‘สำนักงบประมาณ’ รายงาน ครม. เผยในช่วง 6 เดือนแรกปีงบ 66 มีรายการลงทุนที่เข้าสู่กระบวนการ 'จัดซื้อจัดจ้าง' แล้ว 8.46 หมื่นรายการ วงเงินกว่า 5.51 แสนล้าน พร้อมแนะ 3 ประเด็น เร่งหน่วยรับงบประมาณใช้จ่าย
.................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ครม.รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงาน และผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (ไตรมาส 2) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 มี.ค.2566 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยพบว่าหน่วยรับงบประมาณมีการเบิกจ่ายแล้ว 1.69 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.12% ของงบรายจ่ายฯ 3.185 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.12%
ขณะที่ผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) มีจำนวน 1.88 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 59.28% ของงบรายจ่ายฯ และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.04%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลการเบิกจ่ายแยกเป็นรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน พบว่า งบรายจ่ายประจำ มีการเบิกจ่ายแล้ว 1.46 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 57.90 ของงบรายจ่ายประจำที่มีจำนวน 2.52 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.9% ขณะที่ผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) มีจำนวน 1.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 58.41% ของงบรายจ่ายประจำฯ และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.63%
ส่วนงบรายจ่ายลงทุน พบว่ามีการเบิกจ่ายแล้ว 2.32 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 35.01% ของงบรายจ่ายลงทุนที่มีจำนวน 6.65 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.99% ขณะที่การใช้จ่าย (ก่อหนี้) มีจำนวน 4.16 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 62.60% ของงบรายจ่ายลงทุนฯ และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4.45%
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสถานภาพการดำเนินงานรายจ่ายลงทุน ประจำปีงบ 2566 พบว่า เฉพาะรายการลงทุน ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่มีจำนวน 115,803 รายการ วงเงินทั้งสิ้น 6.65 แสนล้านบาท นั้น พบว่ามีรายการที่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 8.46 หมื่นรายการ วงเงิน 5.51 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 82.93% คงเหลือรายการที่ไม่ปรากฏสถานะในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) 3.11 หมื่นรายการ 1.13 แสนล้านบาท
สำนักงบประมาณรายงานปัญหาและอุปสรรคการใช้จ่ายงบประมาณเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
1.หน่วยรับงบประมาณบางหน่วยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายการผูกพันเดิม จะใช้จ่ายงบประมาณจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีในลำดับแรกก่อน และจะเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในลำดับถัดมา
สำหรับรายการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ หรือลงนามในสัญญาแล้ว แต่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผนนั้น พบว่า ผู้รับจ้างอยู่ระหว่างส่งมอบงานและบางส่วนผู้รับจ้างจะดำเนินการส่งมอบงานให้แล้วเสร็จจึงจะเบิกจ่ายในคราวเดียว จึงส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด
นอกจากนี้ สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้เกิดภัยพิบัติในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยรับงบประมาณล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ทำให้หน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต้องมีการปรับวิธีการทำงานและปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือบริบทของแต่ละพื้นที่
2.สำหรับรายจ่ายลงทุนที่หน่วยรับงบประมาณดำเนินการล่าช้า ยังไม่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่า บางหน่วยงานอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ จัดทำแบบรูปรายการ การกำหนดราคากลางและการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) หรือมีการประกาศประกวดราคาแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นเสนอราคา บางรายการมีผู้ยื่นเสนอราคาเพียงรายเดียว หรือมีผู้ยื่นเสนอราคาแต่ไม่ตรงตามคุณลักษณะที่กำหนด จึงต้องเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่
รวมถึงในช่วงต้นปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ราคาวัสดุ/ครุภัณฑ์ วัสดุก่อสร้างและค่าแรงปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการปรับคุณลักษณะ/แบบรูปรายการ หรือรอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณมาสมทบ ส่งผลให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
สำหรับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวโน้มในการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด เนื่องจากรายการงบลงทุนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างปรับปรุงและแก้ไขร่างขอบเขตของงาน (TOR) ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรจากหน่วยงานในภูมิภาคซึ่งมีความรู้เฉพาะทางในการพิจารณาแบบรูปรายกรหรือการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ จึงทำให้การดำเนินงานล่าข้ากว่าแผนที่กำหนดไว้
3.กรณีรายการผูกพันใหม่ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 32 รายการ วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1.22 หมื่นล้านบาท มีหน่วยรับงบประมาณรับผิดชอบ 14 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวงชนบท สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ลงนามในสัญญาแล้ว 7 รายการ อยู่ระหว่างอนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้าง 5 รายการ ทราบผลการประกวดราคาแล้ว 5 รายการ อยู่ระหว่างการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง 2 รายการ และยังไม่เข้าสู่กระบวนการ 13 รายการ เนื่องจากเป็นรายการที่มีวงเงินสูง มีคุณลักษณะเฉพาะ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณมีข้อเสนอแนะไปยัง ครม.ใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.เห็นสมควรมอบหมายหน่วยรับงบประมาณเร่งรัดการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและเป้าหมายของมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐที่กำหนดไว้ และควรให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของโครงการก่อนการจัดสรรงบประมาณจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับห้วงเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้การบริหารงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ หากการดำเนินการและการใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ให้เร่งรัดคู่สัญญาพิจารณาดำเนินการให้เป็นตามเแผนที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์และก่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
2.หน่วยงานในพื้นที่เกิดข้อปัญหาในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นผลให้การคำเนินการก่อหนี้ผูกพันไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จึงเห็นสมควรที่กระทรวงการคลังจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่หน่วยรับงบประมาณที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างต่อเนื่องและชัดเจน
โดยส่งเสริมให้ส่วนราชการในพื้นที่ดำเนินการร่วมกันแบบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดควบคู่ไปกันภารกิจของส่วนราชการ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์และลดความซ้ำช้อนของภารกิจงาน อันจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อไป
3.เห็นสมควรให้หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดการดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนรายการปีเดียวและรายการผูกพันใหม่ให้แล้วเสร็จ โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหรือควบคุมกิจการของหน่วยรับงบประมาณ หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายกำกับดูแล เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้มีเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ และช่วยสนับสนุนการชยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ต่อไป
อ่านประกอบ :
ต่ำเป้า 1%! ครม.รับทราบเบิกจ่าย 3 เดือน งบปี 66-สั่งก่อหนี้'รายการลงทุนปีเดียว'ใน มี.ค.