หลายฝ่ายคัดค้านร่างผังเมืองใหม่ กทม.หลายประเด็น ‘อรรถวิชช์’ ติรับฟังความเห็นน้อย ไม่ทำผังเมืองเฉพาะ อัดปมสร้างตึกสูงในซอยแคบ ด้านชาวบ้านจากเสรีไทยโอดที่ดินมรดกถูกตีเป็นถนนทั้งผืน วอนแก้ไข ด้านชุมชนสุขุมวิท 53 ดักคอเพิ่มแผนขยายถนน ส่อเอื้อบิ๊กอสังหาฯผุดตึกสูงในซอยแคบทั่วกรุงหรือไม่ ด้านก้าวไกลเสนอ 10 ข้อสังเกตผังเมือง จ่อตั้งกระทู้สภาฯ-ยกร่างแก้ พ.ร.บ.ผังเมือง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 มกราคม 2567 จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปอย่างตึงเครียด หลังจากที่ กทม. เปิดให้ประชาชนซักถามในประเด็นต่างๆ โดยประชาชนมีความเห็นไปในทางไม่เห็นด้วยกับร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว
@กทม.ควรขยายเวลาฟังความเห็น
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกพรรคกล้าและอดีต สส.กทม.เขตจตุจักร พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า จากที่มาร่วมสังเกตการณ์ พบว่าสีที่กำหนดในผังเมืองต่างๆ เป็นการกำหนดที่เอื้อกลุ่มนายทุนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หรือไม่ และการรับฟังความเห็นประชาชนที่กำหนดไว้ก็ให้เวลาน้อยเกินไป ทำให้เนื้อหาในผังเมืองที่จะต้องทำผังเมืองเฉพาะไม่สามารถระบุเฉพาะเจาจงลงไปได้เลย
ขอยกตัวอย่างเขตจตุจักรและพญาไท ซึ่งเป็นเขตที่ตนคุ้นเคยนั้น ถนนส่วนมากในตรอกซอกซอยมีความกว้าง 6 เมตร แต่ในความจริงทั้งสองข้างทางมีกระถางต้นไม้วางเรียงเป็นแนวยาวตลอดช่วง ทำให้ความกว้างถนนเหลือเพียง 4.5 เมตรเท่านั้น แต่บริเวณนี้มีการอนุญาตให้สร้างตึกได้ตลอดเวลา เพราะเมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์เข้ามา การวัดพื้นที่จะวัดแบบกำแพงชนกำแพง ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งการจะห้ามไม่ให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยไม่พิจารณาถึงสภาพแวดล้อมรอบข้างได้ ก็คือ การระบุลงไปในผังเมืองนั่นเอง
หรือย่านถนนพหลโยธินแถวซ.ราชครู และ ซ.สายลม ย่านนี้มีรถไฟฟ้าผ่าน ก็มีข่าวลือว่า จะมีการขยายถนนด้านหลังตรอกซอกซอยเหล่านี้ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เจ้าหนึ่ง ทั้งๆที่ซอยมีขนาดเล็ก ปัญหาทั้งสองนี้ มีปัญหาทุกพื้นที่ เพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์มีความต้องการพื้นที่เหล่านี้ ทำให้เวลาทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงไม่สะท้อนข้อเท็จจริง ซึ่งการจะทำผังเมืองเฉพาะ กทม.ต้องลงมาฟังเสียงประชาชนให้ครบถ้วน
อีกปัญหาหนึ่งคือ ทางลัดต่างๆ ยกตัวอย่างแถวคลองเปรมประชากรที่มาคู่กับรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - รังสิต หากกำหนดให้ทำสะพานเล็กข้ามสันเขื่อนคอลงเปรมประชากร การจราจรจะสามารถไหลไปสู่เขตหลักสี่ ทุ่งสองห้อง ไปเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงทุ่งสองห้องได้ แต่ปัจจุบันไม่มีการดำเนินการ หรือเขตจอมทองที่มีถนนราชพฤกษ์ บริเวณซ.เอกชัย 30 และเอกชัย 33 ซึ่งสามารถทำทางลัดทะลุได้ แต่ กทม.กลับมาแผนก่อสร้างถนนขนาดใหญ่ ถนนสายใหม่ เชื่อมถนนสุขสวัสดิ์-เพชรเกษม-กาญจนาภิเษกแทน และชาวบ้านไม่เอาโครงการนี้
