‘ครม.’ รับทราบผลเบิกจ่ายงบในช่วง 3 เดือนแรก ปีงบ 66 พบเบิกจ่ายต่ำเป้า 1% ขณะที่ ‘สำนักงบฯ' เร่งทุกส่วนราชการก่อหนี้ผูกพันฯ 'งบลงทุนรายการปีเดียว' ทุกรายการ ให้เสร็จภายในไตรมาส 2
..........................................
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (ไตรมาสที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.2565 โดยมีการเบิกจ่ายแล้ว 9.86 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 30.97% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 3.185 ล้านล้านบาท
แบ่งเป็น รายจ่ายประจำมีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 8.73 แสนล้านบาท คิดเป็น 34.65% ของงบรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน มีผลการเบิกจ่ายแล้ว 1.23 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 18.57% ของงบรายจ่ายลงทุน
“การเบิกจ่ายงบปี 2566 ในช่วงไตรมาส 1 (1 ต.ค.-31 ธ.ค.2565) ยังต่ำกว่าเป้าหมายเบิกจ่ายงบประมาณที่ 1.03% แต่สูงกว่าเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณที่ 1.98% อย่างไรก็ดี ในภาพรวมหน่วยรับงบประมาณมีการก่อหนี้ผูกพันเป็นไปตามเป้าหมาย และจะเริ่มทยอยเบิกจ่ายตามงวดงานที่ได้ส่งมอบแล้วตามขั้นตอน จึงคาดว่าการเบิกจ่ายน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย” นายอนุชา กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณมีข้อสังเกตที่ค้นพบจากการปฏิบัติงาน และการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาส 1 ของปีงบ 2566 พบว่า บางหน่วยงานไม่สามารถเบิกจ่ายงบได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากยังมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้มีการปรับรูปแบบและระยะเวลาการดำเนินโครงการ เช่น โครงการฝึกอบรมสัมมนา เป็นต้น และในปีงบ 2565 บางหน่วยงานได้การกันงบเหลื่อมปีเอาไว้ในบางโครงการ จึงต้องดำเนินการเบิกจ่ายงบดังกล่าวเป็นลำดับแรกก่อน
ส่วนการเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุนนั้น พบว่าส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง บางหน่วยงานอยู่ระหว่างออกแบบและจัดทำโครงการ การกำหนดราคากลาง และการจัดทำขอบเขตงาน (TOR) ซึ่งบางรายการมีการประกาศประกวดราคาไปแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นราคาหรือมีผู้ยื่นเพียงรายเดียว หรือมีผู้ยื่น แต่ไม่ตรงตามคุณลักษณะที่กำหนด จึงต้องจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ส่งผลให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้
นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้เสนอแนะให้หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและเป้าหมายของมาตรการฯ ที่กำหนดไว้ รวมทั้งการเร่งรัดดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนรายการปีเดียว ให้สามารถก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จสิ้นทุกรายการภายในไตรมาสที่ 2 (31 มี.ค.2566) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19
สำหรับผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเป็น 6 ยุทธศาสตร์และ 1 รายการ ประกอบด้วย
1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 292,593.67 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 58,774.78 ล้านบาท คิดเป็น 20.09% มีผลการใช้จ่าย(ก่อหนี้) จำนวน 74,302.59 ล้านบาท คิดเป็น 25.39% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 11.91% และ 8.69% ตามลำดับ
2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 397,239.25 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 146,022.12 ล้านบาท คิดเป็น 36.76% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) 239,930.98 ล้านบาท คิดเป็น 60.40% สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 4.76% และ 26.32% ตามลำดับ
3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 544,455.50 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว 149,288.66 ล้านบาท คิดเป็น 27.42% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) 162,767.74 ล้านบาท คิดเป็น 29.90% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 4.58% และ 4.18% ตามลำดับ
4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 767,403.04 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว 265,129 ล้านบาท คิดเป็น 34.55% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) 271,754.31 ล้านบาท คิดเป็น 35.41% สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 2.55% และ 1.33% ตามลำดับ
5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 122,605.95 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว 22,606 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.44 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 41,590.45 ล้านบาท คิดเป็น 33.92% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 13.56% และ 0.16% ตามลำดับ
6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 658,184.61 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว 173,225.98 ล้านบาท คิดเป็น 26.32% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) 180,291.6609 ล้านบาท คิดเป็น 27.39% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 5.68% และ 6.69% ตามลำดับ
และ 1 รายการ คือ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ งบประมาณ จำนวน 402,517.96 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 171,452.20 ล้านบาท คิดเป็น 42.59% มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) 171,526.68 ล้านบาท คิดเป็น 42.61% สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ 10.59% และ 8.53% ตามลำดับ
“นายกฯ กำชับให้มีการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด รวมถึงการวางระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนให้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณด้วย” นายอนุชา กล่าว