‘สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย’ มองสถานการณ์ตลาดข้าวยัง ‘ปั่นป่วน’ หลัง 'อินเดีย' แบนส่งออกข้าวขาว เหตุไม่ชัดเจนว่าจะปรับเปลี่ยนนโยบายเมื่อใด พร้อมยืนเป้าหมายส่งออกข้าวไทยปีนี้ 8 ล้านตัน ขณะที่ล่าสุดข้าวขาว 5% ของไทย ราคาพุ่ง 38 ดอลล์
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน มิ.ย.2566 โดยในส่วนการส่งออกข้าวนั้น พบว่าในเดือน มิ.ย.2566 ไทยส่งออกข้าวได้ทั้งสิ้น 5.72 แสนตัน ลดลง 25.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 327.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2566) การส่งออกข้าวไทยยังคงขยายตัวทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกข้าวได้ทั้งสิ้น 4.04 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 75,526.2 ล้านบาท (2,223.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 14.9% และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 ที่มีการส่งออกปริมาณ 3.51 ล้านตัน มูลค่า 61,021.2 ล้านบาท (1,839.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาราคาข้าวไทยเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2566) พบว่าข้าวไทยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 550.5 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2565 ที่มีราคาเฉลี่ย 515.9 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน โดยเฉพาะในเดือน มิ.ย.2566 ข้าวไทยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 572.7 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรายงานว่า ณ วันที่ 26 ก.ค.2566 ราคาข้าวไทยทุกประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับในช่วง 2 สัปดาห์ก่อน (12 ก.ค.2566) โดยข้าวสาร 5% ราคา (FOB) อยู่ที่ 572 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 38 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ,ข้าวหอมมะลิไทย ชนิดพิเศษ (65/66) ราคาอยู่ที่ 925 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 27 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และข้าวเหนียวขาว 10% ราคาอยู่ที่ 852 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 69 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เป็นต้น
@สมาคมฯคงเป้าส่งออกข้าวปีนี้ 8 ล้านตัน
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ราคาข้าวไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการประกาศมาตรการห้ามการส่งออกข้าวขาวของอินเดีย อย่างไรก็ตาม การที่อินเดียยังเปิดช่องให้ประเทศผู้ซื้อที่มีความต้องการข้าวและมีปัญหา สามารถสั่งซื้อข้าวขาวจากอินเดียได้ ทำให้แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกมีความผันผวนสูง
“พอเขา (อินเดีย) ประกาศมา แน่นอนว่า sentiment (ความรู้สึก) ของตลาดก็ตกใจ ทุกคนกลัวว่าราคาข้าวจะขึ้น เพราะอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสัดส่วนการส่งออก 50-60% ของการส่งออกข้าวโลก ถ้าเขาแบนเมื่อไหร่ จะทำให้สถานการณ์ข้าวทั่วโลกปั่นป่วน ส่วนผลกระทบต่อข้าวไทยนั้น ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เมื่อเขาแบนส่งออก ปริมาณข้าวในตลาดโลกก็น้อยลง ไทยจะได้อานิสงส์จากราคาข้าวที่ปรับตัวดีขึ้น
