ปิดบัญชี ‘ธ.ก.ส.’ ปี 65 พบ ‘หนี้เสีย’ ทะยาน 1.25 แสนล้าน คิดเป็น 7.68% ของสินเชื่อคงค้าง เหตุ 'เกษตรกรมีปัญหาการเงินจากพิษเศรษฐกิจ-เจอภัยธรรมชาติ-สถานการณ์โควิด’ พบรัฐบาลค้างหนี้สะสม 5.94 แสนล้าน
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยแพร่รายงานกิจการประจำปี 2565 โดยรายงานฉบับดังกล่าว ได้รายงานงบการเงินของ ธ.ก.ส.ปีบัญชี 2565 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 ซึ่งมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชี ผลปรากฏว่า ในปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส.มีกำไรสุทธิ 8,231.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.78% เมื่อเทียบกับปีบัญชี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 7,636.73 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 ธ.ก.ส. มีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loans : NPLs) จำนวน 125,192 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา NPLs ร้อยละ 7.68 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี NPLs มีจำนวน 106,054 ล้านบาท หรือคิดเป็น NPLs ร้อยละ 6.63 เนื่องจากลูกค้าเกษตรกรยังคงประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โดยในปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส. กันสำรองสำหรับเงินให้สินเชื่อเกษตรกรสถาบันเกษตรกรและนิติบุคคล ประกอบด้วย เชิงปริมาณ จำนวน 140,437 ล้านบาท และเชิงคุณภาพ 305,006 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 445,443 ล้านบาท เมื่อรวมกับการกันสำรองสินเชื่ออื่นๆแล้ว กันสำรองทั้งสิ้นจำนวน 445,555 ล้านบาท คิดเป็นอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Allowance to NPLs) ร้อยละ 355.90
(ที่มา : รายงานกิจการประจำปี 2565 ของ ธ.ก.ส.)
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.มีลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล จำนวน 594,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 17,732 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.08 จากการสำรองจ่ายเงินโครงการต่างๆแทนรัฐบาล อาทิ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 โครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66และโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/ 2565 เป็นหลัก
ในขณะที่ ธ.ก.ส. ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ ประจำปี พ.ศ.2565 และปี พ.ศ.2566 เพื่อจ่ายชำระเงินในส่วนที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายแทนรัฐบาล อาทิ โครงการจำนำผลิตผล โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ค่าเบี้ยประกันภัยข้าว ปี 2559-62 และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 ,2560/61 และ 2561/62
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์รวม จำนวน 2,262,120 ล้านบาท โดยโครงสร้างของสินทรัพย์ ประกอบด้วย เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิจำนวน 1,218,308 ล้านบาท หรือร้อยละ 53.86 ลูกหนี้้รอการชดเชยจากรัฐบาล สินทรัพย์ที่่มีสภาพคล่องและสินทรัพย์อื่น จำนวน 594,207 , 428,913 และ 20,692 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.27 ,18.96 และ 0.91 ตามลำดับ
ส่วนหนี้้สินและส่วนของเจ้าของ มีจำนวน 2,262,120 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้้สินรวม จำนวน 2,108,022 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.19 และส่วนของเจ้าของ 154,098 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.81 โดยมีรายละเอียดโครงสร้างของหนี้้สิน ประกอบด้วยเงินรับฝาก จำนวน 1,829,459 ล้านบาท หรือร้อยละ 80.87 รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน ตราสารหนี้้ และเงินกู้ยืม และหนี้้สินอื่น จำนวน 161,229 , 60,000 และ 57,334 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.13 , 2.65 และ 2.54 ตามลำดับ
ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 มีเงินให้สินเชื่อคงเหลือจำนวน 1,636,806 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 30,537 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.90 เมื่อรวมดอกเบี้ยค้างรับและหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ คงเหลือเป็นเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิจำนวน 1,218,308 ล้านบาท ลดลงจากต้นปีบัญชี จำนวน 11,915 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.97 จากการกันสำรองเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้น
ส่วนการดำรงเงินกองทุนและอัตราเงินกองทุน ณ วันที่ 31 มี.ค.2566 ธ.ก.ส. มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 จำนวน 145,888 ล้านบาท และเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 14,905 ล้านบาท รวมเป็นเงินกองทุนทั้งสิ้น 160,793 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์เสี่ยง จำนวน 1,265,701 ล้านบาท มีความมั่นคงเพียงพอต่อการขยายธุรกิจ จากอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงชั้นที่ 1 ตามเกณฑ์ Basel II คิดเป็นร้อยละ 12.70 และร้อยละ 11.53 ตามลำดับ สูงกว่าอัตราขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ที่ร้อยละ 8.50 และเงื่อนไขเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต้องมีอัตราส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.25 ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธ.ก.ส. ให้สัมภาษณ์สื่อว่า สถานกาณ์โควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเกษตรกร โดยทำให้ NPLs เพิ่มขึ้นเป็น 12% ของสินเชื่อคงค้าง แต่ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ซึ่งล่าสุด NPLS ลดลงมาอยู่ที่ 7.6% ของสินเชื่อคงค้าง
ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2566/67 นี้ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าหมายที่จะลด NPLs ให้มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5.5% โดยจะมีการออกมาตรการใหม่เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย
อ่านประกอบ :
ชำแหละ 11 ความเสี่ยงทางการคลัง ปี 65 หนี้นโยบายรัฐแตะ 1.03 ล้านล.-‘ธ.ก.ส.’NPLพุ่ง 12.45%
เปิดงบดุล ‘ธ.ก.ส.’ ปีบัญชี 64 ‘หนี้เสีย’ พุ่งแตะ 1.06 แสนล. เซ่นโควิด-รายได้เกษตรกรหด