'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ลุยตรวจถ้ำมรกตอุทยานหาดเจ้าไหม เห็นเองกับตา ไม่มีจนท.คอยจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้า หลังแจ้งมีรายได้แค่วันละหลักหมื่น ต่อปีเก็บได้เพียง 3-6 ล้าน เทียบที่อื่นได้หลายสิบล้าน เผยได้รับร้องเรียนปัญหามานาน สงสัยมีการจ่ายตรงโดยไม่ผ่านตั๋ว สั่ง หน.อุทยานฯเจ้าไหม ทำรายงานชี้แจงด่วน
ผู้สื่อข่าวพิเศษสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำทีมชุดพญาเสือลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจพื้นที่เกาะกระดานเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยเข้าสุ่มตรวจบริเวณหน้าถ้ำมรกต ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ จ.ตรัง ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯหาดเจ้าไหมเข้ามาจัดเก็บค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ทางสำนักอุทยานฯ ได้รับการร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯหาดเจ้าไหม ไม่มีการมาดำเนินการจัดเก็บค่าเข้าใช้บริการที่บริเวณถ้ำมรกตแห่งนี้มานานแล้ว ประกอบกับรายงานการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของอุทยานฯหาดเจ้าไหมซึ่งมีพื้นที่จัดเก็บหลายแห่ง แต่รายได้ต่อวันต่ำกว่าอุทยานฯอื่นๆมาก ได้เพียงหลักหมื่นบาทต่อวัน ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง สถานที่ท่องเที่ยวภายในเขตอุทยานฯหาดเจ้าไหมมีหลายจุด รวมทั้งถ้ำมรกตแห่งนี้ เป็นพื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยว ทั้งจากที่ลงเรือฝั่งจ.ตรัง และเดินทางมาทางเรือจากจังหวัดใกล้เคียง ทั้งจากกระบี่ ,พังงา ภูเก็ต และจ.สตูล เข้ามาท่องเที่ยว แต่ผลการจัดเก็บรายได้ต่ำมากเพียงแค่วันละหลักหมื่นบาท หรือบางเดือนแค่ 2-3 หมื่นบาท แต่ไม่เคยเกิน 4 หมื่นบาท ขณะที่อุทยานฯอื่นๆในพื้นที่ใกล้เคียงรายได้ต่อวันนับแสนบาท จึงมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นความจริง
"วันนี้ได้เดินทางมาตรวจสอบด้วยตัวเอง ก็พบความจริงว่าทั้งภาคเช้าและภาคบ่ายที่เข้ามาสุ่มตรวจ ไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯหาดเจ้าไหมเข้ามาจัดเก็บค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด โดยทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย จังหวะที่เข้ามามีทั้งรียอร์ช เรือหางยาวนำเที่ยวจำนวนมากมาจอดลอยลำปล่อยนักท่องเที่ยวเข้าไปชมภายในถ้ำ ทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ โดยที่ตลอดทั้งวัน เจ้าของเรือ ไกด์นำเที่ยว ยอมรับว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดเก็บค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด ทำรัฐสูญเสียรายได้ สำหรับอัตราค่าเข้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อัตราค่าบริการชาวไทย เด็ก 20 บาท/คน ผู้ใหญ่ 40 บาท/คน ชาวต่างประเทศ เด็ก 100 บาท/คน ผู้ใหญ่ 200 บาท/คน" นายชัยวัฒน์ระบุ
นายชัยวัฒน์ ยังระบุด้วยว่า “ทุกคนที่มาเที่ยวอุทยานฯหาดเจ้าไหม จะต้องมา เกาะกระดาน ซึ่งเป็นไฮไลท์ และ ถ้ำมรกต แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯหาดเจ้าไหม ไม่ได้มีการจัดเก็บค่าเข้าอุทยาน แต่จะเก็บแค่บนฝั่งเท่านั้น ก็รู้อยู่แล้วว่ารายได้ที่มาจากการจัดเก็บเพื่อป้องกันการทุจริตจะต้องมีความโปร่งใส แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาเลย ปกติจะมีเรือบริการลอยน้ำรอจัดเก็บ แต่นี่ไม่มี"
