‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะลดอำนาจ ‘เจ้าหน้าที่’ ใช้ดุลพินิจ 'อนุญาต' เปลี่ยนมือ ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’ พร้อมสร้าง ‘ระบบตรวจสอบ-ออกระเบียบทั่วไป’ ควบคุมการถือครองโฉนดฯไม่เกินรายละ 50 ไร่
.........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร โดยสำนักงาน ส.ป.ก. จะเร่งรัดการออกโฉนดเพื่อการเกษตร และแจกโฉนดฯตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.2567 นั้น (อ่านประกอบ : มีผลแล้ว! ราชกิจจาฯแพร่ระเบียบฯเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’-เปิดทางซื้อขายเปลี่ยนมือได้)
นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อพิจารณาระเบียบฯในเรื่องนี้แล้ว เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้น ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. ไปเป็นโฉนดที่ดินในแบบที่เกษตรกรจำนวนมากคาดหวัง แต่เนื้อในแทบเป็นแค่การเปลี่ยนชื่อ ‘ส.ป.ก.4-01’ เป็น ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’ ที่มีคุณสมบัติที่แทบไม่ได้เปลี่ยนไปจากเอกสารเดิม
“หลักๆ คือ มีการเปลี่ยนชื่อ ที่ทำให้รัฐบาลต้องออกเอกสารใหม่เป็นจำนวนที่อาจมากถึงกว่าสองล้านฉบับ แต่ในส่วนที่แก้เนื้อหาสาระเงื่อนไขและวิธีการเปลี่ยนมือแทบไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเลย จึงมีคำถามว่าถ้าจะแก้ระเบียบแค่นี้ มีความจำเป็นและคุ้มค่ากับการใช้เงินและเวลาทั้งของรัฐและเกษตรกร 1.6 ล้านราย ไปเปลี่ยนเอกสารอีกกว่า 2.2 ล้านฉบับหรือเปล่า” นายวิโรจน์ กล่าว
พร้อมกับตั้งคำถามว่า “หลังจากแก้ตามนี้แล้ว ถ้าเกษตรกรเอาเอกสารที่ดินใหม่ (โฉนดเพื่อการเกษตร) ไปยื่นจำนองกับธนาคาร ธนาคารทั่วไปจะรับจำนองหรือเปล่า เพราะถ้าที่ดินหลุดจำนอง ระเบียบใหม่ก็ไม่ได้บอกว่าธนาคารจะสามารถไปจัดการอะไรต่อได้ยังไงบ้าง เพราะในกรณีนี้ ที่ดินส่วนใหญ่ก็ยังจะถือว่าเป็นที่ดินของรัฐที่เกษตรกรแค่เช่าสิทธิทำกินมาจากรัฐเท่านั้น”
ส่วนกรณีที่ระเบียบฯ เปิดโอกาสให้นำเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ที่เปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรแล้วไปซื้อขายเปลี่ยนมือได้นั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นส่วนหลักที่เกษตรกรเรียกร้อง ซึ่งโดยหลักการก็เห็นด้วยกับการทำให้ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถเปลี่ยนมือได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระเบียบฯ ที่แก้ไขไปแล้ว ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการขายหรือเปลี่ยนมือจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง และถึงแม้จะตีความได้ว่าอาจใช้วิธีให้เกษตรกรแจ้งขอสละสิทธิในที่ดินโดยเสนอชื่อเกษตรกรที่ต้องการซื้อมารับสิทธิการใช้ที่ดินนั้นแทน แต่การที่ระเบียบไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนพอ ในทางปฏิบัติเมื่อมีการดำเนินการที่สำนักงาน ส.ป.ก.จังหวัด หลายกรณีก็อาจจะขึ้นกับการตีความโดยใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