อดีต สส.ประชาธิปัตย์กล่าวกับผู้สื่อข่าวต่อไปว่า สุดท้าย ความเป็นเมืองซับน้ำของกรุงเทพฯก็หายไป ขยายพื้นที่สร้างบ้านจัดสรรและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น บางจุดยกตัวอย่างเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ทำไมยกเป็นเขตสงวนได้ จริงๆแล้วพื้นที่อื่นๆในกรุงเทพฯ ควรจะต้องประกาศเป็นเขตสงวนแล้ว ไม่เช่นนั้น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ จะผุดโครงการใหม่ๆยัดในซอยเล็กๆอีก
“กทม.ควรขยายเวลารับฟังประชาชนมากกว่านี้ เพราะถ้าไม่ขยายเวลาออกไป กทม.จะไม่รับทราบข้อมูลจากประชาชน แต่จะได้ข้อมูลแต่จากบริษัทอสังหาริมทรัพย์” นายอรรถวิชช์ระบุ
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกพรรคกล้าและอดีต สส.กทม.เขตจตุจักร พรรคประชาธิปัตย์
@ที่ดินถูกตีเป็นถนนทั้งผืน
ขณะที่ตัวแทนประชาชนจากย่านเสรีไทย กล่าวแสดงความเห็นบนเวทีว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ผังเมืองพิจารณาปรับปรุงผังเมืองกทม.ฉบับนี้ เพราะได้ขีดที่ดินของตน ซ.เสรีไทย 66 ทั้ง 10 ไร่ 3 งาน 36 ตารางวาเป็นถนนทั้งหมด ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินมรดก และที่ผ่านมาไม่เคยรู้เลยว่า มีการวางผังเมืองกทม.ฉบับใหม่เกิดขึ้น และเจ้าหน้าที่ไม่เคยแจ้งให้ทราบมาก่อนว่า จะทำการวางผังเมือง กทม.ใหม่ ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลการ และขอคัดค้านไม่ยอมให้ที่ดินที่ครองกรรมสิทธิ์นี้เป็นถนนอย่างเด็ดขาด
“ข้าพเจ้าจะแบ่งที่ดินให้บุตร 4 คน แต่ถูกผังเมืองทำให้เป็นถนนทั้งผืน ทำให้ข้าพเจ้าเสียสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และข้าพเจ้าเพิ่งทราบ จะทำการอะไรก็ไม่ได้ จะซื้อขายก็ไม่ได้ คนมาซื้อที่พอรู้ติดเงื่อนไขของผังเมืองก็ไม่ซื้อ ทำไมคนวางผังเมืองไม่มาดูว่าเป็นที่ดินของใคร แล้วทำหนังสือถึงเจ้าของที่ว่า ยินยอมหรือไม่อย่างไร ขอให้เร่งแก้ไขด้วย” ตัวแทนจากย่านเสรีไทยกล่าวตอนหนึ่ง
@เพิ่มขยายถนน เอื้อบิ๊กอสังหาผุดตึกสูงหรือไม่
ขณะที่ตัวแทนจากเครือข่ายชุมชน ซ.สุขุมวิท 53 เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ปัญหาจากผังเมือง กทม.ฉบับนี้ ได้รับทราบมาว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีความพยายามก่อสร้างอาคารสูงในซอยที่มีขนาดถนนแคบ ซึ่งในกทม.มีหลายแห่ง ทั้งๆที่ตามกฎหมาย กำหนดให้การก่อสร้างอาคารตั้งแต่ 8 ชั้นหรือสูง 23 เมตรขึ้นไป ถนนที่ติดจุดก่อสร้างจะต้องมีความกว้าง 10 เมตรตลอดสายทาง และหากจะสร้างอาคารขนาดสูงที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 30,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือตึกสูง 30-40 ชั้น ถนนจะต้องกว้างเกิน 18 เมตรขึ้นไป
ปัญหาที่เครือข่ายชุมชนได้รับผลกระทบคือ มีการตีความทางกฎหมายเบี่ยงเบนออกไป โดยมีการรวมเอาคูคลอง ซึ่งในกฎหมายใช้คำว่า ‘เขตทาง’ เกิดเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการตีความได้ ซึ่งเขตทางจะนับกำแพงต่อกำแพง แต่เมื่อกฎหมายไม่ระบุชัดเจนให้เป็นความกว้างของถนน จึงกลายเป็นช่องว่างที่ให้ผู้ประกอบการนำไปตีความขยายเพิ่มเติมได้ กลายเป็นปัญหาทั่วกทม.
