"...กล่าวสำหรับประวัติ นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (นักบริหาร 11) เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2543 เคยถูกสอบสวนวินัยร้ายแรงในคดีทุจริตค่าหัวคิวแรงงาน ส่งแรงงานไปต่างประเทศ 300 คน เมื่อปี 2545..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ อดีตปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในคดีทุจริตการขายทอดตลาดรถยนต์ประจำตำแหน่งของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมีมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 83 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 10, 12 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา
นอกจากนายอิระวัชร์ แล้ว พวกอีก 8 ราย คือ 1. นายผจญ ปิ่นสุข อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผนและสำรวจ กรมประชาสงเคราะห์ ในฐานะประธานกรรมการหาข้อเท็จจริง และตรวจสภาพของรถยนต์เพื่อประเมินราคาขั้นต่ำ 2.นายอนุรักษ์ หรือชวภณช่วยแก้ว อดีตนักวิชาการแรงงาน ระดับ 7 ในฐานะกรรมการหาข้อเท็จจริงฯ 3.นายศุภฤทธิ์ กุสุโมทย์ อดีตนายช่างเครื่องกล ระดับ 6 กรมประชาสงเคราะห์ ในฐานะกรรมการหาข้อเท็จจริงฯ 4.นายสุวินัย วัตตธรรม อดีตผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ ในฐานะประธานกรรมการพิจารณากลั่นกรองขอจำหน่ายพัสดุ 5.นายบพิตร พันธุ์ปัทมา อดีตผู้อำนวยการกองกฎหมาย และข้อพิพาทแรงงาน ในฐานะกรรมการพิจารณาฯ 6.นายชาญบุล แกมนิล อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7. นางสุจิตรา ไกรฤทธิ์ อดีตนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล 7 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และ 8.นายศุภชัย เรืองแก้วมณี
ก็ยังได้รับบทลงโทษจำคุก เป็นเวลาหลายปีด้วย มีแค่เพียง นายศุภชัย เรืองแก้วมณี ที่ศาลฯ ตัดสินลงโทษมีกำหนด 3 ปี 4 เดือน และปรับ 80,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี เท่านั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบฐานข้อมูลคดีของสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่า คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายอิระวัชร์ และพวก 8 ราย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เป็นทางการดังนี้
1. นายผจญ ปิ่นสุข นายอนุรักษ์ หรือชวภณ ช่วยแก้ว และ นายศุภฤทธิ์ กุสุโมทย์ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติ หน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหาย แก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราช- บัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม และ มาตรา 85 วรรคสอง - มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 83
2. นายสุวินัย วัตตธรรม นายบพิตร พันธุ์ปัทมา นายชาญบุล แกมนิล นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ และนางสุจิตรา ไกรฤทธิ์ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดย จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือ นโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหาย แก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม และ มาตรา 85 วรรคสอง และยังมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้ มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคา รายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญา กับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12
3. นายศุภชัย เรืองแก้วมณี มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน กระทำ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และ ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานของรัฐ กระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งรายงาน เอกสาร และ ความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560
กล่าวสำหรับประวัติ นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม (นักบริหาร 11) เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2543
เคยถูกสอบสวนวินัยร้ายแรงในคดีทุจริตค่าหัวคิวแรงงาน ส่งแรงงานไปต่างประเทศ 300 คน เมื่อปี 2545
ในช่วงปี 2561 เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เคยนำเสนอข้อมูล ว่า นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น ประธานที่ปรึกษาอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และยังมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารและจัดการใน อ.พ.ก. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วย โดยได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 18 สิงหาคม 2559 กำหนดครบวาระ 18 สิงหาคม 2562
ซึ่งในช่วงเวลาที่ นายอิระวัชร์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวง พม. ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเป็นกรมที่ตกเป็นประเด็นตรวจสอบทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหลายแห่งทั่วประเทศ
@ นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ
เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ยังระบุข้อมูลด้วยว่า นายพุฒิพัฒน์ ชื่อเดิม ‘ศิริพงษ์ โชคสถิตย์’ เคยเป็นหน้าห้อง นายอิระวัชร์ มาก่อน
"เมื่อครั้งพุฒิพัฒน์ไปเป็นทูตแรงงานที่ญี่ปุ่นราวปี 45 ถูกปลัดฯ ขณะนั้นเรียกตัวกลับด่วนเพราะลิสต์สิ่งของเครื่องใช้ที่ส่งจากญี่ปุ่นเข้าประเทศไทยโดยใช้เอกสิทธิ์ทางการทูต มีนาฬิกาแบรนด์เนมราคาสูงจำนวนหลายเรือนอยู่ด้วย ตอนนั้นอ้างว่าเป็นนาฬิกาที่ลูกชายของนายอิระวัชร์ฝากซื้อ นำไปสู่การสอบสวนว่ามีการใช้เอกสิทธิ์ทางการทูตช่วยฟอกเงินหรือไม่ ส่วนผลการสอบสวนทางวินัยเป็นอย่างไรไม่ทราบ"
(อ่านข้อมูลเต็มใน https://www.facebook.com/Watchdog.ACT/posts/1802345506464177/)
ส่วนนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวง พม. นั้น ได้เสียชีวิตไปแล้ว หลังถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อดำเนินการสอบสวนวินัยร้ายแรง กรณีทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งและผู้มีรายได้น้อย จากการกินยาฆ่าตัวตาย ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลทางคดี และข่าวฉาว ของ นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ ก่อนที่จะปรากฏข่าวถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก 6 ปี ในคดีทุจริตการขายทอดตลาดรถยนต์ประจำตำแหน่งของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับ คดีทุจริตการขายทอดตลาดรถยนต์ นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้