ครม.รับทราบข้อเสนอแนะ ‘ป.ป.ช.’ ควบคุมการใช้ ‘ดุลพินิจ’ ของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบ ‘สิทธิ-เสรีภาพของประชาชน’ ชี้ควรมี ‘หลักฐาน-เอกสาร’ ต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้ดุลพินิจ-ตรวจสอบถ่วงดุลได้
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) เสนอ เพื่อควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
สำหรับข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐฯ ประกอบด้วย
1.การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจ
1) ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต พิจารณาว่าในกระบวนงาน การอนุมัติ การอนุญาตใดบ้าง ที่มีความสำคัญและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยให้สำรวจและรวบรวมกฎหมายตลอดจนระเบียบที่เกี่ยวข้องที่มอบอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานตนเองหรือหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแลของตนเอง รวมทั้งมอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบไปด้วยกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องใดบ้าง ที่อาจเปิดช่องให้เจ้าพนักงานของรัฐสามารถใช้อำนาจดุลพินิจในทางทุจริต
และให้หน่วยงานจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจ และระยะเวลาในการดำเนินการให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ในการดำเนินการดังกล่าวต้องจัดทำเป็นหลักเกณฑ์หรือประกาศ แนวทาง และคู่มือ เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องยึดถือเป็นหลักในการใช้ดุลพินิจ และควรมีหลักฐานหรือเอกสารที่ยืนยันว่ามีการใช้ดุลพินิจอย่างไร
ทั้งนี้ ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการอนุมัติ อนุญาต โดยเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบตามสื่อในช่องทางต่างๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นได้
2) กรณีตามข้อ 1) ก่อนที่ผู้มีอำนาจจะใช้อำนาจดุลพินิจ หากเห็นว่าการใช้ดุลพินิจ นั้น อาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ต้องจัดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจนั้น เป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดโอกาสการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2558 เรื่อง มาตรการในการกำกับดูแลการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบทุก 1 ปี
4) กำหนดให้การบัญญัติกฎหมายใหม่ควรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 วรรค 3 กำหนดไว้ รวมทั้งให้มีกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis :RIA) ด้วย
2.การใช้เทคโนโลยีในการบริการประชาชน
1) ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต นำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ในการบริการประชาชน เพื่อลดช่องทางหรือโอกาสในการติดต่อระหว่างผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้การอนุมัติ อนุญาต เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และรวดเร็วยิ่งขึ้น
2) กำหนดให้ทุกหน่วยงานปรับปรุงช่องทางการประเมินความพึงพอใจในการรับบริการและรับเรื่องร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะ เช่น รหัสคิวอาร์ (QR Code) เพื่อสำรวจความพึงพอใจในการรับบริการและการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการของเจ้าหน้าที่ หรือให้ภาคเอกชนเป็นผู้รวบรวมผลการประเมินความพึงพอใจในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและเผยแพร่ต่อสาธารณชน
ทั้งนี้ ควรกำหนดให้มีระบบติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน หรือข้อเสนอแนะของประชาชน หรือผู้รับบริการ เกี่ยวกับกรอบ แนวทางหรือหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนของแต่ละหน่วยงานเพื่อทบทวนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร หากพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควร ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิกให้เสนอผลการพิจารณาดังกล่าวต่อผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ต่อไป
3.การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต
ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พัฒนาระบบเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน
4.การจัดทำแนวทางและคู่มือในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐที่มอบอำนาจและภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกหน่วยงาน กำหนดแนวทางและจัดทำคู่มือในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการอนุมัติ อนุญาต เพื่อมีมาตรฐานในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนี้
1) กำหนดแนวทางและจัดทำคู่มือในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกรณีที่มีกฎหมายได้ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
2) กำหนดแนวทางและจัดทำคู่มือในการใช้ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่มอบอำนาจและภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การมอบอำนาจของกรมเจ้าท่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ป.ป.ช.ได้ให้เหตุผลและความจำเป็นจัดทำข้อเสนอแนะฯ ต่อ ครม. ว่า อำนาจในการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ คือ อำนาจที่กฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานของรัฐตัดสินใจได้อย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้เกิดขึ้นตามสมควร เหตุที่กฎหมายกำหนดให้ใช้ดุลพินิจ เนื่องจากกฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆ ไม่ได้มีเนื้อหาสาระครอบคลุมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ในทุกกรณี ดังนั้น กฎหมายจึงได้บัญญัติ โดยเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานของรัฐมีการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติงาน
แต่ในขณะเดียวกันการให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจก็อาจส่งผลให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์หรือเรียกรับค่าตอบแทนจากการใช้อำนาจดังกล่าว ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงในการที่เจ้าพนักงานของรัฐใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสมหรือผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย จนทำให้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจะเกิดผลกระทบในภาพรวมต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ และก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตตามมา
“ปัญหาที่เจ้าพนักงานของรัฐใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์หรือเรียกรับค่าตอบแทนหรือสินบน มิใช่ส่งผลกระทบภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งการที่เจ้าพนักงานของรัฐมีการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชัดเจนและไม่โปร่งใส เป็นช่องทางให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้ดุลพินิจโดยมิชอบในการแสวงหาผลประโยชน์หรือเรียกรับค่าตอบแทน จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่งถอนการลงทุนจากประเทศไทย
เนื่องจากเล็งเห็นว่าไม่คุ้มค่าการลงทุนหากต้องจ่ายค่าสินบนให้กับเจ้าพนักงานของรัฐ รวมทั้งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเกิดผลในภาพรวมต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ ก่อให้เกิดปัญหาภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศ และส่งผลต่อค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย” ป.ป.ช.ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมวาระดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ได้รายงานให้ ครม. รับทราบ ว่า สำนักงาน กพร. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2566 เพื่อศึกษาแนวทางแสะความเหมาะสมของข้อเสนอแนะฯ โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมประชุม 7 หน่วยงาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. และมีความเห็นฯ อาทิ ในส่วนของข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ที่กำหนดให้ต้องจัดทำหลักเกณฑ์ หรือประกาศ แนวทางและคู่มือเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานของรัฐ นั้น ที่ประชุมฯมีความเห็นว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐได้มีการสำรวจและทบทวนกฎหมาย ตลอดจนดำเนินการต่างๆในเรื่องนี้ ผ่านการดำเนินการตามกฎหมาย
เช่น การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 การจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนที่ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน ระยะเวลา รายการเอกสารหรือหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบคำขอ รวมถึงเงื่อนไขต่างๆให้ชัดเจน และต้องเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ รวมถึงการทบทวนกฎหมายเพื่อยกเลิกการอนุญาต หรือปรับปรุงการอนุญาตทุก 5 ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่าหน่วยงานของรัฐควรกำหนดแนวทางการพิจารณา อนุมัติ อนุญาตที่ชัดเจน โดยอาจจัดทำเป็นรายการ Checklist เงื่อนไขการอนุมัติ อนุญาต เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนเข้าใจเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องที่ชอบด้วยกฎหมาย (อ่านข้อมูลประกอบด้านล่าง)
อ่านประกอบ :
ลดโอกาสทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำ! เปิดข้อเสนอแนะ‘ป.ป.ช.’บริหาร‘งบภัยพิบัติ’-ครม.สั่ง‘คลัง’ศึกษา
ครม.รับทราบ 22 ข้อเสนอแนะ ‘ป.ป.ช.’ ชงรัฐบาลวางกติกาป้องกันทุจริต ‘เงินอุดหนุน’ อปท.