‘คมนาคม-กรมทางหลวง’ ตบเท้าเข้าชี้แจง สว. ความคืบหน้ามอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ยืนยันเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 พร้อมอัปเดตขอเงินเพิ่มครม.อีก 1,741 ล้านบาท โบะค่างานก่อสร้างที่ทำแล้วแต่ยังไม่ได้เบิกจ่าย ยังอยู่ระหว่างบรรจุวาระ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมาได้เข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา (สว.) ที่มีพล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นประธาน ร่วมกับตัวแทนจากกรมทางหลวง (ทล.) กรณีความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) ที่มีการปรับรูปแบบการก่อสร้าง และขออนุมัติเงิน งบประมาณก่อสร้างและขยายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มเติม
เบื้องต้น ได้รายงานไปในที่ประชุมว่า ความคืบหน้าของการก่อสร้างในปัจจุบัน งานโยธาจำนวน 40 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสิ้น 29 สัญญา และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 11 สัญญา โดยประมาณการความก้าวหน้าอยู่ที่ 93.90% ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนด 0.143%
นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินการงานระบบและ O&M ที่มีกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR 6 และกิจการร่วมค้า BGSR 81 ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เป็นผู้รับจ้าง มีความก้าวหน้าอยู่ที่ 30.74% ช้ากว่าแผน 33.03%
ทั้งนี้ โครงการจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทาง ภายในปี 2569
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ส่วนการขออนุมัติเงินงบประมาณก่อสร้างและขยายการก่อหนี้ผูกพันข้ามงบประมาณ เพิ่มเติม ผู้แทนกรมทางหลวงได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า วงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา มีกรอบวงเงินตามมติคณะรัฐมนตรี 8 มีนาคม 2559 รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 69,970 ล้านบาท ใช้เป็นวงเงินสัญญาก่อสร้างงานโยธา 40 สัญญา รวมทั้งสิ้น 59,410 ล้านบาท ดังนั้น จะมียอดเงินคงเหลือทั้งสิ้น 10,559 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีการขออนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ (คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566) เป็นเงินจำนวน 4,971 ล้านบาท และมีการขออนุมัติ เพิ่มวงเงินงบประมาณส่วนที่ดำเนินการแล้วจำนวน 1,741 ล้านบาท ทั้งนี้ การขออนุมัติวงเงินที่ขอเพิ่มเติม จำนวนเงิน 1,741 ล้านบาท อยู่ระหว่าง การบรรจุวาระเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ และหากคณะรัฐมนตรีมีการพิจารณาอนุมัติ กรมทางหลวงจะเข้าสู่กระบวนการการลงนามสัญญาแก้ไข และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ โครงการ เพื่อทำการตรวจรับการดำเนินโครงการตามกรอบระยะเวลาภายใน 1 – 2 เดือน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการคมนาคม ของสว.มีข้อแนะนำฝากว่า 1.เห็นควรให้กรมทางหลวงเร่งดำเนินการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มเส้นทาง ทางเลือกในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง 2. เห็นควรให้กรมทางหลวงพิจารณาเปิดเส้นทางโครงการระหว่าง สระบุรี – แก่งคอย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนผู้ใช้เส้นทางและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนเมษายน 2567 และ3. มีข้อห่วงใยถึงกรมทางหลวงในประเด็นความล่าช้าในการดำเนินการ ควรมีการกำชับ และเร่งดำเนินการตามแผนที่วางไว้ เพื่อทันต่อการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทาง ภายในปี 2569