“สิ่งที่มาพูดก็เพราะในร่างผังเมือง มีระบุถึงการขยายถนน เพิ่มความกว้างจาก 6-8 เมตร เป็น 12-14 เมตร ซึ่งเครือข่ายตนมองว่า เป็นความพยายามเพื่อปลดล็อกให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สร้างอาคารสูงได้หรือไม่ จากเดิมบางซอยเป็นถนนแคบ แต่พอกทม.มีโครงการขยายถนน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร ถามว่าทุกวันนี้ขยายถนนแล้วรถหายติดหรือไม่? แต่ที่รู้ ถ้าทำสิ่งนี้ จะเป็นการปลดล็อกให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทำตึกสูงได้ง่ายขึ้นหรือไม่” ตัวแทนเครือข่ายระบุ
ตัวแทนจากเครือข่ายชุมชน ซ.สุขุมวิท 53
@ชง 10 ข้อเสนอผังเมือง กทม.
ขณะที่นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า เท่าที่สังเกตการณ์และรับฟังเสียงจากประชาชนพบว่า การร่างผังเมืองกรุงเทพฯฉบับนี้ยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง 2562 ต้องฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือรวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับประชาชน ก่อนที่จะจัดทำผังเมือง แต่ กทม. กลับไปเอาผังเมืองที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ปี 2560 มารวบรวมแล้วจัดทำรับฟังความเห็น ทำให้ประชาชนที่มารับฟังความเห็นไม่สบายใจกับสิ่งที่กทม.ทำ บวกกับผังเมืองที่กำลังทำ เน้นการรวมศูนย์สู่ศูนย์กลาง ภายนอกไม่ค่อยได้ทำ เช่น เขตหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง จะถูกกันเป็นที่รับน้ำเหมือนเดิม ไม่มีการบูรณาการ สิ่งเหล่านี้ ไม่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์
ส่วนมาตรการต่างๆที่ใส่เพิ่มลงไปในผังเมือง อาทิ FAR Bonus หรือ มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) ทำให้นักพัฒนาอสังหาฯ สามารถสร้างอาคารให้มีพื้นที่มากขึ้น หรือ การโอนสิทธิการพัฒนา (Transfer of Development Right หรือ TDR) หลายฝ่ายมองว่า เป๋นมาตรการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลตั้งคำถามอยู่
และที่สำคัญ ทิศทางการทำผังเมืองนี้ ตรงข้ามกับการทำผังเมืองที่ดีของโลก เช่น ผังเมืองที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์, สิงคโปร์, กรุงไทเป สาธารณรัฐไต้หวัน จะกระจายความเจริญออกไป โดยกำหนดโซนพัฒนาชัดเจน แต่ผังเมืองของกทม. กระจุกที่ส่วนกลาง กันพื้นที่รอบนอกออกไป ไม่ตอบโจทย์การสร้างความเจริญให้เมืองและประเทศเลย
ทีมงานพรรคก้าวไกลที่มาร่วมสังเกตการณ์ในที่ประชุม นายธีรัจชัย พันธุมาศ นั่งที่ 2 จากซ้าย
นอกจากนี้ นายธีรัจชัยระบุว่า กำลังจะตั้งกระทู้ถามในประเด็นผังเมืองกทม.นี้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และเตรียมแก้ พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 โดยอยู่ระหว่างเสนอที่ประชุม สส.พรรคก้าวไกล ส่วนข้อเสนอของพรรคต่อผังเมือง กทม. มี 10 ข้อ ดังนี้
ข้อเสนอข้อที่ 1 ต้องสงวนสิทธิ์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในรอบถัดไป
ข้อเสนอข้อที่ 2 การกำหนดสีผังเมืองโดยที่ไม่มีคอนเซ็ปท์ ซึ่งการเปลี่ยนผังเมืองของกทม. ในครั้งที่ 4 ครั้งนี้ เป็นเพียงการอัปเดทโซนนิ่ง คือการเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ของที่ดิน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวรถไฟฟ้าและการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่การวางผังเมืองเพื่อชี้นำความเจริญหรือกำหนดอนาคตของเมือง แต่เป็นการวางผังเมืองหลังจากที่เมืองได้มีการเจริญเติบโตไปก่อนแล้วค่อยปรับผังเมืองตามการเจริญเติบโตที่ไร้ทิศทางของเมือง
ข้อเสนอข้อที่ 3 การเปลี่ยนแปลงผังเมืองโซนสีเขียว ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรม ในฝั่งตะวันตก เช่น เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน ที่เคยถูกวางไว้ว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ จะมีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับการใช้ประโยชน์ของที่ดินอย่างก้าวกระโดดกว่าในหลายพื้นที่ ขณะที่ในส่วนของฝั่งตะวันออกจะมีการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังคงไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