แต่ทีนี้ ต้องดูอีกว่าจะยั่งยืนหรือเปล่า อินเดียชอบเป็นอย่างนี้ คือ บางทีทำไป 2 เดือน จากนั้นก็ไม่เอาแล้ว ซึ่งการทำลักษณะนี้จะยิ่งทำให้ตลาดปั่นป่วน เพราะเมื่อลูกค้าซื้อข้าวในราคาสูงเอาไว้ แต่ต่อไปอินเดียบอกว่าไม่แบนแล้ว ราคาข้าวก็หล่นลงมาอีก หากเป็นอย่างนี้ ตลาดข้าวโลกก็ปั่นป่วน ซึ่งทำให้ทำงานของผู้ส่งออกยากขึ้น” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ร.ต.ท.เจริญ ยังระบุว่า ในปีนี้ สมาคมฯยังคงตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยไว้ที่ระดับ 8 ล้านตันเท่าเดิม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากไม่ได้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งมากนัก อย่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ฝนก็ยังตกตลอดและบางพื้นที่มีน้ำท่วมด้วยซ้ำ ดังนั้น หากนาปีน้ำยังดี และในเขื่อนยังมีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาปรังได้ ทำให้ผลผลิตข้าวไทยไม่น่าจะมีปัญหา
“ครึ่งปีแรกเราส่งออกข้าวได้ 4 ล้านตัน และต้องดูครึ่งปีหลังอีกที เพราะถ้าแล้ง ผลผลิตข้าวก็น้อยลง” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์ที่ไม่มีรัฐบาลชุดใหม่นั้น ต้องยอมรับว่าเอกชนไทยลำบากมาก เพราะไม่มีความชัดเจนว่านโยบายในเรื่องข้าวเป็นไปในทิศทางใด อย่างไรก็ดี สิ่งที่สมาคมฯอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ผลักดัน คือ การเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ ลดต้นทุนการผลิต และต้องไม่เน้นแต่เรื่องราคาเท่านั้น เพราะหากเน้นแต่เรื่องราคา โดยไม่ดูแลว่าผลผลิตข้าวไทยจะเป็นอย่างไร และต้นทุนเป็นอย่างไร จะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยในระยะยาว
“ถ้าเรายังเน้นแต่เรื่องราคา ไม่ดูแลว่าผลผลิตเป็นอย่างไร ต้นทุนเป็นอย่างไร ข้าวเราดีไหม พันธุ์ข้าวเราสู้เขาได้ไหม เป็นที่ต้องการของตลาดไหม ถ้ายังใช้วิธีเก่าทำมาอยู่เรื่อยๆ แล้วผลผลิตต่อไร่ยังต่ำที่สุดในโลกอย่างนี้ และปีหนึ่งในงบประมาณอุดหนุนเป็นแสนล้านชาวนาเหมือนให้เปล่า มันไม่ได้เกิดผลประโยชน์ในระยะยาวต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยเลย ดังนั้น รัฐบาลไหนที่จะเข้ามาขอให้เน้นเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข่าว และการลดต้นทุน” ร.ต.ท.เจริญย้ำ
ขณะที่ สถาบันวิจัยนโยบายด้านอาหารระหว่างประเทศ (IFPRI) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ เรื่อง ‘India’s new ban on rice exports : Potential threats to global supply, prices, and food security’ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า การที่อินเดีย ซึ่งมีปริมาณการส่งออกข้าวคิดเป็นสัดส่วน 40% ของผู้ส่งออกข้าวโลก ประกาศมาตรการห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ได้ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2565
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้ปริมาณฝนลดลงนั้น จะทำให้ประเทศต่างๆในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มีผลผลิตข้าวลดลง
อ่านประกอบ :
ร่วงสู่อันดับ 3! 5 เดือนแรก‘เวียดนาม’ส่งออกข้าวแซง‘ไทย’ ชี้‘เอลนิโญ-บาทอ่อน’หนุนยอดซื้อ
รั้งอันดับ 2 ของโลก! 2 เดือนแรก ไทยส่งออกข้าว 1.4 ล้านตัน-คาด มี.ค.ขายอีก 7.3 แสนตัน
‘พาณิชย์’เผยส่งออกข้าว ม.ค.66 พุ่ง 8.05 แสนตัน โต 75.2%-ห่วง‘บาทแข็ง’กระทบคำสั่งซื้อ
เอกชนเตือน‘รัฐบาลใหม่’อย่าทำนโยบาย‘จำนำราคาสูง’-ตั้งเป้าปีนี้ไทยส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน
ปี 65 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 22.2% สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.38 แสนล้าน
เอกชนประเมินปี 66 ไทยส่งออกข้าวได้ 8 ล้านตัน ลุ้น‘ค่าเงินบาท’ไม่แข็งเกินไป
บาทแข็งแต่ยังแข่งได้! เอกชนคาด พ.ย. ไทยส่งออกข้าว 8 แสนตัน-ราคาเฉลี่ย ต.ค.ร่วง 32 ดอลล์ฯ
สัญญาณแผ่ว! ปริมาณส่งออกข้าวไทย ก.ย. หดตัว 0.3% รายได้โต 2.7%-ยอด 9 เดือน 5.41 ล้านตัน
'บาทอ่อน'หนุนแข่งขัน! ผู้ส่งออกฯคาด ก.ย.ไทยส่งออกข้าว 7 แสนตัน-ยอด 8 เดือน 4.77 ล.ตัน