กรมอุทยานฯ แจ้งเวียนประกาศยุติเก็บเงินค่าบัตรเข้าอุทยานแห่งชาติ ผ่าน E-Ticket ชั่วคราว อ้างมีข้อจำกัดใช้งาน เทียบสัดส่วนผู้ใช้บริการได้น้อยกว่าเงินสด เริ่ม 1 ธ.ค.2566 นี้ จนท.ข้องใจไหนบอกเตรียมระบบดีแล้ว หลังเจอสอบช่องโหว่ทุจริตโยงขบวนการซื้อขายตำแหน่ง - ด้านป.ป.ช.เผยลงพื้นที่ช่วงต้นปี 66 หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี พบยังเก็บเงินสดได้เป็นแสนไร้ตู้นิรภัย เตรียมจับตามองใกล้ชิด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำบันทึกข้อความแจ้งเวียนให้ผู้บริหารฯ กรมอุทยานแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบประกาศ เรื่องการยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริหารอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้งาน ส่งผลให้สัดส่วนผู้ใช้บริการเมื่อเปรียบเทียบกับการจำหน่ายบัตรค่าบริการ ณ จุดจัดเก็บเงินของอุทยานแห่งชาติน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนด จึงให้ยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ไว้เป็นการชั่วคราว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป
ในประกาศกรมอุทยานแห่งชาติฯ ดังกล่าว ระบุว่า
"ตามประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เรื่อง การจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ใช้บริการสามารถซื้อบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป นั้น
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้ว เนื่องจากระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน ส่งผลให้สัดส่วนผู้ใช้บริการเมื่อเปรียบเทียบกับการจำหน่ายบัตรค่าบริการ ณ จุดจัดเก็บเงินของอุทยานแห่งชาติน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนด
ประกอบกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น จึงให้ยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กหรอนิกส์ไว้เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป"
ประกาศ ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ2566 (ดูเอกสารประกอบ)
จนท.ข้องใจบอกเตรียมระบบดีแล้ว
แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ภายหลังการออกประกาศยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ไว้เป็นการชั่วคราวดังกล่าว ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเก็บเงินค่าเข้าอุทยาน เคยถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบพบปัญหาอุทยานแห่งชาติบางแห่ง เก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยว โดยไม่ผ่านระบบ e-ticket จนอาจกลายเป็นช่องโหว่ของการทุจริต และอาจโยงขบวนการซื้อขายตำแหน่ง พร้อมแจ้งข้อเสนอแนะให้แก้ไขปัญหามาแล้ว
โดยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พบว่า เงินที่ไม่ผ่านระบบ e-ticket ถูกนำส่งต่อไปยังระดับผู้บังคับบัญชา เพื่อใช้แปรสภาพเรื่องของการซื้อขายตำแหน่ง ด้วยมูลค่าเม็ดเงินจำนวน 7 หลัก ขณะเดียวกัน ยังพบว่าอุทยานหลายแห่ง ไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ป.ป.ช. ที่ให้ใช้รูปแบบ e-ticket เข้ามาดำเนินการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และง่ายต่อการตรวจสอบ ส่วนกรมฯ เคยชี้แจงต่อสาธารณว่า ได้พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยาน แห่งชาติเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการจองบัตรค่าบริการฯ ล่วงหน้าและเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่าน ทางบัตรเครดิต/เดบิต หรือชำระเงินผ่าน Thai QR Payment เป็นการลดภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องจัดเก็บและ เก็บรักษาเงิน โดยเจ้าหน้าที่จะทำน้าที่ตรวจสอบบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์และนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปในอุทยานแห่งชาติได้ทันที การใช้งานมีความสะดวกสบาย
"แต่ปัจจุบันกับมีข้ออ้างเรื่องข้อจำกัดในการใช้งาน ว่าส่งผลให้สัดส่วนผู้ใช้บริการเมื่อเปรียบเทียบกับการจำหน่ายบัตรค่าบริการ ณ จุดจัดเก็บเงินของอุทยานแห่งชาติน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนด จึงทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ ขณะที่ปัจจุบันอุทยานฯ บางแห่ง ก็มีการเรียกเก็บเงินสดอยู่แล้ว"
- เก็บเงินสดเป็นกระสอบ! จนท.ป.ป.ช.ปลอมตัวเป็นนักเที่ยวตรวจสอบอุทยานฯ
- ล่อซื้อค้นเจอ 5 ล.! ป.ป.ช.-ตร.แถลงด่วนรวบตัวอธิบดีกรมอุทยานฯ คดีเรียกรับเงิน (มีคลิป)
- กรมอุทยานฯแจง ป.ป.ช. 7 ปม’เงินค่าบัตร’รั่วไหล-เพิ่งเริ่มใช้ E-Ticket 1 ม.ค.66
ป.ป.ช.ลงพื้นที่หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี พบยังเก็บเงินสด ได้เงินเป็นแสน
