เปิดข้อเสนอแนะ ‘ป.ป.ช.’ ชง 3 ประเด็นหลัก บริหารจัดการ ‘งบภัยพิบัติ’ ไม่ให้รั่วไหล-ลดโอกาสการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำ ขณะที่ ‘ครม.’ สั่ง ‘คลัง-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ รับไปศึกษาแนวทางต่อ
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการทุจริต ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
ทั้งนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการทุจริต และรายงานผลการพิจารณาดำเนินการให้ ครม.ทราบโดยเร็ว
สำหรับข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการทุจริต ของ ป.ป.ช. ประกอบด้วย
1.ประเด็นด้านการประกาศภัยพิบัติ และการชดใช้เงินคงคลัง
1.1 ประเด็นเกี่ยวกับการประกาศภัยพิบัติ
เห็นควรให้มีการพัฒนาศักยภาพสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้สามารถเป็นศูนย์กลางในการรับและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ (ทั้งข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกที่ส่งแจ้งสถานการณ์เข้ามา อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ หรือข้อมูลจากภายในพื้นที่ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ)
และสามารถนำเอาข้อมูลที่ได้ทำการวิเคราะห์นั้นเป็นฐานในการตัดสินใจประกาศภัยพิบัติในพื้นที่ และเป็นข้อมูลให้หน่วยตรวจสอบ อาทิ กรมบัญชีกลาง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการเบิกจ่ายเงินคงคลัง ได้สามารถตรวจสอบซ้ำถึงความมีอยู่จริงของภัยพิบัตินั้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินคงคลังเพื่อการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างตรงจุด และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงคุ้มค่ากับงบประมาณ
1.2 ประเด็นเกี่ยวกับการชดใช้เงินคงคลัง
ปัจจุบัน พบปัญหาว่า หลังจากที่หน่วยงาน อาทิ จังหวัด ได้ทำการประกาศภัยพิบัติและเบิกเงินคงคลัง เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัตินั้น แต่มิได้ส่งเอกสารเพื่อชดใช้เงินคงคลังดังกล่าว ทำให้กรมบัญชีกลางไม่มีข้อมูลส่งให้สำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการตั้งงบประมาณสำหรับชดใช้เงินคงคลังในปีงบประมาณถัดไปได้
ดังนั้น จึงเห็นควรให้กรมบัญชีกลางดำเนินการติดตามตรวจสอบ และดำเนินการให้จังหวัดส่งเอกสารเพื่อชดใช้คืนภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าจังหวัดใดไม่ดำเนินการส่งเอกสารเพื่อชดใช้เงินคงคลัง อาจมีปัญหาในการขอเบิกในครั้งต่อไป (โดยคล้ายกับการยืมเงินทดรองราชการ ถ้ายังไม่ซดใช้เงินยืมทดรองราชการ ก็ไม่สามารถยืมครั้งใหม่ได้)
1.3 ประเด็นการเปิดเผยข้อมูลการเบิกจ่ายเงินคงคลังเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติให้สาธารณชนได้รับทราบ
สืบเนื่องจากข้อ 1.2 เห็นควรให้มีการเปิดเผยข้อมูลจังหวัดหรือหน่วยงานที่ได้เบิกจ่ายเงินคงคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยอาจเปิดเผยทุกไตรมาส เพื่อสร้างกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างมีส่วนร่วมแก่ทุกภาคส่วน
2.ประเด็นด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
2.1 เห็นควรให้มีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยให้มีการพัฒนาระบบคลังข้อมูล (Data Warehouse) ที่รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว ผ่าน Application Programming Interfaces (APIs)
ในการนี้ เห็นควรให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และเห็นควรให้สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) เป็นที่ปรึกษา โดยให้มีผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น/ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ เห็นควรให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอด้วย
2.2 เห็นควรให้สำนักงบประมาณ พิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบงบประมาณแผ่นดินให้สามารถจำแนกประเภทการใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละประเภทได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงการพิจารณากำหนดรหัสงบประมาณสำหรับงบที่จัดสรรเพื่อการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติต่างๆ เป็นการเฉพาะต่อไป
2.3 เห็นควรให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้และดำเนินการเพื่อให้เกิดการรวมศูนย์ระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Centralized System) โดยให้มีผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น/ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ เห็นควรให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอด้วย
3.ประเด็นด้านการบริหารจัดการ
3.1 เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตและลดความสูญเสียงบประมาณที่ใช้ในการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติ อันเกิดจากภัยแล้งและอุทกภัย เห็นควรให้จังหวัดได้มีการจัดทำผังน้ำจังหวัดและแผนพัฒนาแหล่งน้ำจังหวัด ตามแนวทางพระราชดำริแก้มลิง โดยการศึกษาถึงระดับของพื้นที่ทั้งจังหวัดและทิศทางการไหลของน้ำ การเก็บกักน้ำไว้ใช้ในรูปของประตูน้ำตามลำคลองต่างๆ การกำหนดจุดที่ตั้ง และขนาดของแหล่งน้ำที่ควรพัฒนาหรือควรขุดลอกในแต่ละพื้นที่ประกอบกับข้อมูลความเร่งด่วนของปัญหาในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้ประมวลข้อมูลต่างๆ จากการระดมความคิดเห็นของประชาคมน้ำ อันประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้านที่รู้เรื่องน้ำในทุกพื้นที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกรที่เกี่ยวช้อง กรรมการลุ่มน้ำ ส่วนราชการที่เกี่ยวกับน้ำ เกษตร และการพัฒนาอาชีพของประชาชน นักวิชาการ/ผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำ รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น โดยให้ประสานงานกับจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกัน ซึ่งในอดีตบางจังหวัดได้เคยดำเนินการอย่างได้ผลเป็นรูปธรรมมาแล้ว
3.2 เห็นควรให้จังหวัดได้มีการจัดทำแผนในการบริหารจัดการภัยพิบัติในภาพรวม โดยมีการบูรณาการร่วมกันของแต่ละภาคส่วนโดยเฉพาะการสอบถามความจำเป็นของชาวบ้านในพื้นที่ และพิจารณาจากความเร่งด่วนของปัญหา ความรุนแรงของปัญหา และขนาดพื้นที่ที่เสียหายจากปัญหานั้นๆ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ตรงจุด ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่และสามารถปัญหาได้อย่างยั่งยืนต่อไป
3.3 เห็นควรให้แต่ละส่วนราชการที่ได้รับงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ นำกระบวนการตรวจสอบภายในมาใช้ในการตรวจสอบโครงการ/การดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตในเบื้องต้น
อนึ่ง เพื่อเป็นการบูรณาการการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตในโครงการและการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้น สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดก็พร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการบูรณาการการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตในโครงการ/การดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตามขอบเขตหน้าที่และอำนาจของหน่วยงาน เพื่อให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
“การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้น มีการใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่กระบวนการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวยังไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้เกิดความเสี่ยงในการรั่วไหลของงบประมาณ รวมถึงเกิดความซ้ำซ้อนในการใช้จ่ายงบประมาณ
ดังนั้น หากสามารถปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ลดปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณซ้ำซ้อนในปัญหาเดียวกัน ช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศและลดโอกาสการเกิดทุจริตได้ตั้งแต่ต้นน้ำ” ป.ป.ช. ระบุ
อ่านประกอบ :
ครม.รับทราบ 22 ข้อเสนอแนะ ‘ป.ป.ช.’ ชงรัฐบาลวางกติกาป้องกันทุจริต ‘เงินอุดหนุน’ อปท.