อดีตปลัดแรงงานรอด คดีที่ 2! ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหานำเงินกองทุนช่วยเหลือคนหางานต่างประเทศไปใช้ตามแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ 5 โครงการ โดยมิชอบ หลังผลสอบสวนเบื้องต้นไม่ปรากฏพยานหลักฐานชี้ว่ากระทำความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กรณีมีหนังสือถึงกรมการจัดหางานให้นำเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศไปใช้ในโครงการตามแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์ จำนวน 5 โครงการ โดยมิชอบ หลังสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่านายอิระวัชร์ กระทำความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีนี้ ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า นายอิระวัชร์ มีหนังสือถึงกรมการจัดหางานเพื่อนำเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปใช้ในโครงการประชาสัมพันธ์ โครงการอุ่นใจเมื่อไกลบ้าน โดยจัดทำเป็นรายการทีวี สปอตโฆษณาทางวิทยุ เพื่อให้คนหางานในต่างประเทศลดความคิดถึงบ้าน
แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีคำวินิจฉัยว่า อธิบดีกรมการจัดหางานไม่สามารถสั่งให้มีการใช้เงินกองทุนเพื่อนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวได้ กรมการจัดหางานจึงมิได้นำเงินกองทุนมาใช้แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี คณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ว่านายอิระวัชร์ ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับ นายอิระวัชร์ ก่อนหน้านี้ เคยปรากฏเป็นข่าว ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ในคดีทุจริตการขายทอดตลาดรถยนต์ประจำตำแหน่งของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมีมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 83 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 10, 12 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา
นอกจากนายอิระวัชร์ แล้ว พวกอีก 8 ราย คือ 1. นายผจญ ปิ่นสุข อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผนและสำรวจ กรมประชาสงเคราะห์ ในฐานะประธานกรรมการหาข้อเท็จจริง และตรวจสภาพของรถยนต์เพื่อประเมินราคาขั้นต่ำ 2.นายอนุรักษ์ หรือชวภณช่วยแก้ว อดีตนักวิชาการแรงงาน ระดับ 7 ในฐานะกรรมการหาข้อเท็จจริงฯ 3.นายศุภฤทธิ์ กุสุโมทย์ อดีตนายช่างเครื่องกล ระดับ 6 กรมประชาสงเคราะห์ ในฐานะกรรมการหาข้อเท็จจริงฯ 4.นายสุวินัย วัตตธรรม อดีตผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ ในฐานะประธานกรรมการพิจารณากลั่นกรองขอจำหน่ายพัสดุ 5.นายบพิตร พันธุ์ปัทมา อดีตผู้อำนวยการกองกฎหมาย และข้อพิพาทแรงงาน ในฐานะกรรมการพิจารณาฯ 6.นายชาญบุล แกมนิล อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7. นางสุจิตรา ไกรฤทธิ์ อดีตนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล 7 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และ 8.นายศุภชัย เรืองแก้วมณี ก็ยังได้รับบทลงโทษจำคุก เป็นเวลาหลายปีด้วย
มีแค่เพียง นายศุภชัย เรืองแก้วมณี ที่ศาลฯ ตัดสินลงโทษมีกำหนด 3 ปี 4 เดือน และปรับ 80,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี เท่านั้น
แต่ยังไม่มีรายงานข่าวยืนยันว่าผลการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์เป็นอย่างไร