ขณะที่แหล่งข่าวจากป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในช่วงเดือนก.พ.2566 สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ป.ป.ช.ส่วนกลาง ได้ลงพื้นที่ติดตามสังเกตการณ์และเฝ้าระวัง ณ อ่าวมาหยา ตั้งอยู่บนเกาะพีพีเล อุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะ พีพี พบว่ามีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคน ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้มีการประกาศนำร่อง 6 อุทยานในการดำเนินการจัดทำระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (E -Ticket) ในการขายตั๋วแบบ E-ticket ได้แก่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้ดำเนินการจัดทำระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (E-Ticket) แต่ยังมีการเรียกค่าบริการในรูปแบบเงินสดจากนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากการเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (E-Ticket)
จากการขอตรวจสังเกตการณ์รายได้ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีการจัดเก็บรายได้และเก็บรักษาเป็นเงินสด จำนวน 7 แสนกว่าบาท และมิได้เก็บในตู้นิรภัยตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ว่าด้วยการเก็บ การรักษา การใช้จ่ายเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ข้อ 11 (ดูภาพประกอบ)
เรียกเก็บเพิ่มจากE -Ticket อีก 1 เท่า
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่ไปตรวจติดตามสังเกตการณ์ไปยังจุดจัดเก็บ เกาะไผ่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ซึ่งได้มีการดำเนินการตามระบบการจัดเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (E -Ticket) ซึ่งหน่วยจัดเก็บเกาะไผ่ มีประกาศแนบท้ายอุทยานฯ อัตราค่าบริการชาวต่างชาติ 400 บาท/คน
แต่กรมอุทยานฯ กลับกำหนดราคาในระบบ E-ticket ในอัตรา 200 บาท ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องมาเก็บอัตราค่าบริการในรูปแบบเงินสดจากนักท่องเที่ยวเพิ่มอีกคนละ 200 บาท ทั้งที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ในพื้นที่ได้ให้ข้อเท็จจริงว่า ได้ทำหนังสือทักท้วง แจ้ง/ประสานงาน ไปหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆจากกรมอุทยานฯ
ขณะที่ในช่วงวันที่ 21-21 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ได้จัดกิจกรรมพัฒนาเพิ่มศักยภาพเยาวชนต้านทุจริต Trang Anti-Corruption Young Leaders GEN 4 ระหว่างวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ หน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม (เกาะกระดาน) อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อให้เยาวชนนักศึกษาได้เรียนรู้และถอดบทเรียนเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้และการบริหารจัดการอุทยาน ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่มีการนำเรือแพซึ่งเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมาจัดเก็บรายได้ บริเวณหน้าถ้ำมรกตซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จัดเก็บรายได้หลัก ของจังหวัดตรัง ทำให้เกิดการรั่วไหลเป็นอย่างยิ่ง
จากการลงพื้นที่ไปตรวจติดตามยังจุดจัดเก็บ ณ หน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม (เกาะกระดาน) อ.กันตัง จ.ตรัง พบว่า ไม่มีการจัดเก็บรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ไปพัก บนรีสอร์ทต่างๆ บนเกาะกระดานที่มีจำนวนมาก ไม่ดำเนินการจัดเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (E -Ticket) แต่มีการจัดเก็บเป็นเงินสดทำให้มีความไม่โปร่งใส
เบื้องต้น สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. เห็นควรให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ดำเนินการตามบันทึกสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ที่ 40 (ตง)/1550 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2564 เรื่องรายงานผลการติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ ของจังหวัดในกลุ่มอันดามัน
2. เห็นควรให้กรมอุทยานฯ แก้ไขระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการนำส่ง การเก็บรักษา และการใช้จ่ายเงินเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ พ.ศ.2564 ข้อ
22 ให้หน่วยงานเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทกระแสรายวัน แก้ไขเป็น ให้หน่วยงาน หน่วยงานย่อย เปิดบัญชีเงินฝาก.... เพื่อให้หน่วยงานย่อย ทุกหน่วยงานของกรมอุทยานฯสามารถเปิดบัญชีในการเก็บค่าบริการอุทยานได้ แทนการจัดเก็บในรูปแบบเงินสดได้ทุกกรณี
3. ให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการจัดทำระบบสัญญาณ อินเตอร์เน็ตให้สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ ในการชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ของนักท่องเที่ยว ทุกหน่วยจัดเก็บเงิน และจุดบริการเก็บเงิน
ป.ป.ช.จับตาเต็มที่
"ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะเรื่องนี้ไปหลายเดือนแล้ว ปัจจุบันกรมอุทยานฯ น่าจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะได้หมดแล้ว แต่กลับมาออกประกาศยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ไว้เป็นการชั่วคราวดังกล่าว และช่วงเวลาที่เริ่มยุติการใช้ก็เป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากด้วย ถ้าไม่มีกระบวนการตรวจสอบที่รัดกุม เสี่ยงที่จะมีปัญหาการรั่วไหลของเงินสูงมาก ซึ่ง ป.ป.ช. จะติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป" แหล่งข่าวระบุ