“มีการเปลี่ยนระเบียบฯ ที่ตีความได้ว่าสามารถขายหรือเปลี่ยนมือได้ โดยให้เกษตรกรที่ถือเอกสารใหม่นี้มาแล้ว 2 ปี สามารถสละสิทธิ์ และอาจเสนอแบบเจาะจงให้เกษตรกรอื่นเข้ามารับสิทธิ์แทน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องผ่านการอนุมัติของ ส.ป.ก. แต่เมื่อระเบียบใหม่เองยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ก็คงจะมีกรณีที่ต้องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจค่อนข้างมาก ซึ่งอาจสร้างปัญหาได้พอสมควร รวมทั้งอาจมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสได้ เพราะเป็นกรณีที่ต้องมีการอนุมัติที่มากกว่าการซื้อขายที่ดินตามปกติ และอาจทำให้การเปลี่ยนมือมีความยุ่งยากกว่าที่เกษตรกรคาดหวังไว้” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ ระบุด้วยว่า “การพยายามมาคุมเข้มการเปลี่ยนมือที่ดิน ส.ป.ก. หรือโฉนดเพื่อการเกษตร ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าปล่อยให้ขายได้ง่าย ก็จะทำให้เมื่อเกษตรกรขายที่ดินไปแล้ว ก็อาจไปบุกรุกที่ป่าสงวนต่อไปอีก ถ้าเชื่อแบบนั้นก็จะต้องไปคุมเข้มเกษตรกรที่ขายที่ดินที่มีโฉนดหรือ นส.3 ด้วยไหม
ขณะที่ข้อมูลที่ได้จากแผนที่ดาวเทียมในระยะหลัง ทำให้มีสมมุติฐานว่ากรณีบุกรุกป่าและเผาป่าในพื้นที่ชายขอบป่าสงวนฯ ในปัจจุบันน่าจะทำกันเป็นขบวนการพอสมควรโดยอาศัยคนในพื้นที่ ไม่ใช่เป็นกรณีที่เกษตรกรธรรมดาทั่วไปเดินทางไปจับจองที่หรือเผาป่ารอบๆป่าสงวนฯ”
นายวิโรจน์ ยังเสนอว่า ถ้านโยบายของรัฐบาลยังคงต้องการให้ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ที่จัดสรรให้เกษตรกรรายย่อยไว้ทำการเกษตร แต่ต้องการแก้ให้เอื้อให้เกษตรกรสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินเหล่านี้ได้ รัฐบาลก็สามารถออกระเบียบทั่วไปที่ทำให้ซื้อขายได้ง่ายขึ้น โดยยังคงกำหนดเพดานถือครองที่ดินที่ไม่อนุญาตให้ทำให้การสะสมที่ดิน ส.ป.ก. เป็นจำนวนมากได้ โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบที่อย่างน้อยต้องสามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกรมที่ดิน
“ถ้ารัฐบาลยังคงเป้าหมายที่จะจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ให้เกษตรกรรายย่อยไว้ทำการเกษตร พร้อมๆ ไปกับต้องการเอื้อให้เกษตรกรสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินนี้ได้เหมือนกับโฉนดที่ดินทั่วไป ในทางปฏิบัตินอกจากจะกำหนดระเบียบทั่วไปไว้ว่าพื้นที่นั้นจะต้องใช้ทำเกษตรเท่านั้นแล้ว ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่ดินประเภทนี้ก็จะต้องมีที่ดินที่เมื่อรวมกับที่ดินอื่นๆแล้วไม่เกิน 50 ไร่ หรือกำหนดตัวเลขใหม่ที่น้อยกว่านั้น โดยในการซื้อขายที่ดินนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลการถือครองที่ดิน แต่ถ้าตรงตามเงื่อนไขการถือครองแล้ว ก็ให้อนุมัติการซื้อขายโดยไม่ควรต้องให้เจ้าหน้าที่มาดุลยพินิจในการตัดสินว่าใครเป็นเกษตรกรหรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดข้อกังวล เปลี่ยน‘ส.ป.ก.’ 22 ล.ไร่เป็น‘โฉนดฯ’-หวั่น‘นายทุน-นอมินี’สบช่องยึดที่ดินรัฐ
มีผลแล้ว! ราชกิจจาฯแพร่ระเบียบฯเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’-เปิดทางซื้อขายเปลี่ยนมือได้
เปิดร่างระเบียบฯเปลี่ยน 'ส.ป.ก.'เป็น'โฉนดฯ'-ยกเลิกเงื่อนเวลา'ทายาท'ยื่นคำขอ'ตกทอดทางมรดก'
ซื้อขาย-ค้ำเงินกู้ได้!‘โฆษกรบ.’เผยเปลี่ยน‘ส.ป.ก.4-01’เป็น‘โฉนดฯ’มีผลบังคับใช้ 15 ธ.ค.นี้
ป้องกันนายทุนฮุบที่ดิน! ป.ป.ช.เฝ้าระวังทุจริต นโยบายเปลี่ยน‘ส.ป.ก.’เป็น‘โฉนด’ 22 ล้านไร่