‘นายกฯ’ ยืนยันเร่งเดินหน้าเจรจา ‘กัมพูชา’ เปิดทางขุด ‘ขุมทรัพย์พลังงาน’ ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มูลค่า 20 ล้านล้าน โดยเร็วที่สุด ระบุการจัดการ ‘ราคาพลังงาน’ ต้องไม่เพิกเฉยต่อ ‘กลไกตลาด’
....................................
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานเปิดงาน Thailand Energy Executive Forum และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน’ ตอนหนึ่งว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เดินทางมาเยือนไทย ซึ่งตนได้หารือกับนายกฯกัมพูชาหลายเรื่อง เช่น เรื่องชายแดน การค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน และการดูแลแรงงานกัมพูชา รวมถึงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาด้วย
“เรื่องปัญหาแรงงาน ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมคุยกับนายกฯกัมพูชา แต่เรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งหลายๆท่านติดตามอยู่ คือ เรื่อง OCA (overlapping claims areas) พื้นที่ทับซ้อน ซึ่งจริงๆมูลค่าก็มหาศาล ขึ้นอยู่กับตัวเลขไหนที่คนกัน อาจพูดกันถึง 20 ล้านล้านบาทก็ได้ แต่เรามีปัญหาเรื่องชายแดน มีปัญหาเรื่องเขตแดนอยู่ เป็นเรื่องที่ sensitive (อ่อนไหว) เป็นเรื่องที่หลายๆส่วนให้ความสนใจกันอยู่ ผมจึงขอแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องพื้นที่ทับซ้อน กับขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ทะเล
อันนี้เป็นอะไรที่เราต้อง handle with care (จัดการด้วยความระมัดระวัง) มีการพูดคุยกัน เราก็ยืนยัน เราให้ความสำคัญสูงสุดในเรื่องนี้ แล้วจะมีการพูดคุยกัน และจะพยายามนำสินทรัพย์ชิ้นนี้ออกมาใช้โดยเร็วที่สุด ในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานระหว่าง brown energy ไปสู่ green energy เพราะอย่างไรก็ตามที เราก็ต้องการแก๊สอยู่ดี เรื่องนี้ ก็ขอให้สบายใจว่า เราจะเดินหน้ากันต่อไป โดยจะพยายามแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อน และการแบ่งผลประโยชน์ แต่เรื่องนี้ต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ แล้วจะส่งผลต่อราคาพลังงานด้วย” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัท Data center ต่างๆ เช่น Google ,HUAWEI และ Microsoft กำลังจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท ซึ่งราคาพลังงานมีความสำคัญกับเรื่องการดึงดูดนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะค่าพลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่ทุกบริษัทต่างมีประเด็นสอบถามว่า จะมีกลไกอะไรที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ เช่น การใช้ PPA การขอใช้ Grid ของการไฟฟ้าฯในปัจจุบัน เป็นต้น
“การ Ignore กลไกตลาดจะทำไม่ได้ พลังงานที่ผลิตขึ้นมาต้องมีผู้จ่ายอยู่ดี และอาจจะเป็นเงินของพวกเราทุกคนที่จะวนกลับไปจ่ายให้ผู้ผลิต ทำให้ต้องเก็บเงินกลับคืนอยู่ดี แต่ความเชื่อมั่นที่สูญเสียไปจะประเมินมูลค่าไม่ได้ การที่จะทุบราคาโดยไม่สนใจกลไกตลาด จะกลายเป็นการทำรัฐประหารทางเศรษฐกิจ เราอาจจะได้ค่าไฟถูกอยู่ไม่กี่วัน ก่อนจะต้องควักเอาเงินของประชาชนมาจ่ายไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม อีกทั้งยังส่งผลกระทบด้านลบต่อการลงทุน การส่งออก การจ้างงาน และเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะอยู่ในใจของคนทั้งโลกไปนานนับปี
เรื่องนี้ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ว่าเรามีกลไกสนับสนุนในด้านภาษีที่ดีแล้ว เรามีมาตรการที่ทำให้คนที่อยู่ในประเทศไทยแล้วมีความสุข แต่เรื่องของราคาพลังงานยังเป็นเรื่องที่สำคัญ เรามองระยะยาวและเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีเสถียรภาพการเมืองที่มั่นคง พร้อมดึงดูดนักลงทุนมาตั้งฐานที่นี่ และเรายังมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายโครงการที่จะมาสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติมา ไม่ใช่แค่พลังงานสะอาดอย่างเดียว มาตรการทางภาษีอย่างเดียว โดยเดือนหน้าจะมีการประกาศเรื่องการบิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการตั้งฐานการผลิตด้วย” นายเศรษฐา กล่าว