" แต่ละวันจะมีเรือจากจังหวัดใกล้เคียงโฉบเข้ามาเที่ยว มาเข้าชมแล้วไป แต่ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งเรือทุกลำเขาก็พร้อมจ่ายถ้าเจ้าหน้าที่มาประจำการ อุทยานฯหาดเจ้าไหมถ้าทำไม่ได้ก็ต้องชี้แจงว่าทำไมถึงทำไม่ได้ และหลังจากนี้จะต้องให้หัวหน้าอุทยานฯหาดเจ้าไหมชี้แจงทุกเรื่อง เงินรายได้ที่หายไปวันนี้มีการจัดเก็บอย่างไร และเป็นที่สังเกตว่า วันนี้แม้จะมีแจ้งสถานการณ์ว่ามีมรสุม แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่น้อยกว่า 500 คน โดยเรือขนาดเล็กบรรจุได้ 10-20 คน เรือขนาดใหญ่บรรจุไม่ต่ำกว่า 50-100 คน”นายชัยวัฒน์กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า อุทยานฯหาดเจ้าไหมได้รายงานค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ในวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้เพียงหมื่นกว่าบาท ประกอบด้วย ชาวต่างชาติ จำนวน 1 คน รถยนต์ 9 คัน ชาวไทย จำนวน 18 คน ส่วนที่ทำการเกาะกระดานรายงาน ชาวต่างชาติจำนวน 35 คน ชาวไทย 4 คน เรือยนต์ 3 ลำ เรือเล็ก 3 ลำ ที่หาดปากเมง คนไทย 14 คน ชาวต่างชาติ 5 คน เรือใหญ่ 1 ลำ ทั้งนี้ รวมชาวต่างชาติทั้งหมด 41 คน รายงานมาเป็นยอดเงินทั้งสิ้นจำนวน 10,070 บาท และวันที่ 28 พ.ย. อุทยานฯหาดเจ้าไหม รายงานว่ามีนักท่องเที่ยวที่ทำการอุทยานฯ 2 คน ที่เกาะกระดาน 72 คน รวมทั้งหมด 74 คน และเป็นเฉพาะชาวต่างชาติ แต่วันนี้ตนจู่โจมเข้ามาตรวจสอบโดยไม่ได้แจ้งให้อุทยานฯหาดเจ้าไหมรู้ กลับพบเจอเรือหางยาวนับสิบลำ รวมๆไม่ต่ำกว่า 400 - 500 คน รายได้เข้ารัฐหายไปวันนี้เป็นแสนบาทเฉพาะแค่ที่ถ้ำมรกตแค่จุดเดียว
" ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และหน่วยงานตรวจสอบก็เพ่งเล็งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของอุทยานฯอยู่ จะต้องให้โปร่งใส่ เป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการอาจมีการจ่ายตรงกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่ผ่านตั๋วเข้าชม ซึ่งอุทยานฯ เจ้าไหมแต่ละวันจัดเก็บได้น้อยกว่าอุทยานฯอื่นๆ ได้วันละหมื่นกว่าบาท ต่อปีอุทยานฯหาดเจ้าไหมรายงานได้แค่ปีละ 3-6 ล้านบาท แต่ในขณะที่อุทยานฯอื่นๆจัดเก็บได้วันละเป็นแสนบาท ตกปีละหลายสิบล้านบาท ทั้งหมดนี้จะต้องให้ทางนายพริษฐ์ นราสฤษฏ์กุล หัวหน้าอุทยานฯหาดเจ้าไหมทำรายงานชี้แจงมาทั้งหมด”นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ถ้ำมรกต เป็นถ้ำใต้ทะเลที่นักท่องเที่ยวสามารถเกาะหลังลอยตัวเข้าไปภายในถ้ำและไปทะลุภายในปล่องภูเขาหินปูน ซึ่งมีชายหาดและน้ำทะเลสวยใสเป็นมรกต และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในช่วงเปิดฤดูกาลการท่องเที่ยวทะเลตรังมาท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมากสูงสุดหลายพันคนต่อวัน เช่นเดียวกับเกาะกระดาน ชายหาดที่สวยที่สุดในโลก
ขณะที่ประเด็นการจัดเก็บค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติ กำลังเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบัน ภายหลังจากเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำบันทึกข้อความแจ้งเวียนให้ผู้บริหารฯ กรมอุทยานแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบประกาศ เรื่องการยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริหารอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้งาน ส่งผลให้สัดส่วนผู้ใช้บริการเมื่อเปรียบเทียบกับการจำหน่ายบัตรค่าบริการ ณ จุดจัดเก็บเงินของอุทยานแห่งชาติน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนด จึงให้ยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ไว้เป็นการชั่วคราว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งที่กรณีเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวเป็นเงินสด เคยถูกเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบพบปัญหาอุทยานแห่งชาติบางแห่ง เก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยว โดยไม่ผ่านระบบ e-ticket จนอาจกลายเป็นช่องโหว่ของการทุจริต และอาจโยงขบวนการซื้อขายตำแหน่ง พร้อมแจ้งข้อเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาต่อกรมฯ มาแล้ว