ข้อสังเกตข้อที่ 4 คือการไม่กำหนดยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด กำหนดการเมืองกรุงเทพฯ นั้นไม่ได้มีการวางแผนร่วมกันระหว่างกทม. กับปริมณฑลอย่างมียุทธศาสตร์ เช่น ช่วงรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ทำให้การพัฒนาไม่มีความต่อเนื่อง ทั้งที่พื้นที่ติดต่อกัน แต่กลับเจริญไม่เท่ากัน
ข้อสังเกตข้อที่ 5 เรื่องของ FAR Bonus หรือสิทธิพิเศษในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผังเมืองกำหนด ร่างผังเมืองปัจจุบันมีการกำหนดมาตรการจูงใจให้เอกชนในการแลกกับ FAR Bonus เพิ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำบ่อหน่วงน้ำเป็นพื้นที่รับน้ำ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Afforable home) หรือการทำทางเชื่อมถนนสาธารณะ หรือการทำพื้นที่สำหรับเป็น Hawker Center เพิ่มพื้นที่สำหรับหาบเร่แผงลอยเพื่อแลกกับ FAR Bonus ที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิในการสร้างอาคารที่ใหญ่ขึ้นสูงขึ้นหนาแน่นขึ้นได้ แต่ไม่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์หรือผลประโยชน์ที่กรุงเทพฯ จะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพรรก้าวไกลมองว่า ควรกำหนด FAR เฉพาะในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา
ข้อสังเกตข้อที่ 6 ปัญหาความไม่สอดคล้องของการคมนาคมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และผังเมืองกรุงเทพ การตัดถนนใหม่ ไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางคมนาคมโดยรวมของภาครัฐ เนื่องจาก กทม. ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมระบบขนส่งมวลชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น กรณีของรถไฟฟ้า รถเมล์ กทม.ไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรง หรือกรณีของทางด่วน ถนน สะพานโครงการขนาดใหญ่ กทม. ก็ไม่ได้เป็นผู้สร้างด้วยเช่นกัน แต่สิ่งก่อสร้างอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม อีกทั้งผังเมืองของ กทม. ก็ไม่ได้ส่งเสริมการวางผังระบบตาราง (Grid Pattern System) ที่สร้างเพื่อเชื่อมซอย แก้ปัญหารถติดอย่างจริงจัง
ข้อสังเกตข้อที่ 7 เรื่องอภิสิทธิ์ที่ดินทหาร ซึ่งเป็นผังสีขาว โดยในร่างผังเมืองฉบับนี้ยังคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำ ไม่มีข้อกำหนดในการใช้ที่ดินสำหรับหน่วยทหาร ยกตัวอย่างเช่น การใช้พื้นที่ผังสีขาวในการสร้างอาคารที่พักอาศัยให้แก่เหล่านายพล หรือเป็นบ้านพักของทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งหากเอกชนต้องการพัฒนาพื้นที่ของตนเองกลับต้องเจอกับเงื่อนไขยุ่งยาก ขณะที่พื้นที่ทหารไม่มีข้อบังคับการใช้ที่ดินใด ๆ
ข้อสังเกตข้อที่ 8 การกำหนดพื้นที่สีแดงที่ไม่มีหลักการ ร่างฉบับปัจจุบันมีการกำหนดพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่สำหรับการทำพาณิชย์ กระจายตัวอยู่ตามที่ดินของเหล่านายทุน และบางพื้นที่ผังสีแดงไม่สอดคล้องกับผังการพัฒนา sub-cbd หรือพื้นที่เศรษฐกิจขนาดย่อยกระจายตามพื้นที่ รวมถึงไม่มีหลักการและเหตุผลที่สามารถอธิบายถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผังเมืองว่าเหตุใดในบางพื้นที่ถึงกำหนดให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงได้
ข้อสังเกตข้อที่ 9 ผังที่โล่ง ในการจัดทำร่างผังเมืองปัจจุบัน มีการจัดให้ผังที่โล่งและฝั่งสีเขียวของกรุงเทพเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ในร่างผังเมืองปัจจุบันได้นับรวมกับพื้นที่ของเอกชน เช่นสนามกอล์ฟ เข้าไปด้วย ซึ่งขัดแย้งต่อเงื่อนไขของการเป็นที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด
และข้อสังเกตที่ 10 ร่างผังเมืองสะท้อนสภาพปัญหาของกรุงเทพได้ชัดเจน คือเรื่องของการกระจุกความเจริญ และไม่ได้ลดความแออัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่มีการกระจายความเจริญโดยมีแผนรองรับอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้กรุงเทพฯ โตเฉพาะกรุงเทพชั้นใน เต็มไปด้วยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ นำมาซึ่งความแออัดและปัญหารถติดเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนกรุงเทพฯ ตะวันออก และกรุงเทพฯ ตะวันตก กลับยังไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา