กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศยืดใช้ระบบ e-ticket เก็บค่าตั๋วอีก 3 เดือน ควบคู่กับพัฒนาทำระบบใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ชั่วคราว ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
- ทุ่มไปแล้ว6.8 ล.! กรมอุทยานฯ ทำระบบเก็บตั๋ว E-Ticket อ้างไม่เวิร์คเตรียมจัดซื้อใหม่
- ป.ป.ช.จับตา! อุทยานฯ ยุติเก็บค่าตั๋วผ่าน E-Ticket อ้างข้อจำกัดใช้งานได้น้อยกว่าเงินสด
- สงสัยจ่ายตรงไม่ออกตั๋ว! 'ชัยวัฒน์' ลุยตรวจถ้ำมรกตไร้จนท.เก็บค่าเข้า-รายได้แค่หลักหมื่น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ไว้เป็นการชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป
เนื่องจากระบบที่ใช้อยู่เดิมได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ โดยได้เปิดให้บริการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบ E-ticket เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถซื้อบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติได้ ในอุทยานแห่งชาตินำร่อง จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 และได้สิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา
นายอรรถพล กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการเงินอุทยานแห่งชาติ ได้อนุมัติเงินอุทยานแห่งชาติ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อดำเนินโครงการจ้างดูแลระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โดยสำนักอุทยานแห่งชาติได้หารือร่วมกับ ป.ป.ช. เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาระบบการจอง การรับเงิน ระบบการสื่อสาร สัญญาณอินเตอร์เน็ต และแก้ไขปัญหาการตัดเงินผ่านระบบที่ไม่ตรงกับวันที่เข้าใช้บริการจริง ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและสถิติเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติในวันดังกล่าวไม่สอดคล้องกัน
โดยการจองและชำระเงินจะเกิดขึ้นก่อนวันที่เข้าใช้บริการจริง เช่น นักท่องเที่ยวจองและชำระเงินในวันที่ 1 แต่เข้าใช้บริการในวันที่ 7 จะทำให้สถิติเงินรายได้เกิดขึ้นในวันที่ 1 แต่สถิตินักท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ประกอบกับพบข้อบกพร่องจากการใช้งานระบบในส่วนอื่นๆ จึงต้องมีการพัฒนาและจัดทำระบบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. โดยจะมีการพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) เพิ่มเติมอีกจำนวน 31 แห่ง
แต่เนื่องจากตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการประกวดอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ใหม่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับบริษัทรายอื่นๆ ในการแข่งขันเพื่อพัฒนาระบบ เนื่องจากมีบริษัทเข้ามานำเสนอระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องปิดระบบการจองและชำระเงินผ่านระบบ E-ticket ไว้เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป
โดยล่าสุดวันที่ 4 ธ.ค. กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1/2566 ที่ประชุมมีการรายงานผลการจัดเก็บเงินอุทยานฯ โดยปี 2565 จัดเก็บได้ประมาณ 715 ล้านบาท ปี 2566 จัดเก็บได้ประมาณ 1,467 ล้านบาท และในปี 2567 (ต.ค.-พ.ย.66) จัดเก็บได้ประมาณ 309 ล้านบาท
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการใช้ระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการในรูปแบบ E-ticket ควบคู่กับระบบเดิม เงินรายได้อุทยานก็มิได้ลดน้อยลงแต่ประการใด กลับยังพบว่าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ที่ประชุมได้ขอให้มีการเร่งรัดพิจารณาพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการจองและชำระเงิน ลดขั้นตอน และเหมาะสมกับการใช้งานและพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทั้ง 133 แห่ง
จัดให้มีการวิเคราะห์และประเมินการใช้งานระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้พิจารณาทบทวนและกำหนดแนวทางการจัดทำโครงการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสม โดยในที่ประชุมเห็นว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567 เป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว High Season ซึ่งเป็นโอกาสที่จะรับรู้ปัญหาและอุปสรรคการใช้ระบบ (E-ticket) ของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ เพื่อนำข้อดีและข้อเสียมาปรับปรุงและพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ระยะที่ 2 จำนวน 31 แห่ง
จึงมีมติให้ดูแลระบบเดิมชั่วคราวให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 เดือน (ธันวาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