‘สำนักงาน ป.ป.ช.’ เตรียมแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ ‘คณะกรรมการ ป.ป.ช.’ สืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ เปิดทางใช้เครื่องมือสื่อสาร-อิเล็กทรอนิกส์ สะกดรอย-หาพยานหลักฐาน ในการตรวจสอบ-ไต่สวนฯคดีทุจริตได้
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใต้กระบวนการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
อย่างไรก็ดี ในรายงานดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุตอนหนึ่งว่า แม้ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการผลักดันให้มีการตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งมีความสอดคล้องรองรับตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003
เช่น การกำหนดฐานความผิดการให้และรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ การกำหนดหลักการริบทรัพย์สินตามหลักมูลค่า การกำหนดความรับผิดของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน การกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่หากมีการหลบหนี ความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เป็นต้น
แต่ประเทศไทยยังคงมีประเด็นตามข้อบทบังคับแห่งอนุสัญญาฯ ที่ยังต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น เช่น การสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ การกำหนดบทลงโทษสำหรับนิติบุคคลให้มีประสิทธิภาพ ได้สัดส่วน และมีผลในการยับยั้งการกระทำความผิด การห้ามมิให้นำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสินบนมาลดหย่อนภาษี โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อต้านการทุจริต 2 ประเด็น ดังนี้
1.การสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ (Special Investigative Techniques) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เห็นชอบในหลักการให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2561 โดยกำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ครอบคลุมถึงการสืบสวนสอบสวนโดยวิธีพิเศษ ตามข้อบทที่ 50 แห่งอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นข้อบทบังคับ
เช่น การเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การปฏิบัติการอำพราง และการใช้เครื่องมือสื่อสารหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการสะกดรอย เพื่อให้เข้าถึงและได้มาซึ่งพยานหลักฐานอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบและไต่สวนคดีทุจริตอันเป็นอาชญากรรมร้ายแรง
2.มาตรการชะลอการไต่สวนนิติบุคคล (Non-Trial Resolutions) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เห็นชอบให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์มาตรการชะลอการดำเนินคดีอาญาในชั้นไต่สวนสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2561 เพื่อนำหลักการชะลอการไต่สวนนิติบุคคลมาใช้บังคับ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บังคับใช้กฎหมายในการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญา
โดยเพิ่มกลไกการชะลอการดำเนินคดีกับนิติบุคคล ซึ่งเป็นการยกระดับในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยส่งเสริมให้นิติบุคคลเข้ามาให้ถ้อยคำหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเพื่อให้การปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการเยียวยาความเสียหายแก่ภาครัฐหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิด การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจเอกชนในด้านการลงทุนให้เป็นไปด้วยความเข้มแข็ง ยั่งยืน
และคงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีการดำเนินการเทียบเท่ามาตรฐานสากลสอดคล้องตามอนุสัญญาฯ รวมถึงหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
อ่านประกอบ :
เปิดร่าง กม.ปราบโกง ฉบับ'เพื่อไทย' เพิ่มอำนาจ'อสส.'ถ่วงดุล'ป.ป.ช.' ก่อนสภาฯถก 16 ก.พ.นี้
‘เพื่อไทย’ ยื่นแก้กฎหมาย พ.ร.ป. 2 ฉบับ ‘ป.ป.ช.-พิจารณาคดีอาญานักการเมือง’