ดีเอสไอ ส่งสำนวนคดีพิเศษ นอมินีถือหุ้นแทนคนต่างด้าวประกอบธุรกิจในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ให้พนง.อัยการสำนักงานคดีพิเศษแล้ว เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 3 ราย เผยตัวเลขความเสียหายกว่า 300 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง มอบหมายให้ นายสมชาย ม้าหาญศึก เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางไปส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 115/2563 ให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 3 ราย ประกอบด้วย นิติบุคคลต่างด้าวซึ่งประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามและที่ต้องขออนุญาต คนต่างด้าวซึ่งเป็นกรรมการของนิติบุคคลในฐานะส่วนตัว และคนไทยซึ่งมีพฤติการณ์ให้ความช่วยเหลือโดยการถือหุ้นแทน คนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจได้โดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ในข้อหาความผิดฐาน “เป็นคนต่างด้าวประกอบธุรกิจต้องห้ามหรือต้องขออนุญาต เป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของนิติบุคคล และเป็นผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในนิติบุคคล เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจได้โดยโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 4 (3) (ก) มาตรา 8 (1) (2) มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 41”
ดีเอสไอ ระบุว่า คดีนี้เป็นการสอบสวนดำเนินคดีกับคนต่างด้าวและคนไทยที่ร่วมกันกระทำความผิดประกอบธุรกิจในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย โดยคนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาถือหุ้นแทนเพื่ออำพรางแหล่งที่มาของเงินทุนในการประกอบธุรกิจ ทำให้ผู้ต้องหาสามารถประกอบธุรกิจซื้อขายที่ดินและบริการให้เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจด้วยเหตุผลพิเศษ และเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
การดำเนินคดีดังกล่าวนี้เป็นการปกป้องผลประโยชน์ในการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายของรัฐที่มีมาตรการในการคุ้มครองการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นทุนในระบอบเศษฐกิจของประเทศ ซี่งสงวนไว้เพื่อให้อยู่ในส่วนที่เป็นสิทธิประโยชน์ทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจที่มีสัญชาติไทย โดยนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดี มีสินทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งอาจนับเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท