีตที่ผ่านมาหากมีการเปิดประมูลที่ราชพัสดุแปลงใดก็ตาม คณะกรรมการที่ราชพัสดุจะเป็นผู้พิจารณาในทุกกรณีไม่มีการยกเว้น (อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้จากhttps://www.thairath.co.th/business/455824)
ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สอบสวนเป็นทางการ ในช่วงเดือนมกราคา 2562 ที่ผ่านมา
สำหรับนายนริศ ชัยสูตร เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2536-2537 ในปีต่อมาจึงได้รับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2541-2547 ภายหลังจากพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีแล้ว จึงได้โอนย้ายมารับราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง และในปี พ.ศ. 2554 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ และเป็นโฆษกกระทรวงการคลัง และยังเคยมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังด้วย
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาทุกราย ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด