เผยแพร่มติ ป.ป.ช. เสียงแตกตีตกข้อกล่าวหา 'อดีตพนง.กฟภ.ยะลา-พวก' ทุจริตจัดซื้อกระดาษ A4 คดีที่ 2 หลังก่อนหน้านี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาลงโทษ จำคุก 15 ปี 90 ด. ไปแล้ว แต่ได้รอลงอาญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายนิพัฒน์ จินดาวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ชำนาญการระดับ 8 กองเศรษฐกิจและสารสนเทศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 3 (ภาคใต้) จังหวัดยะลา และพวก กรณีจัดซื้อกระดาษต่อเนื่องและกระดาษเอ 4 กับห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ เอ็ม เอ็ม เซอร์วิส รวม 2 โครงการ ในปี 2552 โดยทุจริต
หลังจากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีนี้ ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า นายนิพัฒน์ จินดาวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้เชิดนายจรูญ ทองบริสุทธิ์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ เอ็ม เอ็ม เซอร์วิส
โดยนายนิพัฒน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ เอ็ม เอ็ม เซอร์วิส ที่แท้จริง
ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ เอ็ม เอ็ม เซอร์วิส ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต (3) ภาคใต้ จังหวัดยะลา รวม 2 โครงการ โดยทุจริต คือ
1.โครงการจัดซื้อกระดาษต่อเนื่อง ตามสัญญาเลขที่ ซ.ต.3/กม.-005/2552 ลงวันที่ 8 เมษายน 2552 วงเงิน 600,581 บาท
2.โครงการจัดซื้อกระดาษเอ 4 ตามสัญญาเลขที่ ซ.ต.3/กม.-006/2552 ลงวันที่ 8 เมษายน 2552 วงเงิน 784,485 บาท
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า คณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น พิจารณาแล้วมีมติว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น กรณียังไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานพอรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ดำเนินการจัดซื้อกระดาษต่อเนื่องและกระดาษเอ 4 ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว กับห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ เอ็ม เอ็ม เซอร์วิส โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือจัดซื้อโดยทุจริตแต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ลงคะแนนเสียงแยกเป็นสองฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายเสียงข้างมาก ประกอบด้วย กรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 4 เสียง เห็นชอบตามเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้ัองต้น ข้อเท็จจริงยังฟังไมได้ว่า นายนิพัฒน์ จินดาวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายพิทยา ดำรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายศักดิ์สงวน ปริวัตรพันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายชูฤทธิ์ พันธ์พฤกษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นางสุจิตรา นาคเสวี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และนายกำธร แสงอุไรประเสิรฐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ฝ่ายเสียงข้างน้อย ประกอบด้วย กรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 1 เสียง เห็นว่า การกระทำของนายนิพัฒน์ จินดาวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายพิทยา ดำรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายศักดิ์สงวน ปริวัตรพันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายชูฤทธิ์ พันธ์พฤกษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นางสุจิตรา นาคเสวี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และนายกำธร แสงอุไรประเสิรฐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 มีมูลความผิดทางอาญา ตามพรบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 มาตรา 11 และตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 12 รวมถึงมีมุลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง จึงเห็นควรให้ดำเนินการไต่สวนเพิ่มเติม โดยให้แจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดฐานดังกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบต่อไป
ประธานฯ จึงสรุปว่า ผลการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมากจำนวน 4 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า นายนิพัฒน์ จินดาวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายพิทยา ดำรักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นายศักดิ์สงวน ปริวัตรพันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายชูฤทธิ์ พันธ์พฤกษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นางสุจิตรา นาคเสวี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และนายกำธร แสงอุไรประเสิรฐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาในคดีกล่าวหา นายนิพัฒน์ จินดาวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ชำนาญการระดับ 8 กองเศรษฐกิจและสารสนเทศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 3 (ภาคใต้) จังหวัดยะลา กับพวก จัดซื้อกระดาษเอ 4, กระดาษเทอร์มอล, กระดาษต่อเนื่อง, กระดาษบัตรคิว และหมึกคอมพิวเตอร์กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ็น พีบีเซ็นเตอร์ ระหว่างปี 2551 – 2554 รวม 28 โครงการ โดยทุจริต ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 9 และมาตรา 11 และตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 192 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาว่า นายนิพัฒน์ จินดาวงศ์ จำเลย มีความผิดตามพ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 จำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน และปรับกระทงละ 25,000 บาท 15 กระทง รวมจำคุก 15 ปี 90 เดือน และปรับ 375,000 บาท
แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติจำเลย มีกำหนด 2 ปี
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ได้พิจารณาแล้วมีมติไม่เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ในส่วนที่รอการลงโทษ
ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานข่าวผลการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ว่าเป็นอย่างไร
- คดีใหญ่! อดีตพนง.กฟภ.ยะลา ทุจริตซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้สนง. คุก 15 ปี 90 ด. แต่ได้รอลงอาญา
- เปิดตัว'อดีตพนง.กฟภ.ยะลา' จำเลยคดีซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ สนง. รอลงอาญา คุก 15 ปี 90 ด.